"กรมชลฯ" ลงพื้นที่ดูความก้าวหน้า โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว

"กรมชลฯ" ลงพื้นที่ดูความก้าวหน้า โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว

"สุรชาติ" พร้อมผู้บริหารกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า โครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว ที่พะเยา หวัง แก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้บริหารกรมชลประทาน บริษัทที่ปรึกษาโครงการ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว และพบปะกับผู้บริหารท้องถิ่นรวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบกับโครงการ ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว ต.สระ อ.เชียงม่วนจ.พะเยา

นายสุรชาติ กล่าวว่า ในอำเภอเชียงม่วนและอำเภอปง จังหวัดพะเยา ซึ่งตั้งอยู่ในลุ่มน้ำยมตอนบน มักจะประสบปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงและลาดชัน เมื่อถึงฤดูฝนน้ำไหลหลากลงสู่พื้นที่ตอนล่างอย่างรวดเร็วทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้น้อยมาก

ดังนั้น กรมชลประทานจึงดำเนินการศึกษาจัดทำแผนหลักการพัฒนาและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ดังกล่าว โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามขอบเขตของการศึกษาคือ 

1.จัดทำแผนหลักการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่อำเภอเชียงม่วนและอำเภอปง จังหวัดพะเยา (ยกเว้นพื้นที่ชลประทานของอ่างเก็บน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา) 

\"กรมชลฯ\" ลงพื้นที่ดูความก้าวหน้า โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว

2.คัดเลือกโครงการที่มีลำดับความสำคัญ จำนวน 5 โครงการ จากแผนหลักมาดำเนินการศึกษาวางโครงการ (Pre-Feasibility Study) เพื่อเตรียมความพร้อม 

3.ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น(IEE) โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา เพื่อเตรียมความพร้อมในขั้นการออกแบบรายละเอียดและค่าก่อสร้างโครงการ

โดยผลของการศึกษาจัดทำแผน สามารถวิเคราะห์ปัญหาและรวบรวมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำได้ทั้งหมดจำนวน 416 โครงการ และ 5 โครงการในอำเภอปงที่มีความสำคัญสูงสุด ควรนำมาศึกษาวางโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาลำดับต่อไป ซึ่งต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้อต้น ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำห้วยขาม หมู่บ้านท่าฟ้าเหนือ ตำบลสระอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ความจุเก็บกัก 4.29 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์2,757 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโซน C จำนวน 297 ไร่ 

2.อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ปั๋ง หมู่ 6 บ้านบ่อเบี้ย ตำบลบ้านมาง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ความจุเก็บกัก 2.93 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 4,436 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ233 ไร่ 

3.อ่างเก็บน้ำน้ำม่าว หมู่ 6 บ้านหนุน เทศบาลตำบลแม่ยม อำเภอปง จังหวัดพะเยา ความจุเก็บกัก 1.27 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 4,811 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ 88 ไร่ 

4.อ่างเก็บน้ำน้ำรวบ หมู่ 9 บ้านแม่ทาย ตำบลออย อำเภอปง จัดหวัดพะเยา ความจุเก็บกัก2.08 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 1,513 ไร่ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ 84 ไร่ 

และ 5.อ่างเก็บน้ำห้วงดงดำ (ห้วยแพะ) หมู่ 8 ห้วยคอกหมู ตำบลนาปรัง อำเภอปง จัดหวัดพะเยา ความจุเก็บกัก 3.429 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับประโยชน์ 1,517 ไร่ โดยพื้นที่นี้ไม่ต้องจัดรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

สำหรับการศึกษาวางโครงการทั้ง 5 โครงการจะอยู่ภายใต้โครงการศึกษาความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วนจังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นโครงการที่กรมชลประทานดำเนินการศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นไว้แล้วในปี พ.ศ. 2559 เพราะเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมในขั้นการออกแบบรายละเอียดและจัดหางบประมาณก่อสร้างโครงการต่อไป

ซึ่งรายละเอียดโครงการจะตั้งอยู่หมู่ที่ 8 บ้านราษฎร์พัฒนา ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 4 พื้นที่อุทยานแห่งชาติ246 ไร่ พื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นป่าไม้ 210 ไร่ ด้านสังคม ได้แก่ พื้นที่ทำกินราษฎรได้รับกระทบ 36 ไร่ ส่วนพื้นที่รับประโยชน์จากโครงการทั้งฝั่งขวาและฝั่งซ้ายรวม 1,320 ไร่ มูลค่าการลงทุนโครงการ (เฉพาะหัวงานเขื่อนและอาคารประกอบ) 34.63 ล้านบาท ค่าลงทุน/พื้นที่รับประโยชน์ 34,120 บาท/ไร่

ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน กล่าวด้วยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขาว ถือว่าเป็นโครงการที่มีศักยภาพสูง และมีความเหมาะสมมาก ช่วยบรรเทาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากได้อย่างยั่งยืน โดยจะใช้ระบบท่อส่งน้ำ เพราะจะช่วยกระจายน้ำได้ดี เข้าถึงพื้นที่แห้งแล้งกันดารอย่างทั่วถึง เมื่อโครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จ ชาวบ้านจะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล ส่งผลให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตรเพิ่มขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เพิ่มขึ้น มีความอยู่ดี กินดี และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น