กกต.ไฟเขียว “ชพก.” ระดมทุนหัวละ 99,999 บาท ช่วง 180 วันก่อนครบอายุสภาได้

กกต.ไฟเขียว “ชพก.” ระดมทุนหัวละ 99,999 บาท ช่วง 180 วันก่อนครบอายุสภาได้

กกต.ไฟเขียว “พรรคชาติพัฒนากล้า” จัดงานระดมทุน หัวละ 99,999 บาท ช่วง 180 วันก่อนครบอายุสภาได้ แต่ต้องไม่ทำผิด จูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง-คุณสมบัติผู้บริจาค

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2565 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ทำหนังสือตอบข้อสอบถามกรณีพรรคชาติพัฒนากล้า  ได้ขอสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง รวม 5 ประเด็น  โดยเป็นคำถามเกี่ยวกับรายละเอียดการจัดงานระดมทุน 4 คำถาม คือ 

1. การจัดระดมทุนของพรรคการเมืองตามบทบัญญัติมาตรา 62 มาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 สามารถกระทำได้ในช่วง 180 วัน ก่อนครบอายุของสภา พรรคการเมืองจัดกิจกรรมระดมทุนจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ราคาต่อ 1 คน เป็นเงิน 99,999 บาท เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือไม่ 

2. ในงานจัดระดมทุนดังกล่าวนั้น พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง ส.ส.ของพรรค ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค และสมาชิกพรรค กระทำการแถลงแนวนโยบายของพรรคการเมืองและดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศของ กกต. หรือไม่  

3. ในงานจัดระดมทุนดังกล่าวนั้น มีการติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ภายในและภายนอกสถานที่จัดงานจัดกิจกรรมระดมทุน ซึ่งมีขนาดความกว้างเกิน 130 ซ.ม. และมีขนาดความยาวเกิน 245 ซ.ม. เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศของ กกต. หรือไม่ 

4. ในงานจัดระดมทุนดังกล่าวนั้น โดยมีการฉายวีดิทัศน์ซึ่งมีดนตรีประกอบ และถ่ายทอดการจัดกิจกรรมระดมทุนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่องทางออนไลน์ต่างๆ เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือข้อกำหนด ระเบียบ หรือประกาศของ กกต. หรือไม่

โดยสำนักงาน กกต. พิจารณาแล้วมีความเห็นว่ากรณีดังกล่าวข้างต้นว่า พรรคการเมืองสามารถจัดกิจกรรมระดมทุนได้ โดยพรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 62 วรรคสอง และมาตรา 64 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ประกอบข้อ 37 ถึงข้อ 41 ของระเบียบ กกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ ในการจัดกิจกรรมระดมทุนดังกล่าวต้องมิให้มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 73 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 (ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส.) 

และกิจกรรมระดมทุนดังกล่าวต้องมิให้มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา มาตรา 72 และมาตรา 74 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 (ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย, ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ อื่นใดจาก บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการหรือจดทะเบียนสาขาอยู่ใน หรือนอกราชอาณาจักร นิติบุคคลที่จดทะเบียนในราชอาณาจักรโดยมีบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยมีทุนหรือเป็นผู้ถือหุ้น เกินกว่าร้อยละสี่สิบเก้า คณะบุคคล หรือนิติบุคคลที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์ ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือซึ่งมีผู้จัดการหรือกรรมการเป็นบุคคล ผู้ไม่มีสัญชาติไทย เป็นต้น)

นอกจากนั้นยังมีคำถามอีกว่าในงานจัดระดมทุนดังกล่าวนั้น พรรคการเมืองต้องนำไปรวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไปของพรรคการเมืองหรือของผู้สมัคร ส.ส. หรือไม่ โดย สำนักงาน กกต.พิจารณาแล้วมีความเห็นว่ากรณีดังกล่าวข้างต้น การจัดกิจกรรมระดมทุนตามมาตรา 62 และมาตรา 64 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และ ข้อ 37 ของระเบียบ กกต. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2563 พรรคการเมืองหรือผู้สมัคร ส.ส.ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป