เปิดปฏิบัติการ ยานสำรวจใต้น้ำ “SEA-FOX” หาคำตอบ “เรือหลวงสุโขทัยอับปาง”

เปิดปฏิบัติการ ยานสำรวจใต้น้ำ “SEA-FOX”   หาคำตอบ “เรือหลวงสุโขทัยอับปาง”

ประเด็นสำคัญการนำยานสำรวจใต้น้ำ ที่มีกำหนดจะเริ่มปฏิบัติการในวันนี้ (22 ธ.ค.) หากสภาพอากาศเป็นใจ คลื่นลมสงบ ส่งผลให้การปฏิบัติภารกิจลุล่วง "เรือหลวงสุโขทัยอับปาง" จมใต้ทะเลด้วยสาเหตุใดอาจได้คำตอบในเร็วๆนี้

กองทัพเรือเตรียมแผนกู้ “เรือหลวงสุโขทัย” ไปพร้อมๆ กับการเดินหน้าค้นหาผู้สูญหายที่เหลืออีก 23 คน เข้าสู่วันที่ 5 นับจากวันเกิดเหตุ (18 ธ.ค.2565) อย่างไม่ลดละ ด้วยการปูแผนปฏิบัติการออกเป็น 2 ส่วน 

ส่วนแรก จัดกำลังทางเรือ ประกอบด้วย เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงกระบุรี เรือหลวงนราธิวาส เรือหลวงนเรศวร และเรือหลวงตากสิน

พร้อมเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลแบบดอร์เนีย 2 ลำ เฮลิคอปเตอร์ค้นหาผู้ประสบภัย 2 ลำ UAV 1 ลำ ร่วมกับเครื่องบินกองทัพอากาศ 1 ลำ และเฮลิคอปเตอร์อีก 1 ลำ ก่อนกำหนดพื้นที่การปฏิบัติการ โดยคำนวณจากทิศทางของกระแสน้ำ และกระแสลม

สำหรับแผนการปฏิบัติการ จะมุ่งเน้นไปที่เส้นทางทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในระยะ 40 ไมล์ทะเล จากจุดเรือหลวงอับปาง โดยแบ่งการปฏิบัติออกเป็น 11 พื้นที่ความรับผิดชอบ ขณะที่ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล.ภาค 1 จัดเรือตรวจการชายฝั่งเข้าร่วมปฏิบัติการเพิ่มเติมด้วย

ส่วนที่สอง จัดกำลังพล 1 หมวดค้นหา พร้อมยานสำรวจใต้น้ำSEA-FOX” จากกองเรือทุ่นระเบิด เพื่อบันทึกภาพใต้น้ำดูลักษณะการอับปางของเรือหลวงสุโขทัย ก่อนนำมาวางแผนปฏิบัติกู้เรือ

ยานสำรวจใต้น้ำ จะมีลักษณะเป็นสายการบังคับใต้น้ำ พร้อมติดกล้อง-บันทึกภาพ-มาร์กจุด และทิ้งทุ่นเอาไว้ เบื้องต้นได้กำหนดจุดไว้ 3- 4 ไมล์ทะเล

โดยลักษณะการปฏิบัติงานของยานสำรวจใต้น้ำ ทำควบคู่ไปกับนักประดาน้ำของกรมสรรพวุธทหารเรือ ทหารเรือ ร่วมกับกองเรือทุ่นระเบิด โดยยานสำรวจใต้น้ำ เปรียบเสมือนตัวช่วยจะกำหนดพิกัดที่ชัดเจน เพื่อให้นักประดาน้ำทำงานได้รวดเร็วขึ้น กรณีที่ต้องใช้ข้อมูลที่ละเอียดชัดเจน

เนื่องจาก นักประดาน้ำ มีขีดจำกัดในเรื่องการดำน้ำ ยิ่งน้ำลึกเท่าไหร่ก็จะเป็นอันตราย เช่นเดียวกับยานสำรวจใต้น้ำ ก็ประสบปัญหาทัศนวิสัยใต้น้ำไม่ดี เช่น น้ำขุ่น หรือน้ำโคลน ส่งผลกระทบต่อข้อมูลที่ไม่ละเอียดมากพอ

สำหรับภารกิจหลักของยานสำรวจใต้น้ำ มีไว้เพื่อสำรวจวัตถุใต้น้ำ ว่าเป็นทุ่นระเบิดหรือไม่ โดยจะมีสายติดกับตัวยาน มีตัวบังคับประกอบกับเครื่องโซนาร์ (เครื่องมือสำหรับตรวจหาวัตถุใต้น้ำ)ของเรือ ก็สามารถเห็นได้ว่า เป็นทุ่นระเบิดจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงวัตถุอื่น ก้อนหิน ตอไม้ หากพบว่าเป็นวัตถุระเบิดจริง จะส่งนักประดาน้ำลงไปวางทุ่นระเบิดได้เช่นกัน       

นอกจากนี้ ยานสำรวจใต้น้ำ ยังมีประเภทเป็นตัวทำลายด้วย คือ ติดตั้งระเบิดที่ยานสำรวจใต้น้ำเข้าไปพุ่งชน เพื่อให้ระเบิดนั้นทำงานได้เช่นกัน

ส่วนในกรณีเรือหลวงสุโขทัย การนำยานสำรวจใต้น้ำลงไปสำรวจ กองทัพเรือต้องการดูพิกัดที่ชัดเจนว่า เรือจมอยู่ในจุดใด และมีลักษณะการจมในทิศทางไหน เช่น หงาย คว่ำ เอียงซ้าย เอียงขวา รวมถึงสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อประเมินถึงสาเหตุการจมในขั้นต้นได้

ตลอดจนประเมินการกู้เรือว่า สามารถทำได้หรือไม่ เพราะใต้ทะเลมีส่วนที่เป็นดินโคลน ซึ่งหากหัวเรือปักลงไปในดินโคลนเกือบครึ่งตัวเรือ ถือเป็นเรื่องยากที่จะกู้เรือขึ้นมา แต่หากไม่มีปัญหาตรงนี้ กองทัพเรือจะสามารถกำหนดแผนการกู้เรือต่อไป

ทั้งนี้ กองเรือทุ่นระเบิด กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ พบว่ามี “ยานล่าทำลายทุนระเบิด” หรือ Sea-fox 3 แบบ

1.Seafox C (Combat Vehicle) ใช้ในภารกิจการพิสูจน์ทราบ เเละทำลายทุ่นระเบิดใต้น้ำ โดยใช้สายสัญญาณแบบ Expendable ภายในบรรจุวัตถุระเบิดเเบบ Shaped Charge เพื่อจุดระเบิดทำลายทุ่นระเบิดให้หมดภัยคุกคาม เป็นเเบบใช้เเล้วทิ้ง

กำลังลอยเป็นลบ (-300g)  มีส่วนประกอบของดินระเบิด เเบตเตอร์รี่เเบบ Expendable LiSo2

ทำงานที่ความลึก 0-300 เมตร ที่กระเเสน้ำ 0-3 นอต เเละที่ Sea state ที่มากกว่า 4

 2 Seafox I  (Inspection Vehicle)ใช้ในภารกิจการพิสูจน์ทราบ เเละกำหนดตำบลที่วัตถุใต้น้ำ ฝึกเจ้าหน้าที่ บังคับยานให้เกิดความคุ้นเคย ใช้สายสัญญาณเเบบ Reuseable กำลังลอยเป็นบวก (+300g)

ไม่มีส่วนประกอบของระเบิด แบตเตอร์รี่ Reuseable NiMH ทำงานที่ความลึก 0-300 เมตร ที่กระเเสน้ำ 0-3 นอต เเละที่ Sea state ที่มากกว่า 4 

3. Seafox T ใช้สำหรับการฝึก Seafox C โดยจะมีการ Simulate ขั้นตอนการจุดระเบิดได้

ประเด็นสำคัญการนำยานสำรวจใต้น้ำ ที่มีกำหนดจะเริ่มปฏิบัติการในวันนี้ (22 ธ.ค.) หากสภาพอากาศเป็นใจ คลื่นลมสงบ ส่งผลให้การปฏิบัติภารกิจลุล่วง เรือหลวงสุโขทัยอับปางจมใต้ทะเลด้วยสาเหตุใดอาจได้คำตอบในเร็วๆนี้