ทสท.ดันCluster อุตสาหกรรมด้านอาหาร พุ่งเป้าปี23 สู่อาหารแห่งอนาคต

ทสท.ดันCluster อุตสาหกรรมด้านอาหาร พุ่งเป้าปี23 สู่อาหารแห่งอนาคต

"ไทยสร้างไทย" วางเป้าหมายอาหารไทย ปี 2023 สู่อาหารแห่งอนาคต จ่อออกพรก.กฎหมายที่เป็นอุปสรรค ย้ำรัฐต้องสนับสนุนคนตัวเล็กเพื่อเข้าสู่ตลาดโลก ช่วงชิงโอกาสความมั่นคงทางอาหารและ Functional Food

พรรคไทยสร้างไทย จัดงานเสวนาปลดล็อกเศรษฐกิจ Thailand’s Future Food Trends 2023 ทิศทางอุตสาหกรรมอาหารโลกและโอกาสในปี 2023 ที่ Victor Clubs อาคาร FYI Center ถนนพระราม 4 เกี่ยวกับอนาคตและทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารและเทรนด์ด้านอาหารของโลกในอนาคต โดยมีนายรณกาจ ชินสำราญ ผู้ร่วมก่อตั้งร้านอาหารญี่ปุ่น Maguro และ คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย ดำเนินรายการ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทยและประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร นางอนงค์ ไพจิตรประภากรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร และ นายธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ก่อตั้งร้าน Penguin Eat Shabu ร่วมเสวนา

นายวิศิษฐ์  กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารในไทย เป็นอุตสาหกรรมที่กระทบน้อยมากจากสถานการณ์โควิด - 19  โดยมีรายได้กว่า 1 ล้านๆบาท ต่อปีจากการส่งออกในประเทศ และ กว่า 4 แสนล้านบาทจากอุตสาหกรรมในด้านอาหารและมูลค่าการบริโภคในประเทศกว่า 2 ล้านล้านบาท ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ช่วงโควิดต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก แต่ผู้ผลิตต้องยอมขาดทุนมากกว่าหยุดการผลิตเพราะจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากกว่า ตอนนี้ธุรกิจเริ่มกลับมาเดินได้เพราะมีการคลายล็อก และในปีนี้ ตัวเลขการส่งออกในอุตสาหกรรมอาหารเติบโตเพิ่มอย่างก้าวกระโดดกว่า 20 % คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.2 ล้านล้าน

ทสท.ดันCluster อุตสาหกรรมด้านอาหาร พุ่งเป้าปี23 สู่อาหารแห่งอนาคต

สินค้าที่ทำรายได้เพิ่มขึ้น 5 อันดับแรกคือ น้ำตาล โดยมีรายได้เพิ่มกว่า 139% ต่อมาคือไขมัน- น้ำมันทั้งจากพืชและสัตว์ เพิ่มขึ้น 62% เนื่องจากสถานการณ์ตลาดน้ำมันปาล์มโลก ที่น่าสนใจคืออาหารทะเลกระป๋อง เติบโตสูงขึ้นมากโดยเฉพาะตั้งแต่โควิดเป็นต้นมา ต่อมาคือไก่สดและแช่แข็ง เติบโต 42% และมีโอกาสเติบโตขึ้นได้อีก แต่ติดปัญหาในการส่งออกไปยังตะวันออกกลางที่ยังติดปัญหาเรื่องฮาลาลและข้าวเติบโตเพิ่มขึ้น 32% เพราะแหล่งข้าวสาลีโลก อยู่ที่ รัสเซียและยูเครน ทำให้โลกต้องหาแหล่งคาร์โบไฮเดรตทดแทน 

ปัญหาของอุตสาหกรรมการส่งออกอาหารตอนนี้คือเรื่องมาตรฐานการส่งออก มาตรฐานการวางขาย เช่น GHP HACCP ที่แต่ละพื้นที่ที่จะส่งออกไปมีมาตรฐานที่ต่างกัน รวมถึงอาหารออแกนิค ที่น่าจะชูได้แต่ก็มีมาตรฐานที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความลำบากในการเข้าใจความแตกต่างของมาตรฐานแต่ละที่

ทสท.ดันCluster อุตสาหกรรมด้านอาหาร พุ่งเป้าปี23 สู่อาหารแห่งอนาคต

ด้านนางอนงค์ นำเสนอว่าในอนาคตเทรนด์กำลังก้าวไปสู่ Future Food โดยคำนิยามปัจจุบันมีอยู่ 4 อย่าง คือ อาหารฟังก์ชั่น, อาหารทางการแพทย์, อาหารออแกนิค และ อาหารใหม่ หรืออาหารที่ยังต้องการผลวิจัยมารองรับอยู่ ใน 4ด้านนี้ หลายอย่างง่ายกับเรา เช่นอาหารฟังก์ชั่น ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสมนไพรเยอะ สามารถทานเข้าไปแล้วทำให้แก้ร้อน หรือ สร้างความอบอุ่นได้ สิ่งที่สำคัญคือต้องมีองค์กรที่มาดูแลเรื่อง Functional Ingedient Claim แทน อ.ย. เพราะจะทำให้ทุกอย่างไปคอขวดอยู่ที่องค์กรเดียว ต้องกระจายออกไป อาหารทางการแพทย์ เราก็สามารถทำได้และสามารถพัฒนาเพิ่มได้อีกมาก อาหารออแกนิค ยังติดปัญหาด้านข้อกำหนดต่างๆอยู่เยอะและอาหารใหม่ที่ยังรอการวิจัยและพัฒนา โดยอนงค์เห็นว่า งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาด้านอาหารควรจะต้อเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารสร้าง GDP ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล แต่ทำไมงบประมาณที่มาช่วยเหลืออุตสาหกรรมอาหารยังน้อยอยู่ 

ส่วนนายธนพงศ์ กล่าวว่าต้ังแต่สถานการณ์โควิดเป็นต้นมาทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น เนื้อสัตว์ อาหารปรุงสุกต่างๆราคาสูงขึ้น แต่ความโชคดีของไทยคือ เรามีวัตถุดิบอยู่เองในประเทศที่จำแพลนท์เบส เราจึงมีต้นทุนแพลนท์เบสที่ค่อนข้างถูกกว่าที่อื่นในโลก ตอนนี้ราคาอาหารโดยปรกติ ราคาเริ่มถีบตัวมาเท่าแพลนท์เบสแล้วแต่การบริโภคยังต่ำอยู่ เพราะปัจจุบันเรารู้ว่าแพลนท์เบสทัดเทียมเนื้อสัตว์จริงๆ ทั้งสารอาหาร และ ราคา แต่ที่ติดอยู่คือ ด้านความรู้สึก คนจำนวนมากยังคิดว่าทำไมเราต้องกินเนื้อเทียม ทำไมเราต้องกินหมูเทียมไก่เทียม ถ้าเราสร้างความตระหนักรู้เรื่องคุณค่าอื่นๆ ให้แก่ผู้บริโภค เช่น การลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ หรือ สวัสดิการสัตว์ อาจทำให้คนหันมาบริโภคอาหารแพลนท์เบสมากขึ้น

ปัญหาตอนนี้คือ ผู้ผลิตรายย่อยกำลังจะตาย ในอดีตผู้ผลิตรายเล็ก เป็นผู้ริเริ่มไอเดียด้านธุรกิจต่างๆเหล่านี้ ตลาดยังค่อนข้างแคบ แต่ปัจจุบันผู้เล่นใหญ่เริ่มเข้ามามากขึ้นแม้จะมีข้อดีคือตลาดขยายตัวขึ้น แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ SMEs ไม่สามารถแข็งขันได้ ตรงนี้ต้องเริ่มมีความคิดเรื่องเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ตัวใหญ่ต้องรู้จักแบ่งปันใหรายย่อย และ รัฐต้องเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้มากขึ้นด้วย 

ขณะที่นายสุพันธุ์ เสนอว่าใน3ปีที่ผ่านมาไทย เจอสถานการณ์โควิด แต่อาหารเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ยังคงไปได้อยู่ ซึ่งตรงกับความคิดว่าต้องกลับมามองว่า คนไทยมีความชำนาญอะไร อุตสาหกรรมที่เราเก่งคืออุตสาหกรรมอาหารและเกษตร พรรคไทยสร้างไทยเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความจำเป็น เราจึงต้องแก้ปัญหาทั้งระบบโดยอันดับแรก ต้องแก้ปัญหา ชลประทานทั้งระบบ เพื่อช่วยเหลือด้านการเกษตรก่อน และต้องมีการจัดโซนนิ่ง ต้องมีการพัฒนาพืชพันธุ์ โดยเฉพาะข้าวที่วันนี้เราหยุดพัฒนาพันธุ์ข้าวไปหลายปี จนถูกต่างชาติแซงไปหมด ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง 

"ที่น่าแปลกใจอีกเรื่องหนึ่งคือ ไทยเป็นประเทศที่ถนัดเรื่องอาหาร แต่ไม่มีนิคมอุตสาหกรรมด้านอาหารโดยเฉพาะ ไทยสร้างไทยเห็นว่าจะต้องมี Cluster อุตสาหกรรมด้านอาหาร โดยมีศูนย์วิจัยและพัฒนาตั้งอยู่ในนั้น เพื่อให้ SMEs ได้ใช้ ต้องมีศูนย์บริการในการขอใบอนุญาตต่างๆ ทั้งที่ต้องใช้ในประเทศ และ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ทั้ง GHP GMP และ HACPP ต้องทำได้ง่ายและรวดเร็ว โดยรัฐจต้องเป็นผู้ลงทุนโครงส้รางพื้นฐานเหล่านี้ให้  และสุดท้ายคือ กฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการทำมาหากินของประเทศต้องถูกแขวน โดยพรรคไทยสร้างไทยจะออกพรก.หนึ่งฉบับ เพื่อแขวนกฎหมายกว่า 1,300 ฉบับ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของประเทศ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน และเพื่อให้เราก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านอุตสาหกรรมอาหารโลกให้เร็วที่สุด "นายสุพันธุ์กล่าว