"ส.ว." ยื้อ “ญัตติประชามติ” “รัฐบาล” ไม่จริงใจแก้ “รธน.60”

"ส.ว." ยื้อ “ญัตติประชามติ”  “รัฐบาล” ไม่จริงใจแก้ “รธน.60”

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกจับจ้องจากสังคม หลังจากที่ สภาฯชง "ครม." ทำประชามติ ถามประชาชน เรื่องทำรธน.ใหม่ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอน ที่ "ส.ว." พิจารณา หากดูไทม์ไลน์แล้ว สุ่มเสี่ยง ทำไม่ทัน หาก "ยุบสภา" เกิดขึ้นหลัง

        “วิปวุฒิสภา"  นัดหมายให้ที่ประชุมพิจารณา ญัตติของสภาผู้แทนราษฎร ที่เสนอต่อ “คณะรัฐมนตรี” ให้จัดการออกเสียงประชามติ ฟังความเห็นประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันที่ 21 พฤศจิกายน

 

        แต่ยังไม่ใช่การออกเสียง-โหวตทันที ว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย กับญัตติของสภาฯ ที่ได้รับเสียงเห็นชอบเอกฉันท์ 324 เสียง เพราะในขั้นตอนของ “วุฒิสภา” ต้องตั้งกรรมาธิการฯ เพื่อศึกษารายละเอียดให้รอบด้าน ครบถ้วน ทุกทิศทาง โดยมีเวลาศึกษา 30 - 60 วัน

 

        ก่อนนำกลับมาเสนอให้ที่ประชุม “วุฒิสภา” ลงมติอีกครั้งว่า จะ “เห็นด้วย" หรือ "ไม่เห็นด้วย" กับญัตติ เบื้องต้นประเมินไว้ว่า อาจอยู่ในช่วงกลางเดือนมกราคม  2566 

 

        นั่นแปลว่า “ญัตติฯ” นี้ สุ่มเสี่ยงที่  “ประชามติ” ตามมติเห็นชอบของ “รัฐสภา” จะไม่เกิดขึ้น หาก “รัฐบาล” เลือก “ยุบสภา” ก่อนที่วุฒิสภาจะลงมติ หรือ ก่อนที่เรื่องนี้ จะเข้าสู่วาระพิจารณาของ “ครม.” 

 

        ตามเนื้อหาของเรื่องนี้ “วันชัย สอนศิริ” ฐานะเลขานุการวิปวุฒิสภา  ให้มุมมองไว้ว่า การเสนอให้ “รัฐบาล” ทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ที่วุฒิสภาจะพิจารณา 21 พฤศจิกายน นี้ แม้วุฒิสภาจะเห็นด้วยให้ผ่าน แต่ยังมีกลไกที่ รัฐบาลต้องพิจารณาอีก และตามกฎหมายประชามติกำหนดให้ “รัฐบาล” มีเวลาเตรียมการ ไม่เร็วกว่า 90 วัน ดังนั้นเมื่อนับปฏิทินการเมืองแล้ว ทำไม่ทันแน่นอนในอายุสภาฯ หรือ รัฐบาล ชุดปัจจุบัน

"ส.ว." ยื้อ “ญัตติประชามติ”  “รัฐบาล” ไม่จริงใจแก้ “รธน.60”

        “ผมมองว่าสิ่งที่สภาฯ เสนอนั้นเป็นแค่เกมการเมืองเท่านั้น เพื่อให้มีประเด็นที่ทำให้เห็นว่า ส.ส. ได้แสดงเจตจำนงค์ทางการเมืองไว้แล้ว  แต่จะมีผลให้เกิดการปฏิบัติได้นั้น ดูเวลาแล้วไม่ทัน รวมถึงเงื่อนไขของการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่แม้จะมีคนมองว่า อาจหยิบร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแกัไข ที่ให้มี ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งค้างในวาระของรัฐสภามา แต่ผมมองว่าฉบับนั้นตกไปแล้ว ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” วันชัย ขยายความ

        ส่วนจะมีผลผูกพันให้ “รัฐบาล” สมัยหน้าดำเนินการตามมติของ “รัฐสภา” หรือไม่นั้น “วันชัย” เชื่อว่า "ไม่มีผลผูกพัน” 

 

        เนื่องจากตามกลไกของรัฐธรรมนูญ ญัตติ ร่างกฎหมาย ที่โดย “สภาฯ” เมื่อเปลี่ยนยุค เปลี่ยนชุดของรัฐบาล - สภาฯ จะถือว่า “ตกไป” แต่หากเรื่องใดที่สำคัญและต้องการเดินหน้าต่อ ต้องให้ “รัฐบาล” ทำเรื่องยืนยัน เพื่อให้ “ร่างกฎหมาย-ญัตติ” เดินหน้าต่อในขั้นตอนที่ค้างพิจารณา 

 

        สำหรับท่าทีของ “ส.ว.” ​ต่อญัตติทำประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั้น เบื้องต้นยังไม่มีข้อสรุปในทิศทางที่ชัดเจน แน่นอน 

 

        ทว่า กรณีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ “รัฐสภา” เคยพิจารณา และมีประเด็นเกี่ยวการตั้ง "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" (ส.ส.ร.) พิจารณา  เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2563  ผลในชั้่นรับหลักการ พบว่า ได้รับเสียงสนับสนุนท่วมท้น

"ส.ว." ยื้อ “ญัตติประชามติ”  “รัฐบาล” ไม่จริงใจแก้ “รธน.60”

        โดย “ส.ว.” ร่วมลงมติรับหลักการ ด้วยถึง 176 เสียง  แต่เมื่อเข้าสู่วาระสอง  เมื่อ 24 - 25  กุมภาพันธ์  2564  พบประเด็นที่ผันแปร

         โดยเฉพาะ ร่างมาตราที่กำหนดถึงที่มาของ “ส.ส.ร.” ซึ่งกรรมาธิการฯ เขียนให้ “ส.ส.ร. 200 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน” พบว่า มีส.ว. เห็นด้วย แค่ 12 คน งดออกเสียง 12 คน ส่วนเสียงส่วนใหญ่ “ไม่เห็นด้วย” 

 

         ขณะที่  “วาระสาม" ที่ต้องลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับนั้น มีญัตติคั่นกลาง เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่เสนอโดย “ส.ส.ไพบูลย์ นิติตะวัน และ ส.ว.สมชาย แสวงการ” ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยมติของรัฐสภา เห็นชอบให้ส่งศาล โดยพบว่ามีส.ว. 230 คนที่สนับสนุน 

"ส.ว." ยื้อ “ญัตติประชามติ”  “รัฐบาล” ไม่จริงใจแก้ “รธน.60”

         ดังนั้นการลงมติต่อญัตติที่เสนอให้ “ครม.” ทำประชามติ ว่า "ประชาชนจะเห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” หรือไม่ ของส.ว. ครั้งนี้  เมื่อเทียบกับผลโหวตในครั้งที่ยกมา อาจพอเทียบเคียงกันได้ว่า จะมีผลเป็นอย่างไร

 

         แม้อำนาจการตัดสินใจจะทำ “ประชามติ”  ไม่ได้อยู่ที่ส.ว. เพราะตามกฎหมายประชามติ คือ “รัฐบาล” ต้องตัดสินใจ แต่กรณีที่  “ส.ว.”  ส่งสัญญาณ ผ่านการ “ประวิงเวลา”  นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือบทสะท้อนความนึกคิด ของ  “รัฐบาล” ที่ไร้ความจริงใจต่อการ "แก้กติกาสูงสุด” เพื่อสร้างความเป็นธรรมและเป็นที่ยอมรับกับทุกฝ่าย.