ปิดสวิตซ์ ส.ว. ถึงเวลาไล่ล่า "ประยุทธ์"  ปฏิบัติการลูบคม "ผบ.ทบ."

ปิดสวิตซ์ ส.ว. ถึงเวลาไล่ล่า "ประยุทธ์"  ปฏิบัติการลูบคม "ผบ.ทบ."

8 ปีการบริหารงาน "พล.อ.ประยุทธ์" ชูจุดแข็งเรื่องความมั่นคง บังคับใช้กฎหมายทุกรูปแบบ กำหราบนักการเมืองที่เป็นปรปักษ์ สะกดม็อบไม่ให้ลุกฮือ แต่ก็ยังปรากฎความเคลื่อนไหวสัญลักษณ์การต่อต้าน และรอจังหวะตอบโต้เอาคืนเมื่อมีโอกาส

เวลานี้คงเชื่อยาก หากจะบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี อีกสมัย หลังประกาศตัวสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะแคนดิแดตนายกฯ เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหน เจอแต่คำสบประมาท ประชาชนเบื่อ ได้เก้าอี้ ส.ส. 40 ที่นั่งก็หรูแล้ว หรือได้ ส.ส.ไม่เกิน 25 ที่นั่ง

โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เรียกว่า สามวันดีสี่วันไข้ เพราะฟากคนใกล้ชิด ซีกนักการเมืองต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แตกกัน ไม่เอากันแล้ว แต่หากเป็นซีกทหาร จะบอกว่ารักกันดี เรื่องนี้ก็ต้องชั่งน้ำหนักกันเอาเอง

ตอกย้ำด้วย “นิด้าโพล” สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อแคนดิเดตนายกฯ พรรคการเมืองรอบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะออกมากี่รอบ ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ก็หล่นไปอยู่อันดับ 4 ทั้งภาคอีสาน-เหนือ-ตะวันออก-กลาง เพิ่งกระเตื้องขึ้นมาอันดับ 2 หลังประกาศสมัครสมัครชิก รทสช.

ก็เป็นประเด็นที่ต้องติดตามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะกลับมาเป็น “นายกฯ” ด้วยวิธีการใด งัดกลยุทธ์แบบไหนมาสู้ศึกเลือกตั้ง ที่เปลี่ยนกติกาใหม่เป็นบัตร 2 ใบ กับเวลาที่เหลืออยู่ 2 ปี 

หรือหากกฎกติกาเปลี่ยนอีก เผลอๆ มีโอกาสอยู่ครบ 4 ปี ก็เป็นไปได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกมต่อรองทางการเมืองในปีนี้ เข้มข้นไม่น้อย

แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องฝ่าด่านการยื่นญัตติอภิปรายแบบไม่ลงมติของฝ่ายค้าน ที่ปักหมุดหลังเทศกาลปีใหม่ แม้ตามหลักแล้วจะเป็นการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลตามระบบปกติ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการตัดแต้มคู่แข่งทางการเมืองของฝ่ายค้าน ที่หวังผลการเลือกตั้งในปีนี้ ก่อนรัฐบาลครบเทอม 4 ปี

“สุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ระบุถึงว่า การอภิปรายครั้งนี้ มุ่งประเด็นไปที่ แคนดิเดตนายกฯ พรรคร่วมรัฐบาลทุกคน เพราะความล้มเหลวที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล

“ต้องโดนทุกคน หากบอกว่า ประชาชนเบื่อ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ยอมออกสักที ต้องโทษพรรคร่วมด้วยที่เป็นนั่งร้านให้ เชื่อว่าจะมีผลต่อการเลือกตั้งแน่นอน” ประธานวิปฝ่ายค้านระบุ

ทว่า อีกด้านหนึ่งอาจมองได้ว่า นี่คือความประมาทที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ที่ประเมินศักยภาพคู่แข่งอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ต่ำเกินไป เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร แม้ภาพลักษณะที่ปรากฎจะดูเหมือนไม่ไหว แต่สภาพความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น

“พล.อ.ประยุทธ์ มีไม้เด็ด ในเมื่อประกาศจะเดินหน้าบนเส้นทางการเมืองอีก 2 ปี ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ รทสช. คงไม่ปล่อยให้ฝ่ายค้านตีหัวแล้วเข้าบ้าน นายกฯจะตอบโต้หนัก และจะมีการหลุดข้อมูลบางอย่างออกมาตอบโต้ เพราะคนเป็นนายกฯ จะถือข้อมูลที่เป็นไม้เด็ดบางอย่าง เป็นแต้มต่อไว้แน่นอน” คนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ การันตี

หลังจากนั้นสถานการณ์การเมืองก็จะเข้าโหมดเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง การสร้างบรรยากาศให้เอื้ออำนวย ถือเป็นปัจจัยที่หน่วยงานความมั่นคง ต้องเตรียมแผนรับมือ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการแข่งขันทางการเมืองสูง อาจต้องจัดชุดเฝ้าระวังไม่ต่างกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน เหตุแทรกซ้อน การสร้างสถานการณ์ หวังดิสเครดิตคู่แข่งทางการเมือง รวมถึงการก่อเหตุใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อาจสัมพันธ์กับการเลือกตั้งใหญ่ ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล 

สำหรับการชุมนุมถือเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับการเมืองอยู่แล้ว แม้ปัจจุบันยังไม่พบปัจจัยอะไรที่จะกลายเป็นเงื่อนไขการก่อม็อบ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ยอมรับว่า เพิ่งเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ หลังผู้สื่อข่าวสงสัย และเดินเข้าไปสอบถาม เพราะโทรไม่ติด ไลน์ไม่อ่าน จนได้คำตอบว่า “ถูกแฮกโทรศัพท์” แต่ไม่ตอบคำถามว่า ผู้กระทำเป็นใคร

เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลัง พล.อ.ณรงค์พันธ์ รับรู้ถึงความผิดปกติบางอย่าง จึงส่งมือถือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ และได้รับการยืนยันว่าโทรศัพท์ถูกแฮกจริง เป็นการดำเนินการจากต่างประเทศ และเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองขั้วตรงข้าม

จะเห็นได้ว่าตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ชูจุดแข็งในเรื่องความมั่นคง แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายทุกรูปแบบ กำหราบนักการเมืองที่เป็นปรปักษ์ สะกดม็อบไม่ให้ลุกฮือ แต่ก็ยังปรากฎความเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้าน และรอจังหวะตอบโต้เอาคืนเมื่อมีโอกาส

หากถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ จนถึงเมื่อไหร่ คำตอบที่ได้รับ ก็จนกว่าจะครบวาระการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ว. ที่จะมีสิทธิ์โหวตเลือก นายกฯ ได้อีก 1 ครั้ง ในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปีนี้ ตามระบบกลไกที่ คสช.ได้วางเอาไว้คือ นายกฯ 2 สมัยจากการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงจุดที่ แกนนำ คสช.แยกทางกันเดิน พล.อ.ประยุทธ์ คือแคนดิเดตนายกฯของ รทสช.ขณะที่พี่ใหญ่ พล.อ.ประวิตร จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของ พปชร. และหากทั้งคู่ผ่านกติกาเข้าไปถึงรอบโหวตเลือกนายกฯ ได้  ก็ต้องมีใครคนใดคนหนึ่งต้องเสียสละ หรือใครต้องการเอาชนะ เพื่อให้ได้การสนับสนุนจาก ส.ว.

ฉะนั้น จึงมีโอกาสที่ ส.ว.จะแบ่งกันเป็นสองขั้ว หากพี่น้อง 2 ป.ตกลงกันไม่ได้ ซึ่งจุดนี้อาจจะเข้าทางฝ่ายตรงกันข้ามที่ต้องการให้เกิดสถานการณ์นี้ 

โดยเฉพาะกระแสข่าว ดีลระหว่าง พปชร.กับเพื่อไทย ที่แรงขึ้นทุกที สำทับด้วยท่าทีของผู้มีบารมีเหนือพรรคภูมิใจไทย ที่ฟันธงถึงการเมืองไทย จับมือกันได้ทุกพรรค ยิ่งมีนัย

มองข้ามชอตการเมือง ก็ยังมีข้อสังเกตว่า เมื่อถึงเวลาที่ 250 ส.ว.ครบวาระการปฏิบัติหน้าที่ ในขณะที่การเมืองขั้วตรงข้าม โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล กลับได้รับความนิยมจากประชาชนต่อเนื่อง เข้ามาเติมจำนวนที่นั่งในสภาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การขับเคลื่อนเกมการเมืองในสภาฯ ก็ย่อมทำได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ ทำเอาไว้ในอดีตก็อาจถึงเวลาที่จะถูกเอาคืน หากตั้งรับไม่ดี ปัญหาความขัดแย้งก็จะวนกลับมาในสังคมไทยอีกครั้ง ไม่ต่างกับที่ผ่านมา