วิปวุฒิสภา บรรจุญัตติประชามติแก้รธน.21พ.ย.-ตั้งกมธ.ศึกษาก่อนโหวต

วิปวุฒิสภา บรรจุญัตติประชามติแก้รธน.21พ.ย.-ตั้งกมธ.ศึกษาก่อนโหวต

วิปวุฒิสภา มีมติบรรจุญัตติ ชง "ครม." ทำประชามติทำรธน.ทั้งฉบับ 21 พ.ย.นี้ "วัลลภ" เผยต้องตั้งกมธ.ศึกษาก่อนกลับมาลงมติอีกครั้ง เชื่อ วุฒิสภาทำทัน เว้นมีการยุบสภา

         นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) แถลงผลการประชุมวิปวุฒิสภา ว่า ที่ประชุมมีมติให้บรรจุญัตติที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดการออกเสียงประชามติถามความเห็นประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน เป็นเรื่องด่วน ทั้งนี้การเสนอดังกล่าวนั้นเป็นไปตาม ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2565 มาตรา 9(4)  โดยตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ กำหนดว่าเมื่อสภาฯ ลงมติเห็นชอบกับญัตติดังกล่าว ให้ประธานสภาฯ แจ้งมติพร้อมสาระสำคัญให้วุฒิสภาทราบ ซึ่งวุฒิสภาต้องดำเนินการตามข้อบังคับต่อไป

         ทั้งนี้นายคำนูณให้สัมภาษณ์โดยแสดงความเห็นส่วนตัวว่าการลงมติในญัตติดังกล่าวแม้สภาฯ และ ส.ว. จะเห็นด้วยกับญัตติ แต่ไม่ได้หมายความว่า ครม. จะเห็นด้วย เพราะทางปฏิบัติ ครม.​ ต้องปรึกษากรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเฉพาะกรณีที่เสนอให้ ทำประชามติวันเดียวกับการเลือกตั้งทั่วไป โดยส่วนตัวมองว่ามีประเด็นต้องพิจารณา คือ เป็นเรื่องของกฎหมายคนละฉบับ กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งมีความแตกต่างกัน ขณะที่ระยะเวลากการปฏิบัติมีความเหลื่อมล้ำกัน เพราะการเลือกตั้งมีเวลามากสุด 60 วัน ส่วนทำประชามติมีกรอบเวลา 90-120 วัน ทั้งนี้การออกเสียงประชามติในเรื่องสำคัญ วันเดียวกันอาจมีผลดีและผลเสียต่อผู้ถูกรับเลือกตั้งของแต่ละพรรคได้

 

         นายคำนูณ กล่าวด้วยว่าการทำประชามติดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกับเนื้อหาที่จะเสนอให้เกิดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เช่น การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

 

        ขณะที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. ฐานะวิปวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า  วิปวุฒิสภามีมติให้บรรจุวาระในวันที่ 21 พฤศจิกายน โดยหลักการต้องตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษา โดยมีกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ ประมาณ 60 วัน อย่างไรก็ดีเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญอาจใช้เวลาพิจารณาที่รวดเร็ว เบื้องต้นตนมองว่าหลังจากที่ 21 พฤศจิกายน วุฒิสภาตั้งกรรมาธิการได้ การนำกลับเข้ามาให้ที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติอาจอยู่ในช่วงเดือนมกราคม 2566 ส่วนตัวมองว่าการพิจารณาของวุฒิสภาจะทำได้ทัน ยกเว้นมีการยุบสภาเกิดขึ้นก่อน.