"เจษฎ์" เตือน "พปชร.-รทสช." แยกก่อนรวม ระวังเป็นเบี้ยหัวแตก แนะจับตา "ทหาร"

"เจษฎ์" เตือน "พปชร.-รทสช." แยกก่อนรวม ระวังเป็นเบี้ยหัวแตก แนะจับตา "ทหาร"

"เจษฎ์" เชื่อการเมือง หลัง กม.ลูก ผ่านศาลรธน. ต้องจับตา "กกต." ทำหน้าที่ ชี้ให้ชัดกระบวนการ-สูตรคำนวณ มองเกม "พปชร.-รทสช." มีโอกาสเป็นเบี้ยหัวแตก

           นายเจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย และอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ.... มาตรา 25 และมาตรา 26  ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และ 94 ว่าสถานการณ์การเมืองต่อจากนี้ ก่อนที่จะตอบว่าพรรคใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบกับระบบเลือกตั้ง ต้องพิจารณาถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฐานะผู้จัดและกำกับการเลือกตั้ง โดยตนมองว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญยังมีความไม่ชัดเจน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ชี้ให้ชัด ดังนั้น กกต. ต้องแจ้งถึงรายละเอียดให้ชัดเจน ทั้งวิธีการที่นำไปสู่การปฏิบัติ หากกำหนดว่าเลือกตั้ง 7 พฤษภาคม 2566 กรณีที่สภาฯ อยู่ครบเทอม รวมถึงต้องบอกถึงวิธีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อที่ชัดเจน

 

 

           นายเจษฎ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับผู้ที่จะลงแข่งขันเลือกตั้ง ยอมรับว่าเมื่อกติกาเลือกตั้งถูกเปลี่ยนเป็นบัตรสองใบและใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคใหญ่มีความได้เปรียบ แต่ปัจจุบันใครคือพรรคใหญ่ เมื่อมีการกำหนดว่ามีส.ส.เขต 400 เขต พรรคแต่ละพรรคต้องตัดการส่งผู้ลงเลือกตั้ง หากส่งเลือกตั้งแบบเขตจำนวนมากเชื่อได้ว่าจะได้ส.ส.เยอะ ขณะที่การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่วัดคะแนนความนิยม มีความตายตัวว่าพรรคไหนได้คะแนนนิยมมาก เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะได้ส.ส.ตามระดับของคะแนนนิยม


 

           “กรณีที่จะใช้วิธีแยกกันตี รวมกันทีหลัง จะได้ผลหรือไม่ ต้องอยู่ที่ว่าสามารถคุมผลเลือกตั้งได้หรือไม่ หากหากพรรคพลังประชารัฐ บอกว่าจะส่งเขตส.ส. เขตลำดับที่ 1- 200 ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ จะส่งส.ส. เขต ลำดับที่ 201 - 400 จะคุมคนเลือกตั้งได้หรือไม่ หากทำได้แยกกันแล้วค่อยมารวม แต่หากแยกไปแล้วคุมไม่ได้ เท่ากับเป็นเบี้ยหัวแตก และผมมองว่าการใช้กลไกรัฐ กลไกมหาดไทย หรือทหารเข้าไปดำเนินการในการเลือกตั้งที่จะมาถึงใช้ไม่ได้ผลอีก แต่สิ่งจะได้ผลคือ วิธีการหาเสียงที่จะทำให้ได้คะแนนนิยมจำนวนมาก” นายเจษฎ์ กล่าว

 

 

           นายเจษฎ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนภาวะทางการเมืองที่หลายฝ่ายมองว่าอาจจะยุบสภาหรือไม่นั้น ตนมองว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองขอให้เตรียมตัวไว้ ทั้งการย้ายสังกัดพรรค หากยุบสภาจะได้พร้อม แต่หากไม่ยุบสิ่งที่ต้องทำให้ชัดเจน คือ ส.ส.ต้องช่วยกันทำงานไม่ใช่เล่นการเมืองเพื่อให้บ้านเมืองเสียหาย ขณะที่ประชาชนต้องทำการบ้านว่า สิ่งที่นักการเมืองเสนอนั้นเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ เพื่อไม่ให้กลายเป็นเหยื่อของนักการเมือง

 

 

           เมื่อถามว่ากติกาเลือกตั้งใหม่จะเอื้อให้พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์หรือไม่ นายเจษฎ์ กล่าวโดยเชื่อว่าจะแลนด์สไลด์ไม่ได้ถึงขนาดที่บอก แม้จะดึงคนเสื้อแดงเข้ามาร่วมพรรค เพราะผู้ที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ไม่เหมือนกับคนที่สนับสนุนพรรคไทยรักไทยหรือพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นคนรุ่นเก่า อย่างไรก็ดีตนว่าหลังเลือกตั้งอาจมีปัญหา คือ พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่สามารถรวมกันได้เกินครึ่งขึ้นไป แต่ฝั่งเสรีนิยมรวมกันได้ ส.ว.จะทำอย่างไร เพราะหากส.ว.หักเสรีนิยมจะเป็นเรื่องหรือไม่ หรือหากส.ว.หักฝ่ายอนุรักษ์นิยม กลุ่มทหารจะยอมรับได้หรือไม่

 

           “ผมมองว่าทหาร ระดับผู้ใหญ่ ชั้นนายพล ไม่ละวางเรื่องการเมือง ไม่อยากให้การเมืองพัฒนาในทางที่ควรจะเป็นและยังมีการแทรกแซง จึงเป็นปัจจัยที่ควรระวังเรื่องการรัฐประหาร เพราะส.ว.คือทิศทางที่ส่วนใหญ่สนับสนุนทหาร หากส.ว.รวมเสียงข้างน้อยในสภาเลือกนายกฯ อาจทำให้เกิดกระบวนการลงถนน ซึ่งเขาชอบที่จะใช้เป็นประเด็นการปฏิวัติ หากทำถึงขั้นเผาบ้านเผาเมือง ดังนั้นกลุ่มคนที่เรียกร้องควรคิดถึงพลังที่สร้างการต่อรองได้ แทนการทำเกินเลย เพราะจะยื่นโอกาสให้ทหารเข้ามา” นายเจษฎ์ กล่าว