ภารกิจสุดท้าย “น้องตู่-พี่ป้อม” ปิดฉาก "ลงหลังเสือพร้อมกัน"

ภารกิจสุดท้าย “น้องตู่-พี่ป้อม”  ปิดฉาก "ลงหลังเสือพร้อมกัน"

พี่น้อง 2 ป. ที่มีปัญหาระหองระแหงมาตลอดกับสายสัมพันธ์ระหว่างสายเลือดทหารที่อยู่กันมา 50 ปี ขาดสะบั้นลงแล้ว หรือเป็นเพียงกลยุทธ์แบ่งแยกแล้วปกครอง ยุทธวิธีทหารชอบใช้ ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทุกอย่างถูกวางแผน ผ่านการดีดลูกคิดมาเรียบร้อยแล้ว สำหรับเกมแยกกันเดินร่วมกันตี ที่มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)

แม้ลึกๆ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ อยากเป็นเพียงแคนดิแดตนายกฯ เน้นงานบริหาร มากกว่าลงไปลุยงานการเมืองด้วยตัวเอง ไม่ต่างกับการเลือกตั้งปี 2562 แต่ด้วยบริบทการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของทุกกลุ่มทุกฝ่าย

การขยับของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อลุยงานการเมืองต่อกับพรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) ภายใต้หลักการ ปลุกความเป็นหนึ่งเดียว สร้างความสามัคคีในการขับเคลื่อนประเทศ ขณะที่ พล.อ.ประวิตร อยู่ขับเคลื่อน พปชร. คือหนทางที่จะนำไปสู่การเป็นนายกฯ 2 เทอม ตามโรดแมปเดิมที่วางไว้ หวังผลักดันโครงการ แผนงานต่างๆ ที่ได้ปูพื้นฐานยุครัฐประหาร หวังให้เห็นดอกออกผลในปี 2570

หากย้อนไปก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัย ปมวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเร่งเครื่องประเทศโดยใช้ 3 แกนหลัก 

แกนแรก คือ โครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่เริ่มไว้เมื่อปี 2558 พร้อมรับประกัน หากแล้วเสร็จจะเป็นการเปิดประตูเข้าสู่ยุคความรุ่งเรืองที่สุดของไทย

ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมต่อภูมิภาค ถือเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ทำให้ประชาชนเดินทางสะดวก ร่นระยะเวลาขนสินค้า ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยเฟสแรกเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เช่นเดียวโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ซึ่งทั้งสองโครงการจะเปิดใช้บริการปี 2570

และมีแผนขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 6 โครงการ แบ่งเป็น 1.เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก 2.เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย 3. เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน 4.เส้นทางพิษณุโลก-เชียงใหม่ 5.เส้นทางหัวหิน-สุราษฎร์ธานี และ6.เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์

ขณะเดียวกันได้ปักหมุด 2 พื้นที่สร้างท่าเรือแลนด์บริดจ์ หรือ โครงการก่อสร้างท่าเรือพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างฝั่งอันดามัน แหลมอ่าวอ่างจังหวัดระนอง และ ฝั่งอ่าวไทย แหลมริ่วจังหวัดชุมพร

 แกนที่ 2 ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงเชื่อมต่อไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญที่สุดของโลก จากการตอบรับ 2 บริษัทชั้นนำ “ฟ็อกซ์คอนน์ -BYD” ผู้ผลิตเทคโนโลยี และผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด จะมาตั้งฐานผลิตในไทย

 "ผมตั้งเป้าที่จะทำสิ่งต่างๆ นี้ให้สำเร็จเรียบร้อยภายในไม่เกิน 12 เดือนข้างหน้านี้ และเมื่อทำสำเร็จได้ จะเป็นเหมือนเราเร่งเครื่องผ่านเนินเขาช่วงที่ชันที่สุดไปได้ แล้วประเทศไทยก็จะวิ่งต่อไปข้างหน้า สู่การเป็นประเทศผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ส่วน

ระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองของกรุงเทพฯ ผมจะทำให้อยู่ในระดับเดียวกับที่โตเกียวและใกล้เคียงกับลอนดอน ในเรื่องของระยะทางและจำนวนสถานี สายสีชมพู และสายสีเหลือง ใกล้จะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ และจะเปิดให้บริการในไม่ถึง 6 เดือนข้างหน้า" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

แกนที่ 3 ภาคธนาคาร และวิธีการเปลี่ยนแปลงทำงานของธนาคาร หวังปรับกลยุทธ์ให้คนไทย 30 ล้านคนเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งอยู่ระหว่าง ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังศึกษา ผลักดันให้ภาคการเงินของประเทศไทยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในวงกว้าง

ในปี 2023 พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกปรับบทบาทใหม่ให้เป็นนายกฯ ครบเครื่อง โดดเด่นทั้งด้านบริหารควบคู่กับการทำงานด้านการเมือง ขับเคลื่อนโครงการอภิมหาโปรเจคแบบเต็มสูบ ในช่วงเวลา 2 ปีที่เหลืออยู่ หรือหากสถานการณ์เป็นใจ กฎกติกาการเมืองเปลี่ยน รัฐบาลครบเทอม ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

ขณะที่ความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประวิตร แม้จะมีกระแสข่าวระหองระแหงกันมาตลอด ผ่านคนใกล้ชิดและเครือข่ายกับสายสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องสายเลือดทหารที่อยู่กันมา 50 ปี ขาดสะบั้นลงแล้ว เพราะเรื่องการเมือง หรือเป็นแค่เพียงกลยุทธ์แบ่งแยกแล้วปกครอง ยุทธวิธีทหารชอบใช้ ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด

เพราะเชื่อกันว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นพระจันทร์ส่องสว่างยามค่ำคืน พล.อ.ประวิตร จะเป็นพระอาทิตย์ ให้แสงสว่างในตอนเช้า สองสิ่งนี้ไม่มีวันแยกจากกันได้ แต่จะร่วมฝ่าฟันอุปสรรค จับมือลงหลังเสือไปพร้อมๆ กัน ประโยคฮิตที่ยังแซวกัน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน