"ส.ว." ตั้งป้อมขวางแก้รธน.ปลดล็อคท้องถิ่น - วิปฯนัดโหวตปลายธ.ค.

"ส.ว." ตั้งป้อมขวางแก้รธน.ปลดล็อคท้องถิ่น - วิปฯนัดโหวตปลายธ.ค.

"ส.ส." หนุนหลักการ แก้รัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อคท้องถิ่น หวังให้ท้องถิ่นพัฒนา-ตอบโจทย์แก้ปัญหาประชาชน ด้าน "ส.ว." ตั้งป้อมค้าน วิปฯ นัดโหวตวาระแรก ปลายธ.ค.

           ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการปะชุมรัฐสภา วาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เกี่ยวกับหมวดการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า และประชาชน จำนวน 76,591 คนเสนอ ว่าทิศทางการอภิปรายส่วนใหญ่ของ ส.ส. นั้นสนับสนุนในหลักการการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาและแก้ปัญหาในพื้นที่ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนที่รวดเร็ว

 

        ทั้งนี้ในการอภิปรายตอนหนึ่งของนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยพัฒนา มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับกระจายอำนาจนั้น เชื่อว่าเวลาของรัฐสภาดำเนินการไม่ทัน ดังนั้นขอเรียกร้องให้ทุกพรรคนำไปขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการแก้ไขเนื้อหาในการเลือกตั้ง เพื่อให้สามารถทำได้ในสภาสมัยหน้า

 

           ขณะที่ส.ว. นั้นพบว่าอภิปรายคัดค้าน เพราะมองว่าเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเปิดช่องให้ยกเลิกหน่วยราชการส่วนภูมิภาคอาจทำให้เกิดปัญหากับโครงสร้างการบริหารราชการในประเทศ พร้อมกับได้ท้วงติงในเนื้อหาโดยเฉพาะการกำหนดให้ภายใน 240 วันให้รัฐสภา ตรากฎหมาย จำนวน 6 ฉบับให้แล้วเสร็จ อาทิ กฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ, กฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดรายรับขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, กฎหมายการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งกรณีดังกล่าวจะทำให้มีปัญหาต่อการทำงานของราชการส่วนภูมิภาคที่แม้จะกำหนดให้รัฐบาลทำแผนยกเลิกภายใน 2 ปีและภายใน 5 ปีให้ทำประชามติถามประชาชนต่อการยกเลิกราชการส่วนท้องถิ่น

           นอกจากนั้นการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ได้ท้วงติงต่อการให้อิสระของท้องถิ่นมีอิสระในด้านนโยบาย ซึ่งเนื้อหาเปิดช่องให้องค์กรท้องถิ่นกระทำการในลักษณะของนิติบุคคลได้ ซึ่งการอภิปรายกังวลต่อการดำเนินงานที่อาจมีผลกระทบเกิดปัญหาหนี้สินและท้องถิ่นอาจถูกศาลสั่งให้ล้มละลายได้

 

 

           ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเวลาที่ใช้การพิจารณาของรัฐสภาในประเด็นดังกล่าว มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการประสานงานพรรครร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) วิปฝ่ายค้าน และวิปวุฒิสภา ได้หารือ โดยมีข้อสรุปเบื้องต้นว่าจะให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายเนื้อหาจนถึงเวลา 21.00 น. จากนั้นให้ผู้นำเสนอร่างฯชี้แจงสรุป ก่อนจะปิดประชุม และนัดลงมติอย่างเปิดเผยด้วยการขานชื่อ ว่าจะรับหลักการหรือไม่ ช่วงวันที่ 20 หรือ 21 ธันวาคม อย่างไรก็ดีในเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญการลงมติรับหลักการนั้นต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่ง โดยต้องมีเสียงส.ว.รับหลักการด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง จากส.ว.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 248 คน.