ลางร้ายเมื่อนายกฯ แนะนำให้อ่านหนังสือ?

ลางร้ายเมื่อนายกฯ แนะนำให้อ่านหนังสือ?

ในประวัติศาสตร์ นายกรัฐมนตรีที่นำหนังสือมาแนะนำให้คนไทยอ่านถูกยึดอำนาจและเร่ร่อนไปอาศัยอยู่ในต่างแดน ในช่วงนี้ มีปรากฏการณ์นายกฯ นำหนังสือมาแนะนำให้คนไทยอ่านอีก ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยหรือไม่จึงเป็นปริศนาที่น่าติดตาม

ประโยคที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือวันละ 8 บรรทัด” อาจเป็นแรงจูงใจให้นายกฯ นำหนังสือมาแนะนำให้คนไทยอ่าน สำหรับผู้มีประสบการณ์ด้านเขียนหนังสือ ประโยคนี้แทงใจมากเนื่องจากถูกเตือนให้ตระหนักไว้เสมอว่า การเขียนหนังสือขายมักทำให้ผู้เขียน “ไส้แห้ง” หรืออดอยากเพราะยากจน  

การสรุปว่าคนไทยอ่านหนังสือวันละ 8 บรรทัดเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการระบาดอย่างทั่วถึงของโทรศัพท์อัจฉริยะและสื่อสังคมทางอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าส่งผลให้คนไทยอ่านมากขึ้น แต่มักเป็นการอ่านข้อความสั้น ๆ จึงมิใช่การ “อ่านหนังสือ” ตามนิยาม หรือความเข้าใจโดยทั่วไปมาก่อนอันเป็นการอ่านครั้งละนาน ๆ ทั้งเพื่อการหาความรู้และเพื่อความบันเทิง  

ลางร้ายเมื่อนายกฯ แนะนำให้อ่านหนังสือ?

เมื่อไม่กี่วันมานี้ นายกฯ แนะนำให้คนไทยอ่านเรื่อง Capital in the Twenty-First Century ซึ่งคอลัมน์นี้อ้างถึงเมื่อวันที่ 10 ธค. 2564 ว่า ต้นฉบับเป็นภาษาฝรั่งเศส ได้รับการแปลเป็นหลายภาษาอย่างรวดเร็ว และขายดีเป็นเทน้ำเทท่า อันเป็นเรื่องประหลาดมากเพราะโดยทั่วไปหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ขายไม่ค่อยได้ส่งผลให้ผู้เขียน “ไส้แห้ง”  

ประเด็นนี้ผมเข้าใจดีเพราะเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ ตามที่นายกฯ แนะนำ หนังสือเล่มดังกล่าวมีข้อมูลมากมายเพราะฉบับภาษาอังกฤษที่ผมอ่านยาวเกือบ 700 หน้าและเนื้อหาครอบคลุมช่วงเวลานาน

ส่วนประเด็นหลักที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในต่างประเทศเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำซึ่งสร้างปัญหาสาหัสทั้งในอดีตและปัจจุบัน นายกฯ จะใส่ใจกับประเด็นนี้แค่ไหนและจะนำข้อคิดไปใช้เป็นฐานของนโยบายอย่างไรยังไม่เป็นที่ประจักษ์ ประสบการณ์ของผมในฐานะผู้เขียนหนังสือบ่งว่า ไม่น่าตั้งความหวังสูงนัก

ย้อนไป 20 ปี นายกฯ มักแนะนำหนังสือให้คนไทยอ่านซึ่งเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจ ผมจึงติดตามอ่านหนังสือเหล่านั้นด้วย หลังเวลาผ่านไป ผมเริ่มสงสัยว่า นายกฯ อ่านเองละเอียดแค่ไหนและสิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ นำเนื้อหามาใช้อย่างไร

เมื่อผมสรุปได้ว่าไม่ค่อยนำมาใช้ จึงทำบทคัดย่อภาษาไทยของหนังสือเหล่านั้น 9 เล่มพร้อมบทวิพากษ์มาเสนอไว้ในหนังสือชื่อ “คิดนอกคอก ทำนอกคัมภีร์” ซึ่งขายดีเกินคาด

ลางร้ายเมื่อนายกฯ แนะนำให้อ่านหนังสือ?

อย่างไรก็ดี บทวิพากษ์ของผมคงสร้างความไม่พอใจให้แก่บางคน ทั้งนี้เพราะหนังสือของผมเล่มต่อมาชื่อ “สู่จุดจบ !” ถูกปฏิเสธจากบริษัทจัดจำหน่ายยักษ์ใหญ่และในที่สุดถูกสั่งเก็บจากร้านขายหนังสือ  

ส่วนใครเป็นผู้สั่งเก็บซึ่งทำให้สำนักพิมพ์เล็ก ๆ ที่จัดพิมพ์ขาดทุนย่อยยับไม่มีใครจับมือใครดมได้ เวลาผ่านไปหลายปีก่อนที่ นสพ. แนวหน้าจะนำ “สู่จุดจบ !” มาเผยแพร่ ตามด้วยการแนะนำให้คนไทยอ่านโดยนายกฯ คนปัจจุบัน  

(ณ วันนี้ อาจดาวน์โหลดได้ฟรีที่ www.bannareader.com และฟังเสียงอ่านได้จาก YouTube) หนังสือเล่มนี้พิมพ์เมื่อปี 2549 จากมุมมองของเวลา หนังสือต้องการข้อมูลเพิ่มเพื่อทำให้ทันกับเวลาและครอบคลุมยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปหลักยังไม่ล้าสมัย  ส่วนนายกฯ จะนำไปใช้อย่างไรหรือไม่ยังไม่เป็นที่ประจักษ์  

ผู้เขียนเรื่อง Capital in the Twenty-First Century กังวลเรื่องความเหลื่อมล้ำมากเนื่องจากมันเพิ่มขึ้นและถ้ายังเป็นเช่นนั้นต่อไปจะทำให้สังคมแตกแยกร้ายแรงถึงขั้นล่มจม เขาจึงขับเคลื่อนให้จัดตั้งสถาบันขึ้นมาศึกษาและติดตามแนวโน้มอย่างใกล้ชิดชื่อ World Inequality Lab 

รายงานของสถาบันนี้บ่งชี้ว่า ความเหลื่อมล้ำยังไม่ลดลงทั้งในด้านรายได้และทรัพย์สินในครอบครอง ปัจจัยนำที่ทำให้มันยังเป็นปัญหาสาหัสได้แก่ชนชั้นเศรษฐีมักมีโอกาสเข้าถึงอำนาจรัฐมากกว่าคนทั่วไป หรือไม่ก็คุมอำนาจนั้นเสียเอง นโยบายของรัฐจึงเอื้อให้พวกเขารวยเพิ่มขี้นได้ง่าย 

ยิ่งกว่านั้น เทคโนโลยีใหม่มักเอื้อให้ผู้ประดิษฐ์ หรือกำมันไว้สามารถสร้างความร่ำรวยได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้น ปริศนาที่ต้องขบคิดต่อไปได้แก่ จะทำอย่างไรความเหลื่อมล้ำในเมืองไทยจึงจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ผู้นำที่ทำไม่ได้อาจมีอันเป็นไปเช่นเดียวกับนายกฯ คนก่อนที่ต้องเร่ร่อนไปอาศัยอยู่ในต่างแดน