"หาร100"พรรคในสภา“ต่ำ10” จับตาพรรคอันดับ 1 ผูกขาดการเมือง

"หาร100"พรรคในสภา“ต่ำ10” จับตาพรรคอันดับ 1 ผูกขาดการเมือง

"หาร100"พรรคในสภา“ต่ำ10” จับตาพรรคอันดับ 1 ผูกขาดการเมือง พรรคอันดับ 2 ทิ้งห่าง พท.ลุ้นหุ้นการเมืองพุ่งทะยาน - 2 ป.ลุ้นรวมกันเกิน 125 โอกาสตั้งรัฐบาล

ผลพวงจากคำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ปมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไฟเขียวให้การเลือกตั้งในปี 2566 เป็นการใช้บัตร 2 ใบ ส่วนการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ให้ใช้สูตรหาร 100 

บรรดาพรรคการเมืองทุกขนาด โดยเฉพาะพรรคใหญ่ ได้เตรียมพร้อมกับเกมหาร 100 อยู่แล้ว โดยวางแนวไว้ชัดว่าจะลุยเลือกตั้ง ส.ส.เขต ให้ชนะได้มากที่สุด ส่วนแต้ม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็ไปลุ้นกันอีกทีว่าจะบวกเพิ่มหรือไม่

การเลือกตั้งเที่ยวนี้ เป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วในบรรดานักเลือกตั้งว่า กติกานี้จะส่งผลต่อพรรคใหญ่ เป็นฝ่ายได้เปรียบ ส่วนบรรดา “พรรคเล็ก” ต่างยอมรับสภาพว่า อาจสูญพันธุ์ทางการเมือง

เนื่องจากมีการคำนวณจำนวนคะแนนพรรคการเมืองเอาไว้ว่า รอบนี้อาจจะต้องใช้ 300,000 - 350,000 คะแนน ต่อ 1 เก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ตรงกันข้ามกับกติกาบัตรใบเดียว ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้เพียง 70,000 คะแนน ต่อ 1 เก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

หากย้อนไปดูจำนวนพรรคการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งปี 2562 ได้เข้าสู่สภาฯ มีถึง 27 พรรค มากเป็นประวัติการณ์ ทำให้มีพรรคเล็ก พรรคจิ๋วจากสูตรปัดเศษ แจ้งเกิดพรึ่บสภาฯ

ทว่าสถานการณ์การเมือง พ.ศ.นี้ ค่อนข้างยากที่ “พรรคเล็ก” จะหาเสียงทำคะแนนปีนไปให้ถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้ แม้จะขับเคลื่อนอย่างเต็มที่สักเท่าไร เก่งสุดอาจจะได้รับการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ น้อยนิด จนไม่คุ้มที่จะลงทุน

โดยผลการเลือกตั้งหลังสูตรหาร 100 จะทำให้ “สภาผู้แทนราษฏร”อาจเหลือพรรคการเมืองประมาณไม่เกิน 10 พรรค เรียกว่าหายไปเกินครึ่งจากที่มี 27 พรรค และระหว่างทางยังมีการยุบไปรวมกับพรรคใหญ่ 

ขณะเดียวกันพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง อาจมี ส.ส.ในสภามากถึงร้อยละ 40-55 (225-275 ที่นั่ง) ของจำนวน ส.ส. 500 ที่นั่ง ตรงนี้อาจจะทำให้เกิดการผูกขาดทางการเมืองได้ง่ายขึ้น

ด้านพรรคอันดับสอง จะมี ส.ส. น้อยกว่าพรรคอันดับหนึ่งกว่าครึ่ง โดยสถานการณ์จะกลับไปคล้ายกับช่วงที่พรรคการเมืองของ “ทักษิณ ชินวัตร” เรืองอำนาจ อาทิ ปี 2548 พรรคไทยรักไทยได้ ส.ส. 377 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 96 ที่นั่ง ปี 2550 พรรคพลังประชาชนได้ ส.ส. 233 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 164 ที่นั่ง และปี 2554 พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. 265 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 159 ที่นั่ง

จะเห็นได้ว่า พรรคการเมืองของ “ทักษิณ” เอาชนะการเลือกตั้งมาได้ตลอด และมีจำนวน ส.ส. ทิ้งห่างพรรคประชาธิปัตย์เกือบครึ่งหนึ่งในทุกครั้ง ซึ่งจะทำให้พรรคอันดับหนึ่ง สามารถเลือกจับมือกับทุกพรรคที่เหลือ ยกเว้นบางพรรคที่ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคไม่ประสงค์จะให้จับมือด้วย พรรคอาจจะไม่ขอร่วมรัฐบาล เพื่อรักษาฐานเสียงของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ด้วยกติกาที่ให้ 250 ส.ว. สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จึงอาจเห็นพรรคการเมือง ร่วมจับมือจัดตั้งรัฐบาลให้เกิน 375 เสียง เพื่อเอา ส.ว.ออกจากสมการจัดตั้งรัฐบาลแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ขณะเดียวกัน หากพรรคพี่พรรคน้องของ 2 ป. “พลังประชารัฐ” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ “รวมไทยสร้างชาติ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ได้ที่นั่งรวมกันต่ำกว่า 125 เสียง ก็อาจยากที่จะกลับมามีอำนาจทางการเมืองได้ และหากยังพยายามจัดตั้งรัฐบาล อาจโดนต่อรองจากพรรคร่วมฯ และขั้วการเมืองอย่างหนัก

ด้วยเหตุผลข้างต้น ทำให้หุ้นทางการเมืองของ “พรรคเพื่อไทย” มีโอกาสปั่นให้ทะยานพุ่งขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ และจะเป็นแรงดึงดูดให้ ส.ส.พรรคอื่น แสดงท่าทีขอเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทยมากขึ้น 

คาดกันว่า หากถึงปลายเดือน ม.ค. 2566 “พล.อ.ประยุทธ์” ยังไม่ยุบสภา จะมีความเคลื่อนไหวของ ส.ส. ที่ต้องการย้ายพรรค ลาออกแบบเป็นกลุ่มก้อน ทยอยเข้าสังกัดพรรคเพื่อไทย

นอกจากนี้ ต้องจับตาความเคลื่อนไหวทางการเมืองของ “พรรคเกิดใหม่ - พรรคเล็ก” ที่จะมีการควบรวมกัน เนื่องจากการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ จะต้องใช้คะแนนจากการเลือกตั้งมากขึ้น ไม่มี ส.ส.ปัดเศษที่ได้แค่ 3-4 หมื่นคะแนน แล้วได้ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก

ทั้งนี้ จะเป็นไปในรูปแบบการ"ควบรวมกัน" เสียมากกว่า โอกาสที่พรรคการเมืองใหญ่จะรับ ส.ส. พรรคเล็ก มีน้อยมาก เพราะภายในพรรคใหญ่เอง ได้มีการวางลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เอาไว้หมดแล้ว

สำหรับการยุบสภา กระแสจากนักการเมืองทั้ง 2 ขั้ว คาดการณ์สอดคล้องกันว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะไม่เร่งรีบมากนัก 

ว่ากันว่า เวลายุบสภาฯ จะใกล้ๆ กับวาระรัฐบาล ไม่ห่างกันนัก ซึ่งก็เป็นเทคนิคการเมือง เรื่องการย้ายพรรคในก๊อกสุดท้าย

ที่สำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องให้เวลากับพรรครวมไทยสร้างชาติ มีเวลาสร้างคะแนนนิยมในเกิดขึ้น รวมถึงหาจังหวะที่อีกฝ่ายเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ “บิ๊กเนมพรรค” มีคดีอยู่ในชั้น ป.ป.ช.อีกหลายคดี

พุ่งเป้าไปที่ “คดีจำนำข้าวภาคสอง” ที่มีการกล่าวอ้างว่า “ทักษิณ” มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตด้วย โดยมีไม้ตายอยู่ที่คลิปลับ เป็นบทสนทนากันระหว่าง “ทักษิณ” กับ “เอกชน” ที่ไปเจรจาต่อรองซื้อขายข้าวถึงดูไบ

ปมดังกล่าวหาก ป.ป.ช. มีมติชี้มูล “พรรคเพื่อไทย” จะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกยุบพรรคทันทีเช่นกัน เนื่องจาก “ทักษิณ” ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคในทางกฎหมาย เข้ามาสั่งการเกี่ยวกับการบริหารราชการ โดยมีหลักฐานชัดเจน ทำให้กระแสข่าวยุบพรรคเพื่อไทยถูกพูดถึงมากขึ้นในระยะหลัง

หากมี “ธงยุบพรรค” จริง ยังต้องรอลุ้นกันว่าจะเลือกยุบพรรคเพื่อไทยในห้วงเวลาใด เพราะหากยุบก่อนประกาศ พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง อาจจะมูฟออนกันทัน แต่หากยุบหลัง พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง มีผลบังคับใช้แล้ว ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย จะหมดสิทธิ์ลงสมัคร ส.ส.ทันที ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับการยุบอดีตพรรคไทยรักษาชาติ

หลังจากนี้ ถนนการเมืองมุ่งสู่การเลือกตั้ง “พล.อ.ประยุทธ์” จะนำร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง และ ร่างพ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส. ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ 

จากนั้นก็รอสัญญาณคิกออฟการเมือง ที่บรรยากาศการเข้าสู่โหมดเลือกตั้งจะเริ่มขึ้น ด้วยการห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด