ทร. เตรียมส่ง UAV -Blackjack จับเรือประมงผิดกฎหมาย

ทร. เตรียมส่ง UAV -Blackjack จับเรือประมงผิดกฎหมาย

ศรชล. เตรียมรับ IMO ประเมินความพร้อมของไทยรับเรือสินค้า-ท่องเที่ยว ก.พ.66 ด้าน ทร. เตรียมส่ง UAV Blackjack จับเรือประมงผิดกฎหมาย วางฐานบินบนเรือ เพื่อต่อระยะตรวจจับในทะเล

ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จัดการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ครั้งที่ 5/2565 โดย พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (รอง ผอ.ศรชล.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ครั้งที่ 5/2565 และ พลเรือเอก ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือในฐานะเลขาธิการ ศรชล. พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานหลัก ศรชล.

พล.ร.ต.ไชยนันท์ ชูใหม่ โฆษก ศรชล. แถลงผลการประชุม ศรชล. ถึงผลการดำเนินงานของ ศรชล. ในปีงบประมาณ 2565 ต่อคณะกรรมการนโยบายการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (นปท.) ใน 3 ด้าน

ด้านนโยบายและแผน ศรชล. มุ่งสร้างรูปธรรมในการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันของทั้ง 7 หน่วยงานหลัก ศรชล. ให้มีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงของชาติและการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การขับเคลื่อนงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่สำคัญตามนโยบายของรัฐบาล เช่น การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในทะเล

ด้านยุทธการและการฝึก ศรชล. มุ่งเน้นการบูรณาการการกำกับดูแลการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรทางทะเลในห้วงสถานการณ์โควิด-19 มีการบูรณาการการฝึกกับกองทัพเรือ ประจำปี 2565 การบูรณาการกับการฝึกบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2565 (CMEX 2022)การฝึกผสม Southeast Asia Cooperation and Training (SEACAT 2022) รวมถึงมีการฝึก PASSENGER SHIP TRAINING ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.)

ด้านการเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือกับหน่วยงานภายในและระหว่างประเทศมีการจัดทำบันทึกความร่มมือระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ ศรชล. รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคงทางทะเล และองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส นอร์เวย์ แคนาดา มาเลเซีย สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) เป็นต้น

ทั้งนี้ ศรชล. ได้สรุปข้อมูลผลการปฏิบัติเชิงสถิติต่อภัยคุกคาม 9 ด้าน ในภาพรวมมีผลการปฏิบัติ ในปีงบประมาณ 2565 รวมทั้งสิ้น 425 เหตุการณ์ เหตุที่เกิดขึ้นมากที่สุด ได้แก่ การค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล รองลงมา คือ การทำประมงผิดกฎหมาย จะเห็นได้ว่าในภาพรวมนั้นภัยคุกคามต่างๆ ในทะเลยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ศรชล. จึงจำเป็นต้องพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ภัยคุกคามต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที

พร้อมกันนี้ได้รายงานผลการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและคณะกรรมาธิการยุโรป (DG MARE) ในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ครั้งที่ 6 โดยผู้แทน ศรชล. เข้าร่วมประชุมด้วย เมื่อ 11 ตุลาคม และ 14 ตุลาคม 2565 มีการหารืออย่างรอบด้าน  โดยฝ่ายคณะกรรมาธิการยุโรป (Director-General of the Directorate General for Maritime Affairs and Fisheries  : DG MARE) ได้แสดงความชื่นชมถึงความพยายามของประเทศไทยในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย ที่มีการปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบและระบุขั้นตอนให้กระชับและชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังแสดงความขอบคุณประเทศไทยที่ผลักดันเครือข่ายอาเซียนเพื่อการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย (ASEAN Network for Combating IUU Fishing : AN-IUU) ซึ่งฝ่ายไทยให้ความมั่นใจกับ DG MARE ยืนยันผลักดันเครือข่าย AN-IUU ให้เกิดประโยชน์ต่อภูมิภาคอาเซียนต่อไป ซึ่งทางคณะกรรมาธิการยุโรปฯ พอใจผลการแก้ปัญหา

นอกจากนี้ยังชี้แจงผลการปฏิบัติการต้อนรับและประชาสัมพันธ์เรือสำราญ Spectrum of the seas เข้าประเทศ ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2565 ศรชล. ได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวและเรือสำราญ Spectrum of the seas เรือสำราญสัญชาติสหรัฐอเมริกาขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่กลับมาสู่ประเทศไทยให้บริการนักท่องเที่ยวเป็นครั้งแรกหลังสถานการณ์โควิด-19 ได้จอดทอดสมอบริเวณอ่าวป่าตอง จังหวัดภูเก็ต โดยมีการจัดแถลงข่าวให้ความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวเรือสำราญว่า ศรชล. จะระดมสรรพกำลังอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลด้วยการเปิดประตูการท่องเที่ยวทางทะเล ต้อนรับเรือสำราญจากนานาชาติที่จะนำพานักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศไทย ให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ภายในปลายปี 2570 ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเด็นการท่องเที่ยวในหัวข้อการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ ที่ได้กำหนดไว้แล้วในแผนการปฏิบัติราชการ 5 ปี ของ ศรชล. (พ.ศ.2560-2570)

ทั้งนี้จากคาดว่าจะมีเรือสำราญเข้าสู่ประเทศไทย จำนวนไม่น้อยกว่า 156 ลำ ในปี พ.ศ. 2566 คาดว่าจะสร้างรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ไทยเตรียมรับการประเมินจาก International Maritime Organization หน่วยสังกัดองค์การสหประชาชาติ ถึงความพร้อมของไทยในการรับเรือจากต่างประเทศ ทั้งเรือขนส่งสินค้า กิจการท่องเที่ยวทางเรือ ซึ่ง ศรชล. เป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ เพื่อให้การปลอดภัยเดินเรือและพร้อมรับนักท่องเที่ยว
.
ซึ่งการประเมินดังกล่าวไม่มีการกำหนดระดับ (Tier) แต่จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ เรื่องค่าประกันภัยของเรือที่จะเข้ามา เพราะถ้าไม่ผ่านการประเมินด้านความปลอดภัย จะทำให้เรือต้องจ่ายค่าประกันภัยแพงขึ้น ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการเดินเรือเพิ่มขึ้น โดยจะประเมินเรื่องการช่วยเหลือเรือเดินทะเล ด้านอากาศยาน การสนับสนุนข้อมูลด้านอุทกศาสตร์ เป็นต้น หากไทยผ่านการประเมินได้รับการประกันเรื่องความปลอดภัย ค่าประกันภัยก็จะลดลง และสร้างความมั่นใจในการเดินเรือในน่านน้ำไทยมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ร.อ.เชิงชาย พร้อมผู้แทนจาก 6 หน่วยงาน เดินชมนิทรรศการผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้สนับสนุนในภารกิจ ศร.ชล เช่น เรือของกรมประมง กรมเจ้าท่า และอากาศยานไร้คนขับ Blackjack ที่กองทัพเรือสหรัฐฯ มอบให้กองทัพเรือไทย 1 ระบบ 5 เครื่อง 

ทั้งนี้ พล.ร.อ.เชิงชาย ได้รับฟังขั้นตอนการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานงานในการตรวจจับประมงผิดกฎหมาย เช่นการแจ้งพิกัดเรือเป้าหมายจากกรมประมง ให้ทาง ศรชล. ติดตามโดยใช้ UAV ขึ้นปฏิบัติการ ซึ่งระยะปฏิบัติการบินทำได้ประมาณ 100 กม. แต่เรือประมงจะออกไปไกลจากระยะตรวจจับนั้นเพื่อหนีการตรวจจับ จึงอาจต้องมีการใช้เรือเป็นฐานบินในการต่อระยะ และเพิ่มศักยภาพในการติดตามชี้เป้ามากขึ้น