Foresight: การรับมืออนาคตในเชิงรุกของรัฐบาล | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล

Foresight: การรับมืออนาคตในเชิงรุกของรัฐบาล | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล

ในโลกอนาคตที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ประเทศต่างๆ ได้เตรียมความพร้อมของรัฐบาลในการตอบโจทย์อนาคตอย่างไร แล้วประเทศไทยจะสามารถนำแนวทางเหล่านี้มาปรับประยุกต์ใช้เพื่อตอบบริบทของเราได้อย่างไร

ในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนนี้ รัฐบาลหลายประเทศได้ออกนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และมักไม่ได้จัดสรรเวลาและทรัพยากรเพื่อตอบโจทย์ความเป็นไปได้ที่หลากหลายในอนาคต ส่งผลให้ข้อท้าทายที่มีอยู่ไม่ได้ถูกจัดการ ขับเคลื่อนหรือวางแผนเพื่อแก้ไขระยะยาวอย่างเป็นระบบ 

ตัวอย่างเช่น นโยบายประชานิยมที่ขาดการคิดเชิงระบบและไม่ครอบคลุม อาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อการพัฒนาประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีรัฐบาลบางประเทศเช่นกันที่มีความพยายามที่จะใช้แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายที่คำนึงถึงความเป็นไปได้เชิงอนาคต รวมทั้งบูรณาการแนวทางการคาดการณ์เชิงอนาคต (Foresight) มาช่วยในการเตรียมความพร้อมให้กับภาครัฐอย่างเต็มที่ 

  • จากการศึกษากลุ่มประเทศในเอเชียพบแนวทางสำคัญสามรูปแบบในการบูรณาการ Foresight ในรัฐบาล ดังนี้ 

รูปแบบแรก ประเด็นอนาคตที่สนใจ (Thematic area) การทำงานด้านอนาคตศึกษาให้ความสำคัญกับการทำงานกับกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีความหลากหลาย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกประเด็นอนาคตที่จะศึกษา ที่บางประเด็นมีความละเอียดอ่อน 

ตัวอย่างเช่น ประเด็นความมั่นคงของประเทศ อาจจำเป็นต้องมีการทำงานกับข้อมูลที่อยู่ในชั้นความลับ (Classified data) ซึ่งมีข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอื่นๆ

ในขณะเดียวกันสามารถกำหนดและปรับขอบเขตประเด็นวาระให้มีเนื้อหาที่กว้างพอในการดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหลักเพื่อเข้ามาเพื่อช่วยระบุจุดบอด (blind spot) ที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญหลักอาจมองข้ามไป 

ตัวอย่างเช่น ประเทศมาเลเซีย ได้จัดตั้ง Malaysia Industry-Government Group for High Technology (MIGHT) ขึ้นมา โดยหน่วยงาน MyForesight ที่เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนงานศึกษาวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต

ได้มีการขยายหัวข้อ “อนาคตของกระทรวงกลาโหม” ไปสู่ “อนาคตของอุตสาหกรรมด้านความมั่นคง” ซึ่งช่วยทำให้ประเด็นหัวข้อและขอบเขตที่เกี่ยวข้องมีทั้งความกว้างและลึกเพียงพอในการแลกเปลี่ยนกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 

Foresight: การรับมืออนาคตในเชิงรุกของรัฐบาล | ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล

รูปแบบที่สอง โครงสร้างการเมืองและหน่วยงานรัฐ (Political structure and Public Official) กระบวนการด้านการคาดการณ์อนาคตตั้งแต่การระบุหาสัญญาณแนวโน้ม

หรือแม้กระทั่งการทดสอบนโยบายยุทธศาสตร์ในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับฉากทัศน์ทางเลือกหลากหลายรูปแบบ สามารถดำเนินการผ่านโครงสร้างทางการเมืองและระบบของหน่วยงานภาครัฐ 

กรณีประเทศสิงคโปร์ ศูนย์อนาคตศึกษาซึ่งอยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการและประสานงานการศึกษาการคาดการณ์อนาคตข้ามหน่วยงาน และนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ภาพรวมของรัฐบาลและประเด็นเฉพาะที่เกี่ยวข้องสำหรับแต่ละกระทรวง 

หากมีประเด็นเชิงนโยบายที่มีความสำคัญกับประเทศในภาพรวม การจัดเวทีหรือการแลกเปลี่ยนกับหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐระดับสูงหรือนักการเมืองที่เกี่ยวข้องผ่านการมีส่วนร่วมให้ความเห็นต่อฉากทัศน์อนาคตของประเทศ

นอกจากนี้ ศูนย์อนาคตศึกษา ประเทศสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมด้านการคาดการณ์อนาคตให้กับบุคลากรทุกหน่วยงาน ผ่านการทำงานและฝึกอบรมกับหน่วยงานกลางด้านอนาคตศึกษาก่อนถูกส่งต่อไปประจำการกับกระทรวงต่างๆ ของรัฐบาล

เพื่อนำความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอนาคตศึกษามาปรับใช้ในการทำงานตามประเด็นหลักของแต่ละกระทรวง เพื่อช่วยให้แนวทาง

ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนี้ถูกสอดแทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานภาครัฐ โดยที่บทบาทของศูนย์อนาคตศึกษาจะช่วยสนับสนุนด้านการฝึกอบรมและเป็นที่ปรึกษาเพื่อทำให้งานด้านการคาดการณ์อนาคตเกิดขึ้นทั่วทั้งภาครัฐของประเทศ 

รูปแบบที่สาม ปัญญารวมหมู่ (Collective Intelligence)  ประเทศเกาหลีใต้ได้ก่อตั้งสถาบันอนาคตศึกษาภายใต้รัฐสภา หรือ National Assembly Futures Institute ที่มีการทำงานขับเคลื่อนด้านอนาคตกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา 

อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานได้แก้ไขจุดบอดของผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ที่อาจมองข้ามสัญญาณอนาคตจากอคติที่เกิดจากความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยการเปิดให้กลุ่มเยาวชนจากหลากหลายมหาวิทยาลัยเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ด้านการคิดเชิงอนาคตด้วย เพื่อช่วยพัฒนาฉากทัศน์อนาคตทางเลือกจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ 

โดยในแต่ละปี ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่มามีส่วนร่วมในการช่วยระบุเทรนด์สัญญาณแนวโน้ม โดยกรอบในการพัฒนาฉากทัศน์ทางเลือกผ่านรูปแบบปัญญารวมหมู่จะครอบคลุมฉากทัศน์อนาคตที่พึงประสงค์และอนาคตเชิงนโยบาย

จากทั้งสามรูปแบบของการนำแนวทางการคาดการณ์อนาคตมาใช้ในการทำงานของรัฐบาลในหลายประเทศในเอเชีย สะท้อนให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ในการบูรณาการทิศทางด้านอนาคตศึกษามาช่วยขับเคลื่อนการทำงานของภาครัฐมากขึ้น 

และอาจถึงเวลาที่ประเทศไทยควรเปิดช่องทางในการปรับแนวทางด้านอนาคตศึกษาสู่ระบบรัฐบาลอย่างเป็นองค์รวม เพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบระยะยาวจากนโยบายที่เน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและนโยบายในรูปแบบประชานิยมที่ขาดการวิเคราะห์เชิงอนาคต อันนำไปสู่การผลักภาระที่เกิดขึ้นไปยังคนรุ่นถัดไป