“ปิยบุตร” ชำแหละ “ก้าวไกล” ปี 66 ลดเพดาน “อุดมคติ” รบ “อนุรักษ์นิยม”

“ปิยบุตร” ชำแหละ “ก้าวไกล” ปี 66 ลดเพดาน “อุดมคติ” รบ “อนุรักษ์นิยม”

"...สำหรับผมไม่ใช่การลดเพดาน หรือเปลี่ยนจุดยืน แต่เป็นการผสานกันระหว่างอุดมคติ กับความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เราสามารถแสดงจุดยืนอุดมคติได้ แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในอำนาจต้องหาทางผลักดันให้ได้..."

อุณหภูมิทางการเมืองไทยรอบปี 2565 คาดว่าจะร้อนแรงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงการเลือกตั้งในปี 2566

พลันที่ “บิ๊กตู่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศแยกทาง “บิ๊กป้อมพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไปสร้างดาวดวงใหม่ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ทำเอาขุนพลคู่กายแต่ละฝ่ายขยับจัดทัพปรับศึกกันใหม่

โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล หน้าใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการเลือกตั้งปี 2562 แต่ด้วยภาพลักษณ์ที่ “ดุดันไม่เกรงใจใคร” ทำให้ยากที่จะหา “มิตร” ในการล่มหัวจมท้าย ไม่ว่าจะเป็นขั้วฝ่ายค้านปัจจุบันหรือการหาพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า 

แม้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” และบรรดาแกนนำ “ค่ายสีส้ม” พยายามปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้ “นุ่มนวล” ขึ้น ลดความเกรี้ยวกราดลง พร้อมกับหยอดคำหวาน ทอดไมตรีไปยัง “ค่ายสีแดง” ก็ตาม แต่ยังถูก “หมางเมิน” จาก “คนแดนไกล” อยู่ดี

แกนนำ “พรรคส้ม” หลายคนวิเคราะห์ตรงกันว่า ปัจจัยสำคัญที่ “พรรคก้าวไกล” ต้องทำให้ได้ หากยังฝันจัดตั้งรัฐบาลคือ ต้องกวาดเก้าอี้ ส.ส.จำนวนมาก อย่างน้อยที่สุดคือต้องเป็นพรรคไม่ต่ำกว่าลำดับที่ 3 ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เทียบเคียงกับเมื่อปี 2562 ก็ได้เป็นพรรคลำดับ 3 เช่นกัน

เช่นเดียวกับ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่เพิ่งประกาศยุติบทบาททางการเมืองกับพรรคก้าวไกล ยังมองเหมือนกันว่า หากพรรคก้าวไกลต้องการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงรูปแบบต่าง ๆ จะต้องได้ ส.ส.แบบถล่มทลายไม่ต่างจากปี 2562 

ท่ามกลางกระแสสะพัดว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ปิยบุตร” ต้องโบกมือลา “ก้าวไกล” ไป เพราะปัญหาในการจัดสรรตัว ส.ส.เขต-ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ลงตัว รวมถึงความขัดแย้งทางความคิดกับ “แกนนำพรรค” บางคน แม้ว่า “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เพื่อนรักจะพยายามเป็นกาวใจ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ขอ “บินเดี่ยว” กลับไปทำงานวิชาการตามเดิมดีกว่า

“ปิยบุตร” ในมาดสบาย ๆ เปิดห้องประชุมที่ “คณะก้าวหน้า” ซึ่งตั้งอยู่ชั้น 3 ตึกเดียวกับ “พรรคก้าวไกล” ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนวงเล็ก ๆ วิเคราะห์ฉากทัศน์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า เชื่อลึกๆ ว่าซีกฝ่ายค้านปัจจุบัน 2 พรรคใหญ่ฝ่ายค้าน คือเพื่อไทย และก้าวไกล น่าจะได้คะแนนถึงร้อยละ 60 แต่ระบบเลือกตั้งมันเปลี่ยน ไม่ได้คิดคะแนนทั้งประเทศเหมือนครั้งที่ผ่านมา ถ้าคิดเหมือนครั้งที่แล้ว 2 พรรครวมกันก็น่าจะได้ 300 กว่าเสียง เชื่อว่าถ้ารวมกันได้ขนาดนี้ ส.ว.ไม่กล้าเดินแล้ว 

แต่ปัญหาคือพอเป็นระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2540 แม้จะร้อยละ 60 แต่ที่นั่งอาจจะลดก็ได้  ยกตัวอย่างพรรคก้าวไกลครั้งที่แล้วได้คะแนนทั้งประเทศ 6.3 ล้าน แต่ครั้งนี้อาจจะทะยานถึง 10 ล้าน แต่คำนวณ ส.ส.แล้วปาร์ตี้ลิสต์ลดลง ส่วน ส.ส.เขตอาจได้ที่สองหมดเลย หรืออาจจะได้ ส.ส.ในกทม. หรือเมืองใหญ่ ที่เหลือไปเกาะที่ 2-3 ซึ่ง ระบบเลือกตั้งบอกว่าให้เอาไปทิ้งน้ำหมดเลย ดังนั้นจึงรู้สึกเสียดายว่าไปแก้กติกาเลือกตั้ง ถ้าใช้กติกา 2562 แบบเดิม ร้อยละ 60 ตนว่าอย่างไรมาแน่  ถ้าใช้ 2562 พรรคเพื่อไทยอาจจะไม่ได้ ส.ส. ถึง 250 ไม่มีทางถึงแน่นอน  แต่ถ้ารวมกับก้าวไกล 2 พรรคนี้จะไปด้วยกันแน่ เพราะผลโพลไหนก็ระบุไว้แบบนี้ 

แต่พอมาเปลี่ยนเป็นระบบเลือกตั้งใหม่ เชื่อว่าเพื่อไทย ส.ส. เพิ่มขึ้นแน่ 200 บวก แต่จะถึง 250 หรือไม่ต้องไปว่ากัน ส่วนก้าวไกลคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตจะเพิ่มขึ้น แต่พอมาคำนวณเป็นที่นั่ง ส.ส. จะลดลง ซึ่งพรรคก้าวไกลจะได้รับความเสียหายมากที่สุดในระบบการเลือกตั้งแบบนี้ แต่ก็มีความท้าทายว่าเขาจะต้องทำคะแนนป๊อบปูลาร์โหวตให้มากกว่าเดิม และสร้าง ส.ส.เขตให้มากขึ้น และใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองต่อไป เมื่อเป็นแบบนี้ก็จะทำให้ยังดูไม่ออกว่า 2 พรรคนี้จะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ แม้ว่าคะแนนรวมจะเยอะมาก เพราะในท้ายที่สุด 2 พรรคอาจจะไม่พอ แต่ต้องการพรรคขนาดกลางอีกพรรคหนึ่ง เช่น พรรคที่มีเสียง 50-60 เสียงขึ้นไป ซึ่งจะเกิดปัญหาขึ้น 

“หรืออีกแนวทางหนึ่งก็คือเพื่อไทยก็ไปรวมกับพรรคอื่นให้หมดเลยแล้วทิ้งก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะออกมาเป็นแบบไหน ไม่กล้าฟันธง เพราะต้องไปดูผลเลือกตั้ง ถ้าพรรคก้าวไกลได้ 30 เสียง ก็ไม่ต้องฝันเลยว่าจะไปร่วมรัฐบาลให้เตรียมเป็นฝ่ายค้านได้เลย  แต่จะโดนกาชื่อออกเป็นพรรคแรก ถ้าได้ 50 บวก ก็ยังมีลุ้นและเจรจาได้ แต่ถ้าขึ้นถึง 70-80 เสียง พรรคที่ได้อันดับหนึ่งปฏิเสธไม่ได้แล้ว” ปิยบุตร กล่าว

เมื่อถามว่าถ้าเพื่อไทยและก้าวไกลมีคะแนนเสียงปริ่มน้ำ มีความเป็นไปได้ในการดึงภูมิใจไทยมาร่วมได้หรือไม่ ปิยบุตร กล่าวว่า ปัญหาคือเหมือนที่มีกระแสข่าวออกมาคือพรรคก้าวไกลถูกมองจากพรรคการเมืองอื่น ๆ สื่อมวลชน และสังคมว่าเป็นพรรคที่แรง เป็นแกะดำ เห็นเกจิอาจารย์ กูรูการเมืองวิเคราะห์ว่าพรรคที่ถูกกาออกในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคแรกคือก้าวไกล 

ในส่วนของพรรคก้าวไกลเอง บทพิสูจน์ที่เขาจะไม่ถูกคัดออกก่อนเพื่อนคือ คุณต้องได้ ส.ส. มาก ถ้าประชาชนสนับสนุนมาก เชื่อว่าจะไม่ถูกเขี่ยออก ซึ่งเรื่องนี้สำคัญกว่าวาระที่คุณจะเสนอ ถ้าพรรคก้าวไกลมีป็อปปูลาร์โหวต 8-10 ล้านคะแนน มี ส.ส. 70-80 คน ใครก็ปฏิเสธได้ยาก ต้องหาเหตุผลมาอธิบายในการปฏิเสธ ดังนั้นตัวเลขนี้จึงสำคัญมากสำหรับพรรคก้าวไกล แต่ถ้าได้คะแนน 30-50 เสียง โอกาสมีสูงที่จะเด้ง อยู่ที่พรรคอันดับหนึ่งเชื่อว่าเป็นพรรคเพื่อไทยแน่นอน และอยู่ที่พรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจ เพราะเมื่อเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลก็ต้องพิจารณาว่าจะให้ใครมาร่วมและคิดอะไรต่อ 

ถ้าผมเป็นพรรคเพื่อไทย ผมจะเอาพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล ถ้าให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านต่อพรรคเพื่อไทย ขบวนใหญ่ที่ซัดกับระบอบรัฐประหาร คสช.มานั้นจะเสียหายเยอะมาก เพราะถ้าก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน เพื่อไทยเป็นรัฐบาล ก้าวไกลมันก็ต้องค้าน มันไม่ค้านก็ไม่ได้ ถ้าไม่ค้านก็จะเป็นมวยล้มต้มคนดูก็โดนด่าและงวดหน้าคะแนนน้อยกว่าเดิมอีก สภาพการณ์จะเกิดอะไรขึ้น ขนาดวันนี้อยู่ด้วยกันเป็นฝ่ายค้าน ผู้สนับสนุนของทั้ง 2 พรรคยังทะเลาะกันหนักมาก ถ้าอยู่กันคนละซีกผมคิดว่ายิ่งจะหนักมาก แล้วภาพขบวนในการสู้กับระบอบ คสช.และรัฐประหารมันจะเสียหายมาก” ปิยบุตร กล่าว

นอกจากนี้ ถ้าคุณต้องการควบคุมการเจริญเติบโตของพรรคก้าวไกล คุณต้องเอามาไว้ใกล้ๆ ตัว  เอามาไว้ข้างๆ  แต่ถ้าคุณเอาออกไปวิ่งอยู่ข้างนอก เขามีเวลาของเขา เดี๋ยวเขาก็รอปี 2570  2574 หรือ 2578 แล้วเขาก็จะโตขึ้นไปอีก เพราะเชื่อว่ากลไกของรัฐธรรมนูญ และสภาพการเมืองซึ่งยังมีการเมืองแบบเก่า การเมืองในเชิงพื้นที่ผสมผสานกันอยู่มาก แม้รัฐบาลจะทำผลงานแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดี แต่ในท้ายที่สุดมันก็จะต้องมีปัญหาอยู่แล้ว เรื่องการบริหารแผ่นดินผิดพลาดบกพร่อง มีทุจริตคอร์รัปชัน มีเงินทอนหรือไม่ มันจะมาเยอะเพราะเป็นธรรมชาติของการเมืองสไตล์ดั้งเดิมที่จะต้องหาทรัพยากรมาเพื่อการเลือกตั้งครั้งถัดไป ส่วนก้าวไกลเพียงแต่รอโต รอว่าเมื่อไรประชาชนเห็นพ้องต้องกันว่า

สำหรับพรรคการเมืองแบบ Traditional Party (พรรคแบบดั้งเดิม) ในประเทศไทย ไม่ว่าเป็นฝ่ายไหนก็ตาม ในท้ายที่สุดถ้ามองระยะยาว 10-20 ปีข้างหน้า ยังไงการเมืองไทยก็เปลี่ยนอยู่แล้ว ช้าหน่อยก็ตาม เป็นไปไม่ได้จะอยู่แบบนี้ตลอดเวลา ถ้าปล่อยให้ก้าวไกลไปสุกสกาวคนเดียว แม้ไม่มีอำนาจรัฐ พูดง่าย ๆ จะเรียกว่ากลายเป็นพรรคดั้งเดิมทั้งหมดในการเมืองไทย รวมหัวกันกำจัดก้าวไกล แต่หารู้ไม่นั่นจะทำให้เขาโตกว่าเดิม” ปิยบุตร กล่าว

ส่วนข้อเสนอแนะถึง “พรรคก้าวไกล” ในปัจจุบันและอนาคต “ปิยบุตร” บอกว่า การเมืองไม่ใช่แค่ลงคะแนน หรือยกมือในสภา เป็นเรื่องกระบวนการ ความเคลื่อนไหวทางสังคม ทางความคิดของคนข้างนอกด้วย ปัญหาที่ก้าวไกลเจอตอนนี้ เขามีความคิดอยากทำแบบใหม่ แต่โครงสร้างอำนาจวัฒนธรรมการเมืองเป็นแบบเดิมอยู่ นี่คือความยาก คุณกำลังเอาของใหม่ วิธีคิดแบบใหม่ทั้งหมด แต่ต้องมาอยู่ในความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบเก่า นี่คือเรื่องยาก

ยากเพราะการสร้างจุดสมดุลตัวเองไม่ดี พฤติกรรมก็กลายเป็นแบบพวกเขา (พรรคดั้งเดิม Traditional Party) แต่หากคุณใหม่ ด่าคนนั้นคนนี้ คุณก็จะทำงานกับใครไม่ได้เลยอีก ความยากคือช่วงรอยต่อแบบนี้ที่จะทำอย่างไร การพูดว่าปักธงทางความคิด อย่างที่ผมวิจารณ์เรื่อง ม. 112 ผมนี่ฝ่ายยกเลิก เพราะเห็นว่าความผิดตาม ม.112 ควรใช้กฎหมายหมิ่นประมาทแบบคนทั่วไป แต่ในเมื่อพรรคเดินแบบนั้น ปัญหาที่วิจารณ์คือ ทำไมผ่านมาเป็นปี ณ วันนี้เราต้องรู้แล้วว่า ไม่ว่าเสนอแบบไหน ประธานสภาฯไม่ยอมเอาเข้า คุณเสนออะไรไป มันเข้าไม่ได้เลย แม้แต่สิ่งที่รณรงค์ในนโยบายก้าวไกล คุณเสนอไป ถ้าประธานสภาฯ ไม่ใช่เป็นของคุณ เขาคงวินิจฉัยแบบตอนนี้อีก

ในเมื่อทุกอย่างประตูมันปิด คุณยืนยันว่าต้องแก้ สังคมมีส่วนเรียกร้องว่าต้องแก้ แม้แต่รอยัลลิสต์บางฝ่ายยังเห็นว่าควรปรับปรุงบางส่วน ถ้างั้นตัดประเด็นอุปสรรคเข้าสภาฯออกไป แก้ให้เบาว่านี้อีกนิด อาจไม่ตรงจุดยืนคุณ แต่คุณอธิบายประชาชนได้ นี่คือการผสมให้สมดุล ในเมื่อคุณยังไม่มีอำนาจเต็ม โครงสร้างการเมืองเป็นแบบเดิม อีกด้านก็ต้องการผลักดันให้สำเร็จ นิดหน่อยก็ยังดี ดีกว่าปล่อยให้เป็นแบบนี้ 

สำหรับผมไม่ใช่การลดเพดาน หรือเปลี่ยนจุดยืน แต่เป็นการผสานกันระหว่างอุดมคติ กับความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เราสามารถแสดงจุดยืนอุดมคติได้ แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในอำนาจต้องหาทางผลักดันให้ได้ ทำอย่างไรให้ตื่นเช้ามา ส่องกระจกฉันยังเป็นคนเดิม แต่สามารถทำงานกับคนอื่นได้ด้วย” ปิยบุตร กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า หมายความว่าปัจจุบันพรรคก้าวไกลต้องรีแบรนด์มาเป็นพรรคซ้ายกลาง เพราะถูกโดดเดี่ยว หากไม่ปรับอะไรเลย จะไม่ได้เข้าไปผลักดันเรื่องต่าง ๆ ในสภาหรือไม่ “ปิยบุตร” อธิบายว่า เมื่อต้องลงเลือกตั้งไม่อยากใช้คำว่ารีแบรนด์ซ้ายกลาง ซ้ายสุด เพราะการลงเลือกตั้ง ต้องการโหวตเตอร์ทุกส่วน การก่อตั้งพรรคก้าวไกลไม่ได้มาเพื่อทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งเรื่องเดียว ไม่ได้ตั้งมาเป็นพรรคเชิงประเด็นเดียว แต่ทำทุกเรื่อง ดังนั้นการออกแบบนโยบายไม่สามารถทำให้กลุ่มนี้ได้ทั้งหมด และทำกลุ่มนั้นไม่ได้ การออกแบบนโยบายจึงต้องหาจุดสมดุลภายใต้อัตลักษณ์ที่ยังไม่เสีย ในส่วนการรีแบรนด์ต่างๆ ไม่เชื่อว่าทำหรือไม่ทำแล้วจะกลายเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่

“ผมทดลองมาแล้วในสมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ สุดท้ายเหมือนเดิม ต่อให้พรรคก้าวไกลทำตัวเป็นพรรคสงบเสงี่ยมเรียบร้อย นั่งพับเพียบทำอะไรเหมือนที่ทุกพรรคทำกันตอนนี้ คุณว่าคนที่คุมอำนาจอยู่จะเชื่อหรือไม่ ผมว่าเขาไม่เชื่อ คนที่ไม่เลือกพรรคก้าวไกลเขาก็ไม่เลือกอยู่แล้ว ถ้าคุณกังวลเรื่องนี้ ในท้ายที่สุดจะกลายเป็นพรรคอะไรก็ไม่รู้” ปิยบุตร กล่าว

ท้ายที่สุด “ปิยบุตร” ยังยืนยันเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ประเทศนี้ต้องมีสถาบันกษัตริย์ พรรคก้าวไกล ก็พูดว่าเป็นไปไม่ได้ที่อยู่ดี ๆ จะทำได้หมดทุกเรื่อง เช่น การแก้ไข ม.112 และการช่วยเหลือเยาวชนที่ถูกจับ ถ้าจุดยืนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ในท้ายที่สุดคุณจะไม่ได้อะไรเลย เลยไม่เชื่อว่าเขาจะรีแบรนด์เพื่อทำให้ตัวเองได้ไปร่วมรัฐบาล เท่าที่ผมดูก็คิดว่าเขายังคิดแบบเดิมและไม่ได้ถอนนโยบายที่เสนอมา จุดชี้ขาดว่าพรรคก้าวไกลจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่คุณไปนั่งพับเพียบ แต่จุดชี้ขาดคือ คุณมีคะแนนเท่าไหร่

ทั้งหมดคือทัศนะของ “ปิยบุตร” หนึ่งในขุนพลทางความคิดของ “ค่ายสีส้ม” ที่ปัจจุบันแยกทาง-ลดบทบาททางการเมืองลงไป แต่ยังคงมุ่งมั่นทำงานทางวิชาการ เพื่อ “ปักธงความคิด” ขยายฐานมวลชน เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่ง “ฟ้าจะเปลี่ยนสี” ประเทศเข้ารูปเข้ารอยความเป็นประชาธิปไตยให้ได้เสียที