“เพื่อไทย”คิดใหม่ ขยับรุกใต้ เปิดยุทธศาสตร์"ชิงด้ามขวาน"

“เพื่อไทย”คิดใหม่ ขยับรุกใต้ เปิดยุทธศาสตร์"ชิงด้ามขวาน"

"กระแสความนิยมของ น.ส.แพทองธาร ในพื้นที่ภาคใต้ที่มาเป็นอันดับสอง จะช่วยดึงคะแนนจากคนรุ่นใหม่ และวันนี้คะแนนของน.ส.แพทองธารยังขึ้นไม่สุด เช่นเดียวกับคะแนนของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังลงไม่สุด เราจึงมีโอกาสที่จะได้คะแนนตรงนี้เพิ่มเติม"

พรรคเพื่อไทย (พท.) โหมโรงเปิดนโยบายสู้ศึกเลือกตั้งเพื่อให้ฮือฮา ชิงตัดหน้าทุกพรรคการเมือง ประกาศค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน จบปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน สร้างความนิยมในตัว “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ให้ติดลมบนมากยิ่งขึ้น

กระแส “แพทองธาร” จากผลสำรวจของนิด้าโพลมีคะแนนในพื้นที่ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ ส่วนภาคใต้และกทม. มีคะแนนตามมาเป็นอันดับสอง ซึ่งคะแนนนิยมในพื้นที่ภาคใต้ถือว่าเซอร์ไพรส์คอการเมือง

เมื่อชื่อของ “แพทองธาร” ติดมาเป็นอันดับสอง 13.24% เป็นรอง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ที่ได้ 23.94% เพียงคนเดียว แถมยังมีคะแนนนำ “อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ทำให้ “ขุนพลแดนใต้” ของพรรคเพื่อไทยมีความหวังที่จะเก็บแต้มการเมือง

โดยในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ “แพทองธาร” จะนำครอบครัวเพื่อไทย ลงพื้นที่ปักธงภาคใต้ที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย

“ณัฐวุฒิ” ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ภาคใต้จะไม่ใช่พื้นที่ทางการเมืองที่เข้มแข็ง เหมือนภูมิภาคอื่น แต่เราเป็นพรรคการเมืองของทุกคนในประเทศ วิกฤตการเมืองกระทบทุกคน การประกาศนโยบาย และการประกาศแลนด์สไลด์ จึงมุ่งแก้ปัญหาให้ประชาชนในทุกกลุ่ม ซึ่งเราต้องรับผิดชอบคนไทยทุกคน

โดยการทำงานการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ จึงจะเดินหน้าด้วยนโยบาย และผลงานในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเป็นจุดแข็งของพรรคเพื่อไทย จากสภาพความจริงทางการเมืองที่ปรากฏมาในหลายปี และปัญหาความเดือดร้อนจากการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาล น่าจะทำให้ประชาชนคนใต้ต้องการความเปลี่ยนแปลง และพรรคเพื่อไทยมี

ขณะนี้เรายังอยู่ระหว่างการคัดสรรผู้สมัครในรอบสุดท้าย ก่อนจะเข้าสู่ช่วงเวลาการเลือกตั้ง จึงต้องประเมินกระแสความนิยม และกระแสของผู้สมัครในพื้นที่ก่อน แต่เรามั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชนชาวปักษ์ใต้

“อย่าลืมว่าเราเคยมี ส.ส. ภาคใต้มาแล้ว โดยในปี 2548 เราเคยปักธงได้ที่ จ.พังงา (กฤษ ศรีฟ้า ชนะการเลือกตั้ง ส.ส. จ.พังงา) ทำให้เราคาดหวังว่าในโซนอันดามัน เราจะมีแต้ม และอาจจะเป็นพื้นที่หนึ่งที่เราตั้งความหวังได้”

“ณัฐวุฒิ” ประเมินต่อว่า สำหรับโซนพื้นที่อ่าวไทย ตนขอประเมินกระแสตัวผู้สมัครก่อน แต่ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนกับการเลือกตั้งครั้งก่อนที่จะมีเพียงพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย สู้รบกับพรรคประชาธิปัตย์

“ครั้งนี้จะแตกต่างจากทุกครั้ง เพราะพรรคร่วมรัฐบาลมีการแข็งขันกันอย่างเข้มข้น โดยมี 4 พรรค ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้พรรคเพื่อไทยมีโอกาสสอดแทรกขึ้นมาได้ เนื่องจากทั้ง 4 พรรคไปแย่งคะแนนในกลุ่มเดียวกัน เราจึงต้องรวบรวมคะแนนในก้อนของเราให้มากที่สุด จึงจะมีโอกาสชนะ”

“ณัฐวุฒิ” วิเคราะห์ต่อว่า คะแนนในก้อนของพรรคเพื่อไทย จะได้จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ทุกจังหวัด ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ได้รู้สึกผูกพันกับพรรคการเมืองเก่าแก่เหมือนแต่ก่อน ส่วนก้อนคะแนนผูกพันกับพรรคเก่าแก้มีถึง 4 พรรคมาแย่งชิงกัน"

"ดังนั้นกระแสความนิยมของ น.ส.แพทองธาร ที่มาเป็นอันดับสอง จะช่วยดึงคะแนนจากคนรุ่นใหม่ และวันนี้คะแนนของน.ส.แพทองธารยังขึ้นไม่สุด เช่นเดียวกับคะแนนของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังลงไม่สุด เราจึงมีโอกาสที่จะได้คะแนนตรงนี้เพิ่มเติม หากนโยบายพรรคที่เปิดออกไปโดนใจประชาชน”

“ณัฐวุฒิ” ทิ้งท้ายว่า “ในการเลือกตั้งในช่วงที่ผ่านมา เราเคยได้คะแนนปาตี้ลิสต์พื้นที่ภาคใต้มากที่สุดในปี 2548 แต่คราวนี้เราอาจจะคะแนนปาร์ตี้ลิสต์สูงกว่าปี 2548 จากความนิยมของพรรคที่มีเพิ่มมากขึ้น”

ทั้งหมดคือมุมมอง มุมวิเคราะห์ของ “ณัฐวุฒิ” ในฐานะผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เปิดยุทธศาสตร์ชิงแต้มการเมืองจาก “ขั้วรัฐบาล”