“เรือดำน้ำ”ไม่โผล่ “เรือพี่เลี้ยง”เทียบท่า   กำเนิด “เรือฟริเกต” ลำที่ 2

“เรือดำน้ำ”ไม่โผล่ “เรือพี่เลี้ยง”เทียบท่า    กำเนิด “เรือฟริเกต” ลำที่ 2

เรือดำน้ำลำแรกขาดเครื่องยนต์ ซึ่งยังไม่รู้ว่าปัญหานี้จะจบลงแบบไหน และเมื่อไหร่ กองทัพเรือจึงเลือกผลักดันโครงการจัดซื้อเรือฟริเกตสมรรถนะสูง ลำที่ 2 ที่ใช้ปราบเรือดำน้ำ ทดแทน

“เรือหลวงช้าง” หรือ “เรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ” เตรียมเข้าเทียบท่าประเทศไทยในปีหน้านี้ โดยต้นเดือน เมษายน 2566 จีนจะทำพิธีส่งมอบให้ กองทัพเรือไทย ซึ่งยังไม่ชัดว่า พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) จะเดินทางไปรับมอบด้วยตัวเองหรือไม่ หลังติดเงื่อนไขกักตัว 10 วันป้องกันโควิด-19 ก่อนถึงวันพิธี

กองทัพเรือไทย ได้ลงนามทำสัญญาต่อเรือยกพลขึ้นบก LPD ชื่อไทย เรือหลวงช้าง หรือเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ จากจีน 1 ลำ ราคา 6,100 ล้านบาท ในช่วงท้ายก่อนเกษียณอายุราชการของ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. รองรับเรือดำน้ำรุ่น Yuan Class S 26 T หลังทำสัญญาต่อเรือลำแรกปี 2560 ตามยุทธศาสตร์หลักประกันความปลอดภัยประเทศ

เดิมที เรือดำน้ำลำแรก มีกำหนดส่งมอบในปีเดียวกันกับ เรือพี่เลี้ยง แต่หลังโควิด-19 ระบาด ส่งผลกระทบต่อการต่อเรือและนำไปสู่การขยายเวลาการส่งมอบออกไปเป็นปี 2567 และล่าสุดมีแนวโน้มจะขยายเวลาส่งมอบอีกครั้งเป็นปี 2568 หลังติดปัญหาเครื่องยนต์

สำหรับ เรือหลวงช้าง นอกจากใช้เป็นพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ แล้วยังมาแบ่งเบาภารกิจของกองทัพเรือที่มีเพิ่มขึ้น โดยแท็กทีมกับ เรือหลวงอ่างทอง ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบกเพียงลำเดียวของกองทัพเรือ และเป็นเรือ LPD เช่นกัน แต่ต่อจากประเทศสิงคโปร์

สำหรับคุณสมบัติเรือหลวงช้าง เป็นเรือบังคับบัญชาของกองเรือ หากติดตั้งระบบสื่อสารและอำนวยการรบครบในอนาคต คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท สามารถปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก

การลำเลียงขนส่งทางทะเล การปฏิบัติการด้านช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการบรรเทาภัยพิบัติกับต่างประเทศ การสนับสนุนส่งกำลังบำรุงให้เรือดำน้ำ การฝึกกำลังพล และเป็นฐานบินให้กับเฮลิคอปเตอร์ในทะเล

เมื่อ 14 พ.ย.2565 ที่ผ่านมา กองทัพเรือส่งกำลังพลซึ่งเป็นทหารสัญญาบัตร และกำลังพลในส่วนของช่างกล ล็อตแรก เดินทางไปศึกษาระบบด้านช่างกล เครื่องจักร ระบบอู่ลอย เครื่องจักรช่วย ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประมาณ 5 เดือน ก่อนนำเรือกลับ

ส่วนล็อตที่ 2 เดินทางวันที่ 5 ธ.ค.2565 จะเป็นกำลังพลในส่วนการเดินเรือ อาวุธ สื่อสาร พลาธิการ เพื่อเรียนรู้ระบบเดินเรือ สื่อสาร การปฎิบัติการในระวางบรรทุก การอู่ลอย การจมเรือ การใช้ เครื่องมือด้านลิฟท์ ขนย้ายระบบ RoRo การใช้แรมพ์ข้าง และแรมพ์ท้าย การปฏิบัติการของโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ การใช้อุปกรณ์สนับสนุนเรือดำน้ำ

และล็อตที่ 3 จะเป็นในส่วนพลทหาร จำนวน 35 นาย พร้อมนายแพทย์ 2 นาย รวมเป็น 37 นาย จะเดินทางประมาณ มี.ค.2566 เพื่อไปร่วมทดลองความคุ้นเคยกับเรือ ก่อนพิธีรับมอบในต้นเดือน เม.ย.2566 และเดินทางกลับภายหลังรับมอบต่อไป

ขณะที่ความคืบหน้าปัญหาเรือดำน้ำลำแรก ขาดเครื่องยนต์ ในเดือนธันวาคมนี้จะมีการประชุมร่วมกัน 3 ฝ่ายเป็นครั้งที่สอง โดยก่อนหน้านี้บริษัท CSOC เสนอเครื่องยนต์ CHD 620 ที่อ้างว่ามีประสิทธิภาพสามารถทดแทนเครื่องยนต์ mtu 396 เยอรมัน

 “เราจะดูว่าในวันหารือเขามีข้อมูลอะไรมานำเสนอ ซึ่งเราต้องการความชัดเจนว่า โครงการเรือดำน้ำจะขยายเวลาออกไปถึงเมื่อไหร่ เพราะต้องเตรียมในเรื่องงบประมาณมารองรับ มิเช่นนั้นจะตั้งงบประมาณไปทำโครงการอื่นไม่ได้ ก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยก่อนหน้านี้ มีการแก้สัญญารับมอบเรือดำน้ำ ซึ่งของเดิมส่งมอบกลางปี 2566 แต่เกิดโควิด-19 ทำให้โครงการล่าช้า จึงขยับเวลาการส่งมอบเป็นกลางปี 2567 และมาติดปัญหาเครื่องยนต์อีก วันส่งมอบคงดีเลย์เกินปี 2567 ” พล.ร.อ.เชิงชาย ระบุ

ทั้งนี้ กองทัพเรือกำลังจัดทำโครงการจัดหา“เรือฟริเกต”ลำใหม่ ใช้ปราบเรือดำน้ำ ใช้งบประมาณปี 2566 โดยต้องเสนอรัฐบาลขอเปลี่ยนงบจากเรือดำน้ำมาจัดซื้อ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผน คาดว่าจะต่อภายในประเทศหลังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีใต้ ต่อจากเรือฟริเกตลำแรก คือ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ที่เข้าประจำการเมื่อปี 2562

โดยเป็นไปตามแผนความต้องการเดิมของกองทัพเรือ ในโครงการจัดซื้อเรือฟริเกต สมรรถนะสูง จำนวน 2 ลำ เพื่อมาทดแทนเรือฟริเกต ชุดเรือหลวงพุทธยอดฟ้า และเรือหลวงพุทธเลิศหล้า ที่ปลดประจำการเมื่อปี 2558 และ 2560

ลำแรก เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2555 หลังกองทัพเรือถูกระงับโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำมือสอง U-206 A จากประเทศเยอรมนี จำนวน 6 ลำ มูลค่า 7.6 พันล้านบาท จึงเปลี่ยนมาทำโครงการจัดซื้อเรือฟริเกตสมรรถนะสูง

ที่ผ่านมาจะเห็นว่า กองทัพเรือต้องเจออุปสรรคมากมายในการจัดหาเรือดำน้ำ มารักษาผลประโยชน์ทางทะเลที่มีมูลค่ามหาศาล รวมถึงคานอำนาจประเทศรอบบ้านที่มีเรือดำน้ำประจำการ ทั้งปัจจัยงบประมาณ การเมือง จนส่งผลกระทบต่อการจัดหายุทโธปกรณ์อื่นๆ ที่ปลดประจำการ ล่าช้าออกไป

มาวันนี้ เรือดำน้ำลำแรกขาดเครื่องยนต์ ซึ่งยังไม่รู้ว่าปัญหานี้จะจบลงแบบไหน และเมื่อไหร่ กองทัพเรือจึงเลือกผลักดันโครงการจัดซื้อเรือฟริเกตสมรรถนะสูง ลำที่ 2 ที่ใช้ปราบเรือดำน้ำ ทดแทน