ดีเลย์ “ประยุทธ์” ปิดจุดเสี่ยง ยื่นตีความ "นายกฯ 2 พรรค"

ดีเลย์ “ประยุทธ์” ปิดจุดเสี่ยง   ยื่นตีความ "นายกฯ 2 พรรค"

ก้าวใหม่ บนถนนการเมือง หลัง "บิ๊กตู่" บอกลา "บิ๊กป้อม" ถูกจับตาไปที่ "พรรครวมไทยสร้างชาติ" แม้สถานะทางกฎหมายกับพรรคใหม่ ยังไม่ปรากฎ แต่ "โจทก์เก่า" คอยจ้องเตะสกัด

        เส้นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในทางการเมือง มีคำตอบที่แน่ชัดแล้วว่า “เดินหน้าต่อ”

        จากกระแสข่าวที่ปรากฎ ทั้งการบอกลา กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ ส่งสัญญาณว่า ไม่ขอร่วม “พรรคพลังประชารัฐ” ที่พี่ใหญ่คุมทัพ และเคยเป็นพรรคที่เสนอชื่อ “ประยุทธ์” เป็นแคนดิเดตนายกฯ เมื่อปี2562 

        ทำให้เส้นทาง  “ประยุทธ์” ในสายการเมือง ถูกจับตาในก้าวใหม่ กับ  “รวมไทยสร้างชาติ” ของ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกฯ และหัวหน้าพรรค

ดีเลย์ “ประยุทธ์” ปิดจุดเสี่ยง   ยื่นตีความ \"นายกฯ 2 พรรค\"

        อย่างไรก็ดีแม้ว่าขณะนี้ “บิ๊กตู่” จะไม่มีสถานะใดๆ ใน "รวมไทยสร้างชาติ” แต่จากข่าวที่ปรากฎ เชื่อแน่ว่า จะยอมให้รวมไทยสร้างชาติ เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ และเพื่อแก้ปัญหาการขาดความเชื่อมโยงกับ นักการเมือง -ไร้อำนาจคุมพรรค พล.อ.ประยุทธ์ จำเป็นต้องรับตำแหน่งที่มีพลังต่อการ “บัญชาการ-ยุทธศาสตร์” ภายในพรรค 

        ประเด็นนี้กลายเป็นคำถามขึ้นมาทันทีว่า ตราบใดที่ไม่ยุบสภา ประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้ง สถานะของ “ประยุทธ์” จะเป็นอย่างไร จะถ่างขาเหยียบเรือที่ชื่อ “พลังประชารัฐ” กับ “รวมไทยสร้างชาติ” จนเป็นเหตุเปิดช่องให้ “นักร้อง” ยื่นองค์กรอิสระตีความหรือไม่

        มุมของ “อ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ในมุมเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 บอกกว่า เมื่อยอมให้ พรรคการเมือง เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ แล้ว ต้องเป็นไปตลอดจนกว่าจะ “ถอนตัว”  หรือ ครบวาระของการเป็น “นายกฯ” 

        “พล.อ.ประยุทธ์ จะไปเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ไม่มีปัญหาทางกกฎหมาย แต่เป็นปัญหาในแง่มารยาท  และแม้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญอาจถูกยื่นตีความในแง่เจตนารมณ์ได้ เพราะเมื่อคุณเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคใดต้องอยู่จนครบ” อ.ปริญญา ให้มุมมอง

 

 

        ทว่า “อ.วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ และมือกฎหมายของรัฐบาล บอกในอีกแง่ ว่า กรณีที่ “บิ๊กตู่” เป็น "นายกฯ” ที่มาจาก พรรคพลังประชารัฐ จะไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นนั้นทำได้ และเทียบเคียงกับกรณี “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ - คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ที่ก่อนหน้า “พรรคเพื่อไทย” เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่ปัจจุบันมีสังกัดทางการเมืองใหม่

ดีเลย์ “ประยุทธ์” ปิดจุดเสี่ยง   ยื่นตีความ \"นายกฯ 2 พรรค\"

        ส่วนประเด็นแคนดิเดตนายกฯ เมื่อปี 2562 หากยุบสภา “บัญชีนายกฯ” ที่พรรคสนับสนุนจะหายไป “วิษณุ” ย้ำว่า “การมีชื่อในบัญชีเก่า ไม่ส่งผลกระทบอะไร หากไม่มีเหตุให้ต้องหานายกฯใหม่ หรือแม้มีเหตุให้หานายกฯใหม่ระหว่างนี้ บุคคลนั้นสามารถจัดการตัวเองได้ ว่าจะกลับไปอยู่พรรคเดิม หรือไปสังกัดพรรคใหม่ก็ได้”

         ในคำอธิบายของ “วิษณุ” สำทับกับความเห็นของ แหล่งข่าว ที่เคยทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ขยายความในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ 

         1.ช่วงเลือกตั้ง “พรรคการเมือง” เสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ 

         หากไล่เรียงในบทบัญญัติของกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ “ประยุทธ์” สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ เพราะ “พรรคพลังประชารัฐ” เสนอชื่อให้เป็น “แคนดิเดตนายกฯ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 ประกอบ  มาตรา 89 

         ซึ่งเป็นกติกาที่ “กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ”  กำหนดไว้ในความมุ่งหมาย เพื่อให้ประชาชนใช้ชื่อของ “แคนดิเดตนายกฯ” เป็นข้อมูลสำคัญต่อการตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งปี 2562 ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว อีกทั้งเพื่อเป็นข้อกำหนดที่ให้ความเชื่อมโยงกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จากที่คุณสมบัตินายกฯ ไม่ได้กำหนดให้ “นายกฯต้องสังกัดพรรคหรือเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”

        2.ช่วงชิงตำแหน่งนายกฯ ให้รัฐสภาลงมติโหวต

         เมื่อ "พรรคพลังประชารัฐ” แข่งจัดตั้งรัฐบาลกับ “พรรคเพื่อไทย” ทำให้ ชื่อของ “ประยุทธ์” ถูกเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้ลงมติว่าจะเห็นชอบให้เป็น “นายกฯ” หรือไม่ ซึ่งมติของรัฐสภา 500 เสียง เลือก “บิ๊กตู่” ให้เป็นนายกฯ 

         โดยขั้นตอนนี้ เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสอง และมาตรา 159  ตามความมุ่งหมาย ยังย้ำถึงความสำคัญของ “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรคการเมือง ที่ใช้เป็นกลไกประกอบการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชน  ซึ่งสอดคล้องกับการเลือกตั้งแบบใหม่ที่ลงคะแนนครั้งเดียว ผ่านบัตรใบเดียว

         3.ช่วงเข้าดำรงตำแหน่ง คณะรัฐมนตรี - นายกฯ 

         เมื่อ “บิ๊กตู่” ได้รับตำแหน่ง “นายกฯ” เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กำหนดเป็นกรอบการบริหารราชการแผ่นดิน ตามมาตรา 164 รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง

ดีเลย์ “ประยุทธ์” ปิดจุดเสี่ยง   ยื่นตีความ \"นายกฯ 2 พรรค\"
          โดย 3 ช่วงนั้น แม้มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ระหว่าง “พลังประชารัฐ-ประยุทธ์” แต่หากพิจารณาแล้ว พบว่าเป็นสถานะแบบ “วันเวย์” เพราะแม้ “ประยุทธ์” จะยอมให้ “พลังประชารัฐ" เสนอชื่อเป็นนายกฯ แต่ “ประยุทธ์” ไม่เคยรับตำแหน่งหรือมีสถานะใดตามกฎหมายพรรคการเมือง 

         ดังนั้นการหันหลังให้กับ “พรรคพลังประชารัฐ” เพื่อเตรียมเข้าสังกัด “พรรครวมไทยสร้างชาติ”​ เพื่อเตรียมตัวเลือกตั้งที่จะมาถึง ในมุมทางกฎหมายไม่มีอะไรเป็นข้อห้าม แต่ในแง่ความสัมพันธ์  “ประยุทธ์-พลังประชารัฐ” ก่อนหน้านี้ อาจเป็น “ชนวน” ที่นำไปตีความในแง่ของ “การครอบงำ” 

         หาก “ประยุทธ์” และองคาพยพ วางยุทธศาสตร์การเมืองเพื่อเอาชนะ และหวนคืนสู่ตำแหน่ง “นายกฯ” อีกครั้ง แต่เพื่อแก้ไขจุดอ่อนที่เคยเกิดขึ้นในพรรรคพลังประชารัฐ

          ดังนั้น “ประยุทธ์” จำเป็นต้องเข้ามาบริหารจัดการ แบบมีตำแหน่ง “ใหญ่” ในพรรค  

         แต่หากเลือกจังหวะ “ก้าวใหม่” สู่ตำแหน่งใหญ่ ใน “รวมไทยสร้างชาติ” ขณะที่ ยังเป็น “นายกฯ” ที่ได้ชื่อว่า “เป็นคนของพลังประชารัฐ” อาจเป็นจุดเสี่ยงทางกฎหมาย ที่นำไปสู่การยื่นองค์กรอิสระ เพื่อสกัดการขึ้นคืนสู่อำนาจอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งครั้งหน้าก็เป็นได้