พปชร.อ่อนแรง“3 ป.”เคลียร์ไม่ลงตัว-“ภูมิใจไทย”ขั้วหลักสู้“เพื่อไทย”

พปชร.อ่อนแรง“3 ป.”เคลียร์ไม่ลงตัว-“ภูมิใจไทย”ขั้วหลักสู้“เพื่อไทย”

“ภูมิใจไทย”ขั้วหลักสู้“เพื่อไทย” “พรรคทักษิณ”ชนะเลือกตั้งทุกครั้ง พรรคพลังประชารัฐอ่อนแรง “3 ป.” เคลียร์ไม่ลงตัว

ตั้งแต่ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าสู่ถนนทางการเมือง ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย ทั้ง 3 พรรค เป็นพรรคการเมืองการเมือง “ขั้วหลัก” ที่ชนะการเลือกตั้งมาทุกครั้ง แม้ครั้งล่าสุดพรรคเพื่อไทย จะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่คว้าเก้าอี้ ส.ส. ได้มากที่สุด

ตรงกันข้ามกับขั้วตรงข้ามของ “พรรคทักษิณ” สลับสับเปลี่ยนกันขึ้นมาท้าชิง แต่ไม่สามารถโค่นล้มแชมป์ได้ เนื่องจากคะแนนนิยม-ฐานเสียงจากพื้นที่ภาคอีสาน-ภาคเหนือ ซึ่งมีที่นั่ง ส.ส. จำนวนมากของ “ทักษิณ” ยังสูงลิบ หากจะเอาชนะต้องเจาะพื้นที่ไข่แดง โฟกัสไปที่ภาคอีสาน

ย้อนรอยคู่แข่ง-คู่แค้นในยุคพรรคไทยรักไทย โดยพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นคู่ท้าชิงลำดับหนึ่งมาโดยตลอด โดยในปี 2544 “ทักษิณ” ประกาศลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนำพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส. 248 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ “ชวน หลีกภัย” ได้ส.ส. 128 ที่นั่ง

ก่อนที่จะจัดตั้งรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคชาติไทย 41 ที่นั่ง พรรคความหวังใหม่ 36 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนา 29 ที่นั่ง และพรรคเสรีธรรม 14 ที่นั่ง หลังจากนั้นพรรความหวังใหม่ พรรคชาติพัฒนา และพรรคเสรีธรรม ยุบรวมกับพรรคไทยรักไทย ทำให้ชายชื่อ “ทักษิณ” ผนึกอำนาจทางการเมืองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามนโยบาย “ประชานิยมภาคแรก” โดนใจประชาชน หลายนโยบายทำได้จริง อาทิ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อย เป็นเวลา 3 ปี เป็นต้น ทำให้คะแนนนิยมของ “ทักษิณ” พุ่งสูงขึ้น

ที่สำคัญการควบรวมพรรคการเมือง มาอยู่ภายใต้ชายคาของพรรคไทยรักไทย ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองของ “ทักษิณ” แข็งแกร่ง และสามารถอยู่จนครบเทอม 4 ปีได้แบบสบายๆ

ต่อมาการเลือกตั้งปี 2548 พรรคไทยรักไทยกวาด ส.ส. เข้าสภารวมกันมากถึง 377 ที่นั่ง ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 96 ที่นั่ง พรรคชาติไทย 25 ที่นั่ง และพรรคมหาชน 2 ที่นั่ง ทำให้ “ทักษิณ” เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

แม้รัฐบาลไทยรักไทย 2 จะมีเสถียรภาพทางการเมืองจนฝ่ายค้านไม่สามารถยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 ได้ แต่เริ่มมีแรงต้านนอกสภา ปมบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขายหุ้นให้กองทุนเทมาเส็กของรัฐบาลสิงคโปร์เป็นเงิน 73,300 ล้านบาท สุดท้ายต้องตัดสินใจยุบสภาในวันที่ 24 ก.พ. 2549

หลังจากนั้นได้กำเนิดชนวนความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมหาชน จับมือบอยคอตการเลือกตั้ง 2 เม.ย. 2549 ส่งผลให้พรรคไทยรักไทยคว้าชัย แต่เกิดปมขัดแย้งทางการเมือง สุดท้าย “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยให้การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ รวมถึงการชุมนุมของ “กลุ่มพันธมิตร” นำมาสู่การรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549

ทว่าการเลือกตั้ง 23 ธ.ค. 2550 ก็ยังเป็น “พรรคทักษิณ” ในนามพรรคพลังประชาชนคว้าชัยอีกครั้งได้ 256 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 162 ที่นั่ง พรรคชาติไทย 29 ที่นั่ง พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาได้ 15 ที่นั่ง พรรคเพื่อแผ่นดินได้ 10 ที่นั่ง พรรคประชาราชได้ 4 ที่นั่ง และพรรคมัชฌิมาธิปไตยได้ 4 ที่นั่ง

ทำให้พรรคพลังประชาชน ภายใต้การนำของ “สมัคร สุนทรเวช” จัดตั้งรัฐบาล ทว่าศาลรัฐธรรมนูญมีวินิจฉัยกรณีจัดรายการชิมไปบ่นไป ขัดคุณสมบัติรัฐบาล ทำให้ “สมัคร” หลุดจากเก้าอี้ จุดเปลี่ยนอยู่ที่ “ทักษิณ” ไม่ไว้วางใจนายกฯนอก “ตระกูลชิน” จึงเชิด “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” (สามีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวนายทักษิณ) มานั่งเก้าอี้นายกฯแทน ท่ามกลางการชุมนุมขับไล่ของ “กลุ่มพันธมิตร”

จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ “สมชาย” หลุดจากเก้าอี้นายกฯ เป็นจุดก่อกำเนิด “กลุ่มเพื่อนเนวิน” เปิดดีลกับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ขน ส.ส. ออกจาก “พรรคทักษิณ” ตั้งพรรคภูมิใจไทย โหวตสนับสนุน “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ขึ้นเป็นนายกฯ

การเลือกตั้งปี 2553 พรรคประชาธิปัตย์แท๊กทีมกับพรรคภูมิใจไทย ถือครองอำนาจรัฐทำศึกเลือกตั้ง แบ่งโซนให้พรรคภูมิใจไทยรับผิดชอบสมรภูมิอีสาน เจาะไข่แดงพรรคเพื่อไทย ที่ชูน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งเก้าอี้นายกฯ

แต่ไม่สามารถโค่น “พรรคทักษิณ” ลงได้ โดยพรรคเพื่อไทยได้ 265 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 159 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 34 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนาได้ 19 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินได้ 7 ที่นั่ง พรรคพลังชลได้ 7 ที่นั่ง

พรรคเพื่อไทย จับมือพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พรรคพลังชล จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยมี “ยิ่งลักษณ์” นั่งเก้าอี้นายกฯ การบริหารประเทศค่อนข้างมีเสถียรภาพพอสมควร แต่การผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย เป็นจุดกำเนิดกลุ่ม กปปส. ก่อนจะชุมนุมกดดันจน “ยิ่งลักษณ์” ต้องยุบสภา ต่อด้วยการรัฐประหารของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเวลาต่อมา

จากนั้นการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 ก่อกำเนิดพรรคพลังประชารัฐ เพื่อต่อยอดอำนาจของ “พล.อ.ประยุทธ์” โดยดีไซน์รัฐธรรมนูญ 2560 ให้ 250 ส.ว. ที่ตั้งโดยคำสั่งคสช.โหวตเลือกนายกฯได้ ทำให้ “นักเลือกตั้ง” ระดับบิ๊กเนมหลายคนทยอยเข้าพรรคพลังประชารัฐ จนกลายเป็น “ขั้วหลัก” สู้กับพรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทย ที่ชู “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ คว้าชัยในสนามเลือกตั้ง โดยได้ ส.ส. 136 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ 97 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ 81 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ 53 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 51 ที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทย 10 ที่นั่ง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง เป็นต้น

ทว่าด้วยกลไก 250 ส.ว. โหวตเลือกนายกฯได้ ทำให้พรรคพลังประชารัฐ จับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคเล็ก ผนึกกับ 250 ส.ว. โหวตเลือก “พล.อ.ประยุทธ์” กลับมานั่งเก้าอี้นายกฯอีกคำรบ

แต่การบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งของ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่ราบรื่นเสมือนยุคคสช. ศึกแย่งชิงอำนาจภายในพรรคพลังประชารัฐมีสูง ยิ่ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค “ทีมประวิตร” ที่แบ็คอัพแน่น คอยเลื่อยขา “พล.อ.ประยุทธ์” รวมถึงการบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่เข้าตาประชาชน ทำให้พรรคพลังประชารัฐเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว

ส่งผลให้ ส.ส. พลังประชารัฐ อ่านการเมืองออกว่าหากยังอยู่ภายใต้ชายคาของพรรคพลังประชารัฐ โอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งครั้งหน้ามีน้อย จึงมีข่าว ส.ส. พาเหรดออกจากพรรค

สถานีต่อไปของ ส.ส. พลังประชารัฐ โฟกัสไปที่พรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีระบบบริหารจัดการภายในพรรคดีที่สุด การดูแล ส.ส. การแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรี ค่อนข้างลงตัว ทำให้ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคแทบไม่มี “ครูใหญ่เนวิน” กดปุ่มซ้ายหันขวาหันไม่มีใครขัดข้อง

เมื่อพรรคพลังประชารัฐอ่อนแรงลง เมื่อ “3 ป.” ยังเคลียร์ใจกันไม่ลง เมื่อการเลือกตั้งใกล้จะมาถึง การสู้ศึกในสนามเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคภูมิใจไทยจึงถูกมองว่าจะมาเป็น “ขั้วหลัก” ในการสู้ศึกกับพรรคเพื่อไทย

ซึ่งต้องจับตาว่า “บุรีรัมย์แลนด์” กับ “แลนด์สไลด์” ยี่ห้อไหนจะคว้าเก้าอี้ ส.ส. ได้มากกว่ากัน เพราะรอยแผลเก่าในอดีตของ “เนวิน” ที่ฝากไว้ให้ “ทักษิณ” ไม่มีทางที่จะกลับมาญาติดีกันได้ จึงต้องทุ่มสุดตัวเพื่อ “อำนารัฐ” อันหอมหวล