"ก้าวไกล" หงายไพ่แก้ ม.112 เกม "ทะลุฟ้า" โกยแต้มเลือกตั้ง

"ก้าวไกล" หงายไพ่แก้ ม.112   เกม "ทะลุฟ้า" โกยแต้มเลือกตั้ง

อีกหนึ่งสมการที่ต้องถูกนำมาคิดรวมคือ “นิวโหวตเตอร์” ที่จะมีสิทธิการเลือกตั้งในปี 2566 (ตามการคะเนของ กกต.) ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2566 จะมีราว 811,607 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 52 ล้านคน เป็นอีกจุด “ชี้ขาด” ผลการเลือกตั้งได้

การเปิดนโยบายครั้งแรกของ “พรรคก้าวไกล” สร้างแรงกระเพื่อมให้กับทุกองคาพยพในสังคมไทยอีกครั้ง

พลันที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย “ระดับนำ” ในพรรค เช่น “พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค “รังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรค “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารและรณรงค์นโยบายของพรรค เปิดนโยบายชุดแรก “การเมืองไทยก้าวหน้า

ประเด็นที่ถูกหลายฝ่ายพุ่งเป้าวิพากษ์วิจารณ์หนีไม่พ้น 2 นโยบายสำคัญคือ “นิรโทษกรรม” ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองตั้งแต่ปี 2557 และการปูทางแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งหมายรวมไปถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

เรียกได้ว่า 2 นโยบายนี้พุ่งชน “กล่องดวงใจ” ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเข้าทันที จนขั้วตรงข้ามถูกวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของ “ก้าวไกล” อย่างหนัก รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล เช่น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ขวางลำห้ามแก้ไข “ม.112” อย่างเด็ดขาด

ที่ผ่านมา “พรรคก้าวไกล” ย้อนไปตั้งแต่สมัยก่อร่างสร้าง “พรรคอนาคตใหม่” ช่วงปลายปี 2561 ผู้นำทางความคิดอย่าง “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ร่วมกับ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตอาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ หนึ่งในกลุ่ม “นิติราษฎร์” ประกาศนโยบาย “การเมืองใหม่” สร้างความหวังให้กับเยาวชนทั่วประเทศ จนส่ง ส.ส.เข้าสภาไม่ต่ำกว่า 81 คน ในการเลือกตั้งปี 2562

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพของ “ก้าวไกล” ในสายตาประชาชนทั่วไป ถูกผูกโยงเกี่ยวกับ “ม็อบ” ต่อต้านการรัฐประหารโดย คสช.ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เช่น ปี 2561 ดึง “รังสิมันต์ โรม” หนึ่งในแกนนำม็อบมาลง ส.ส.จนได้เป็น “ปาร์ตี้ลิสต์” หรือปัจจุบันในการเลือกตั้งครั้งหน้าเตรียมส่ง “โตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ” อดีตหัวหน้าการ์ดวีโว่ แนวร่วม “ม็อบราษฎร” มาลง ส.ส.เขตบางนา พระโขนง จนเกิด “ดราม่า” มาแล้ว

ภาพลักษณ์เป็น “เนื้อเดียว” กับม็อบย่อมไม่แปลกที่จะนำเสนอนโยบาย “พลิกฟ้า-คว่ำแผ่นดิน” อีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้ว่าจะมีเสียงทัดทานจากบรรดา ส.ส. ในพรรคบางส่วนในช่วงที่ผ่านมา จนสุดท้ายบรรดา ส.ส.เหล่านั้น “แปรพักตร์” กลายเป็น “งูเห่า” ไปแล้วหลายคน เช่น กลุ่มของ “คารม พลพรกลาง” ที่ตัวอยู่ “ก้าวไกล” แต่ใจไปนั่งอยู่ “ภูมิใจไทย” เป็นต้น

แต่บรรดา “เลือดแท้สีส้ม” คนใกล้ชิด “ธนาธร-ปิยบุตร” ยังคงยืนยันเดินหน้านโยบายดังกล่าวต่อ เนื่องจากเห็นว่าปัญหาที่ผ่านมาของไทย มิใช่แค่การบริหารงานของรัฐบาล หรือตัวนายกฯ แต่อยู่ที่ปัญหาเชิงโครงสร้างฐานราก จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงประเทศโดยด่วน

ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรค สายตรง “กลุ่มเพื่อนเอก” เคยเล่าไว้ในบทสัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจเมื่อปลายเดือน ก.ย. 2565 เกี่ยวกับความท้าทายในเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า คำถามใหญ่คือ เราจะมีพรรคการเมืองเพิ่มอีกพรรคทำไม ถ้าเราทำเหมือนกับพรรคการเมืองอื่น

"เรื่อง ม.112 เองเป็นเรื่องที่เราตัดสินใจแสดงจุดยืน และข้อเสนอต่อสังคม เมื่อเห็นว่าเป็นปัญหาอย่างหนักหน่วงไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้ฐานะนักการเมือง หรือพรรคการเมือง เราอยู่เฉยไม่ได้ เราตั้งคำถามกับตัวเองว่ามันเป็นปัญหาใหญ่แบบนี้ได้อย่างไร ถ้าเราไม่พูดอะไรกับมันเลย ไม่บอกว่ามันเป็นปัญหา ควรแก้ไขอย่างไร มันไม่มีความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองนี้"

ประเด็นต่อไปที่น่าสนใจคือ “แนวร่วมสีส้ม” มีมากน้อยแค่ไหนที่พร้อมจะสนับสนุน เพื่อให้ “ก้าวไกล” ขับเคลื่อนนโยบายนี้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้

“ระดับนำ” ในพรรคเคยกางสมการ “คณิตศาสตร์การเมือง” ไว้ว่า ปัจจุบันพรรคมี ส.ส.เขต ที่พร้อมจะไปต่อราว 16 ที่นั่ง ที่คาดว่าจะป้องกันแชมป์ไว้ได้ จากทั้งหมด 30 เขตที่เป็น “ฐานเสียงเข้มข้น” กระจายอยู่ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และภาคเหนือ

ส่วนที่เหลืออีกราว 100 เขต กระจายอยู่ทุกภาคในไทย มีฐานเสียงเมื่อปี 2562 ตุนไว้ในมือราว 20,000 คะแนน ส่วนใหญ่ได้ลำดับที่ 2 พ่ายลำดับที่ 1 ในการเลือกตั้งไปไม่กี่พัน-กี่ร้อยคะแนนเท่านั้น 

โดยปัจจุบันมีผู้สมัคร ส.ส.ใหม่ที่คัดสรร “ดีเอ็นเออนาคตใหม่” มาแล้ว จึงเชื่อว่าน่าจะกวาดเก้าอี้ได้อีกจำนวนหนึ่ง เพราะหลายพรรคใหญ่ทั้ง “เพื่อไทย” และ “พปชร.” ต่างมีพรรคอื่น ๆ อุดมการณ์เดียวกันคอยตัดแต้มอยู่

ดังนั้นการคาดการณ์ว่าได้ ส.ส.อย่างมาก 130 ที่นั่ง อาจไม่ใช่เรื่อง “เพ้อฝัน” อย่างที่หลายคนปรามาสเอาไว้

ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ล่าสุดเมื่อกลางปี 2565 สะท้อนให้เห็นว่าความนิยมของ “ก้าวไกล” ยังคง “กระแสสูง” ในพื้นที่ กทม. โดยเฉพาะ ส.ก.ได้คะแนนเสียงไปราว 485,830 คะแนน นำพา ส.ก.ก้าวไกลเข้าสภา กทม.ไป 13 ที่นั่ง เมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 ได้ป๊อปปูล่าร์โหวตใน กทม.ไปราว 804,272 คะแนน นำพา ส.ส.เข้าสภาไป 9 ที่นั่ง

จำนวนเสียงที่ต่างกันราว 2 แสนคะแนนดังกล่าว “ระดับนำ” ในก้าวไกลยอมรับว่าเป็นคะแนนที่เทมาจาก “พรรคไทยรักษาชาติ” แต่ปัจจุบันการลงพื้นที่อย่างหนักของว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. “เลือดใหม่” ของก้าวไกล เชื่อว่าจะได้คะแนนกลับมาใกล้เคียง หรือสูสีกับผลการเลือกตั้งปี 2562

อีกหนึ่งสมการที่ต้องถูกนำมาคิดรวมคือ “นิวโหวตเตอร์” ที่จะมีสิทธิการเลือกตั้งในปี 2566 (ตามการคะเนของ กกต.) ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ในปี 2566 จะมีราว 811,607 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 52 ล้านคน เป็นอีกจุด “ชี้ขาด” ผลการเลือกตั้งได้

แน่นอนว่าบรรดา “บ้านมีรั้ว-ตึกสูง” ซึ่งเป็น “ชนชั้นกลาง” เสียส่วนใหญ่ คือฐานคะแนนเข้มข้นของ “ก้าวไกล” แต่จุดอ่อนสำคัญคือ “ชุมชน-บ้านในซอย” ที่ยังคงเข้าถึงยาก เพราะนโยบายของก้าวไกลไม่ได้เน้นเชิงเศรษฐกิจ-ปากท้องเป็นหลัก

การหมายมั่นปั้นมือหวังวางนโยบายทางการเมืองสำคัญที่สะเทือนทั้งประเทศขนาดนี้ จำเป็นต้องมี ส.ส.เข้าสภาจำนวนมาก ดังนั้นการแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าวคือเรื่องสำคัญที่สุดในตอนนี้ นอกเหนือจากการ “ปักธงความคิด” ไปทั่วทุกหัวระแหงของไทย ที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จไปแล้ว