ประชุม APPF30 วันสุดท้าย จับตาแถลงการณ์ร่วมความมั่นคงทางไซเบอร์-ลดโลกร้อน

ประชุม APPF30 วันสุดท้าย จับตาแถลงการณ์ร่วมความมั่นคงทางไซเบอร์-ลดโลกร้อน

ประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก เดินหน้าสู่วันสุดท้ายของการประชุม วันนี้เป็นการประชุมเต็มคณะเพื่อแสวงหาความร่วมมือ "กิตติ" เผยร่างแถลงการณ์มีประเด็นความมั่นคงไซเบอร์-ลดโลกร้อน-ส่งเสริมประชาธิปไตยและสันติภาพ

        ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ครั้งที่ 30  ซึ่งรัฐสภาไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงาน ตั้งแต่วันที่ 26 - 28 ตุลาคม ทั้งนี้ไฮไลต์สำคัญของการประชุมวันสุดท้าย คือ การประชุมเต็มคณะถึงการสร้างความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดย ประเด็นที่หยิบยกมาหารือ คือ ความร่วมมือ ด้านการลดภาวะโลกร้อน ภาวะเรือนกระจก ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ที่จะส่งผลการพัฒนาที่ยั่งยืนของมนุษย์ และการสนับสนุนการใช้พลังงานสีเขียว ใช้ทรัพยากร และ พลังงาน หมุนเวียน พร้อมสนับสนุนให้มีพื้นที่ทำเกษตรกรรมให้มาขึ้น เพื่อลดการใช้ก๊าซเรือนกระจก

 

         ทั้งนี้ตามกำหนดการ การประชุม APPF30 เวลา 14.00 น. จะมีการรายงานผลการประชุม APPF การรับรองข้อมติและแถลงการณ์ร่วม /การลงนามในแถลงการณ์ร่วม

         ทั้งนี้ นายกิตติ วะสีนนท์ ส.ว. ฐานะประธานการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วม เปิดเผยถึงร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วมว่า ประเทศไทยในหัวข้อความมั่นคงทางไซเบอร์ซึ่งได้รับการยอมรับและมีหลายประเทศให้การสนับสนุน เช่นออสเตรเลีย แคนาดา มาเลเซียและกัมพูชา  นอกจากนั้นยังมีหัวข้อเรื่องการจัดงบประมาณให้สอดคล้องกับองค์ประกอบของประเทศ  ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐสภาในแต่ละประเทศต้องให้ความสำคัญ และการให้ผู้หญิงได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเท่าเทียม รวมถึงการประชุมสมาชิกรัฐสภาสตรี ซึ่งประเทศไทยมีแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ประธานการประชุม สมาชิกรัฐสภาสตรี เข้าร่วมประชุม

  

         นายกิตติ กล่าวด้วยว่าสำหรับ ข้อมติของคณะทำงานความร่วมมือในภูมิภาคเสนอให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคและสร้างความเข้าใจในความหลากหลายของวัฒนธรรม ส่วนด้านเศรษฐกิจมีการเสริมสร้างการเชื่อมโยงและการขยายประสิทธิภาพของเศรษฐกิจดิจิทัล ในเอเชียแปซิฟิก ส่วนด้านการเมืองและความมั่นคงมีข้อเสนอเรื่องรัฐสภากับการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนหลังสถานการณ์ โควิด-19  เพื่อให้มีการส่งเสริมประชาธิปไตยและสันติภาพและความมั่นคงร่วมกัน  รวมถึงการใช้พลังงานทดแทน หรือเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ที่จะทำให้บรรลุข้อตกลงความเป็นกลางทางคาร์บอน, เรื่องคาบสมุทรเกาหลี, การส่งเสริมบทบาทของรัฐสภาด้านการทูต เพื่อความมั่นคงในภูมิภาค 

 
           "ส่วนข้อมติของคณะการประชุมสมาชิกสภาสตรี คือการเสริมสร้างพลังให้กับสตรีที่จะเผชิญวิกฤตต่างๆในอนาคต และการสร้างความเข้มแข็งให้กับการเข้าร่วมของสตรีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 และการพัฒนาการให้บริการด้านสุขภาพ รวมถึงการเพิ่มโอกาสของการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขปฐมมาภูมิทั้งนี้จากร่างข้อมติและแถลงการณ์ร่วมของการประชุมครั้งนี้ จะมีการติดตามผล โดยคณะเลขานุการประเทศเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้คือประเทศไทยร่วมกับเจ้าภาพการประชุมครั้งต่อไปคือฟิลิปปินส์" นายกิตติ กล่าว.