"ส.ว." ยื้อทำประชามติ แก้รธน. เสียงข้างมากเห็นชอบตั้งกมธ.ศึกษาก่อนโหวต

"ส.ว." ยื้อทำประชามติ แก้รธน. เสียงข้างมากเห็นชอบตั้งกมธ.ศึกษาก่อนโหวต

"วุฒิสภา" เสียงแตก หนุน-ค้าน ทำประชามติ แก้รธน. แต่ก่อนลงมติชี้ขาด "สมชาย" เสนอญัตติให้ตั้งกมธ.ศึกษาก่อนลงมติ และที่ประชุมข้างมากเห็นด้วย

          ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมวุฒิสภา วาระพิจารณาเรื่องด่วน เพื่อลงมติต่อญัตติของสภาฯ ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งวุฒิสภาต้องลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบในญัตติดังกล่าวหรือไม่  

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอภิปรายของส.ว. นั้นมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ทั้งที่เห็นด้วยกับญัตติที่เสนอให้ ครม. ทำประชามติสอบถามประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเป็นกระบวนการตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยต่อกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการดังกล่าว เนื่องจากมองว่าเป็นประเด็นที่มีเจตนาทางการเมืองของพรรคการเมืองที่ต้องการนำไปขยายผลในการหาเสียงเลือกตั้ง พร้อมกับเสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่พบปัญหา ผ่านการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันพระปกเกล้า และ ให้ตัวแทนประชาชนที่ทำหน้าที่ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย (ศส.ปชต.) พิจารณาส่งตัวแทนเข้าดำเนินการ 

          โดยนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติในวันเลือกตั้งเพราะจะทำให้พรรคการเมืองนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมือง   ดังนั้นกระบวนการดังกล่าวควรทำหลังเลือกตั้ง ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาล และคาดว่าจะใช้เวลา 2 ปี

 

 

 

          ด้านนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวว่าสนับสนุนและขอให้ส.ว.ร่วมมือเร่งดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะตนมองว่ากระบวนการแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เวลา ไม่น้อยกว่า 6 เดือน แม้ส.ว.จะมีมติเห็นชอบ แต่จะไม่ทันดำเนินการใน ครม. ชุดปัจจุบัน  ขณะที่ส.ว.ปัจจุบัน จะหมดวาระในเดือนพฤษภาคม 2567 หากนับหลังเลือกตั้งส.ส.เดือนพฤษภาคม 2566 เท่านั้นหากไม่รวมมือกัน ไม่มีทางที่จะแก้ไขเสร็จทันในสมัย ส.ว. นี้

 

          “ส.ว.ชุดนี้ ยังมีสิทธิโหวตนายกฯ ภายใน 1 ปี เมื่อเรามีสิทธิ มีโอกาสร่วมในการแก้ไข และผลักดัน จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญอยู่มือของพวกเรา เราจะมีอำนาจต่อรองและมีอำนาจเสนอประเด็นต่างๆ ที่เราต้องการ ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ในที่สุดต้องถูกแก้แน่นอนเพราะ ดูจากเสียงของส.ส.ทั้งหมดแล้ว เขาตั้งธงแก้ทั้งฉบับชัดเจน เพียงแต่จะแก้ในยุคส.ว.ชุดเรา หรือส.ว.ชุดหน้า หากปี 2567 หมดยุคเรา เราก็จะได้แต่นั่งตาปริบๆ เพราะยังไม่มีการแก้รัฐธรรมนูญจะด้วยเหตุผลกลใด หรือการดึงเกม เราจึงไม่ควรคัดค้านการแก้ไข และควรเร่งให้เกิดการแก้ไข” นายวันชัย กล่าว 

 

         ขณะที่ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. กล่าวคัดค้านการลงมติเห็นชอบกับญัตติดังกล่าว เพราะมองว่าเป็นประเด็นที่อาจนำไปใชประโยชน์ทางการเมืองช่วงเลือกตั้ง อย่างไรก็ดีการแก้ไขัฐธรรมนูญยอมรับว่าต้องเกิดขึ้น แต่ในกระบวนการไม่จำป็นต้องทำให้เกิดการสูญเสียงบประมาณหลักหมื่นล้านบาท ในช่วงที่ประเทศไม่มีเงิน ดังนั้นควรใช้กลไกการศึกษาจุดอ่อนและข้อที่ควรแก้ไขในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ส่วนกลไกการแก้ไขควรใช้ ตัวแทนของศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย (ศส.ปชต.) ที่มาจากการคัดเลือกกันเองเข้ามาดำเนนิการ เพราะถือว่าเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยเช่นกัน ดังนั้นตนไม่เห็นด้วยกับญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูยทั้งฉบับ และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 

 

 

          อย่างไรก็ดีก่อนการลงมติ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอญัตติให้ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาก่อนการลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ในญัตติที่สภาฯ มีมติให้ ครม. ได้ดำเนินการออกเสียงประชามติ  ทั้งนี้นายกิตติศักดิ์ อภิปรายเห็นด้วยเพื่อไม่ให้นักการเมืองนำประเด็นดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง

 

          ขณะที่นายเฉลิมชัย อภิปรายคัดค้านเพราะมองว่าเป็นยื้อแก้รัฐธรรมนูญ ยื้อทำประชามติ  หากมีโครงการส.ว.พบประชาชน ให้ประชาชนสอบถามส.ว.ที่ลงพื้นที่ด้วยว่า ยื้อทำไม ตนมองว่าส.ว.รู้หมดแล้ว รัฐธรรมนูญ 279 มาตรา  ไม่ต้องศึกษาให้เสียเวลา

 

           ทำให้ต้องลงมติ โดยพบว่าเสียงข้างมาก  151  เสียงเห็นชอบให้ตั้งกรรมาธิการฯ ไม่เห็นด้วย  26 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง จากผู้มาลงมติทั้งสิ้น 192 คน.