“ดร.ณัฎฐ์” ชี้ช่อง ผู้สมัคร ส.ส.จะสังกัดหรือย้ายพรรค กรณีรัฐบาลอยู่ครบวาระ

“ดร.ณัฎฐ์” ชี้ช่อง ผู้สมัคร ส.ส.จะสังกัดหรือย้ายพรรค กรณีรัฐบาลอยู่ครบวาระ

“ดร.ณัฎฐ์” ชี้ช่อง ผู้สมัคร ส.ส.จะสังกัดหรือย้ายพรรค กรณีรัฐบาลอยู่ครบวาระ ระยะเวลา 90 วัน กฎหมายให้นับถึงวันเลือกตั้ง ไม่ใช่วันสิ้นอายุสภา

วันที่ 16 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กระแสหลายฝ่ายออกมาให้ข่าวในทำนองกรณีการย้ายพรรควันสุดท้าย คือ วันที่ 24 ธันวาคม 2565 โดยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ได้โพสต์ข้อเขียนผ่านเฟซบุ๊ก เรื่อง ยุทธวิธีโจโฉ “ผู้ไม่ยอมให้โลกทรยศ” วิเคราะห์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะยุบสภาก่อน 24 ธันวาคมนี้ โดยมีรายละเอียดทั้งหมด ดังนี้

“วันที่ 24 ธันวาคม 2565 คือ 90 วัน ก่อนครบวาระสภา เป็นวันสุดท้ายที่ ส.ส.จะย้ายพรรคและไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคใหม่ได้ภายใน 90 วัน ไม่งั้นก็สมัคร ส.ส.ไม่ได้”

ผู้สื่อข่าวจึงได้สัมภาษณ์ ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” ปรมาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญ ชื่อดัง ได้อธิบายและให้ความรู้แก่ประชาชน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญได้บัญญัติวิธีการสังกัดพรรคการเมืองและเงื่อนเวลาเอาไว้ในมาตรา 97(3) ได้แก่ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลาเก้าสิบวันดังกล่าวให้ลดลงเหลือสามสิบวัน คำว่า “นับถึงวันเลือกตั้ง” แปลความหมายว่า กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป ในวันใด ให้นับเวลาถึงวันนั้น ย้ำไม่ใช่ นับถึงวันครบกำหนดอายุสภา 23 มีนาคม 2566 รัฐธรรมนูญ มาตรา 97(3) เขียนไว้ชัดเจนว่า ให้นับถึงวันเลือกตั้ง

 โดยในวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา กกต.กางแผนกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.กรณีรัฐบาลอยู่ครบวาระ กกต. จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 102 คือ กำหนดแผนงานและเคาะไว้ คือ วันที่ 7 พฤษภาคม 2566 วิธีนับวันคณิตศาสตร์ทางการเมืองให้นับระยะเวลาย้อนหลัง 90 วัน คือ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566  (7 กุมภาพันธ์-7 พฤษภาคม 2566)

ดังนั้น กรณีผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ หรือ ส.ส.หรือว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.จะย้ายพรรค วันสุดท้ายไม่ใช่ วันที่24 ธันวาคม 2565  (24 ธันวาคม 2565-24 มีนาคม 2566) ตามที่หลายฝ่ายหรือ รองหัวหน้าพรรค บางคน อดีต ส.ส.หลายสมัย ที่ย้ายพรรค ดังนั้น ผู้ที่จะประสงค์เสนอตัวลงสมัคร ส.ส.ต้องศึกษาเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และกฎเหล็กกติกาเลือกตั้งล่วงหน้า 180 วัน ซึ่งมาตรา 68(1) ประกอบมาตรา 73 มีบทลงโทษทางอาญา ต้องศึกษากฎหมาย ระเบียบข้อบังคับให้ถ่องแท้ แต่ในขณะเดียวกัน กรอบ 180 วันนับถึงวันสิ้นอายุสภา รัฐธรรมนูญยังเปิดช่องให้ หาก ส.ส.เขต ลาออก ไม่ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ไม่ต้องเสียงบประมาณจัดการเลือกตั้งจาก กกต.

แต่เท่าที่สังเกต หลังวันที่ 24 กันยายน 2565 เป็นต้นมา ในปัจจุบัน ส.ส.เขต ยังไม่มีใครทิ้งเก้าอี้ จะมีเพียงไปโผล่ร่วมงานวันเกิด นายเนวิน ชิดชอบ ครูใหญ่พรรคภูมิใจไทย อันเป็นเหตุผลทางการเมืองมากกว่าไปอวยพรวันเกิด ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญยังเปิดช่องในการจัดการเลือกตั้งกรณีมีเหตุยุบสภา ภายใน 5 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ให้ กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ

ขณะเดียวกัน มาตรา 97(3) ตอนท้าย การย้ายพรรค ระยะเวลาลดลงจาก 90 วัน เหลือ 30 วัน ยกตัวอย่าง รัฐบาลมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา วันที่ 20 ก.พ.2566 ให้นับไปอีก 5 วัน คือ 25 กุมภาพันธ์ 2566 และให้นับเวลาที่ กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้นับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ บวก 60 วัน กกต.จะกำหนดวันเลือกตั้ง ไม่เกิน 25 เมษายน 2566 เป็นต้น อยู่ที่ความได้เปรียบของรัฐบาล จึงไม่มีความจำเป็นยุบสภาหลังการประชุมเอเปกในเดือนพฤศจิกายน 2565

ผู้สื่อข่าวถามว่า ระยะเวลา หลัง 24 ธค. สภาผู้แทนราษฎร จะเปิดประชุม หรือ เสนอกฎหมายอะไรไม่ได้เลย คว่ำแน่ 100 % สภาหลัง 24 ธค. จึงไม่มีประโยชน์อีกต่อไป ท่านมีความเห็นอย่างไร ดร.ณัฎฐ์ อธิบายว่า จะต้องพิจารณาถึงมติองค์ประชุมในสภาด้วย หน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องมีหน้าที่ประชุมสภา เพราะมีจริยธรรมของ ส.ส.และสว.บังคับอยู่ อย่าลืมนะว่า ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 235 วรรคหนึ่ง ประหารชีวิตทางการเมือง หากพิจารณาถึง ร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ….ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565-28 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ยังเป็นสมัยประชุมสามัญ ยังไม่มีเหตุจำเป็นอะไร ที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเร่งรีบยุบสภา

ดังนั้น พ้นระยะเวลาวันที่ 24 ธันวาคม 2565 ยังสามารถเปิดประชุมสภาและสามารถเสนอกฎหมายได้ เพราะตัวแปร สำคัญ คือ กรณีอยู่ครบวาระ 90 วัน ให้เริ่มนับ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป ส่วนกรณียุบสภา สังกัดพรรคหรือย้ายพรรค 30 วันให้นับถึงวันเลือกตั้ง ตัวแปรที่สำคัญที่สุด คือ ระบบเลือกตั้งยังไม่ชัดเจนว่าจะใช้ระบบเลือกตั้งแบบใด ระหว่างบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ หรือ บัตรเลือกตั้งใบเดียว และใช้สูตรคำนวณหาร 100 หรือ 500 เพราะศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยว่า ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่  ตั้งข้อสังเกต ดังนี้ 

(1)หากร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ขัดรัฐธรรมนูญเล็กน้อย ส่งกลับไปให้สภาแก้ไขตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  หากขัดรัฐธรรมนูญมาก ผลทางกฎหมาย ร่างดังกล่าวเป็นอันใช้ไม่ได้ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ร่างดังกล่าวย่อมตกไป 
(2)หากรัฐบาลอยู่จนครบวาระ หรือยุบสภา แต่ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ยังไม่ทูลเกล้าฯ และยังไม่ประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษา จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง คือ เท่ากับกฎหมายเลือกตั้งยังไม่แก้ไข ต้องกลับไปใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม บัตรใบเดียว สูตร หาร 500 

แต่กลไกของประเทศยังมีเครื่องมือ กล่าวคือ  หากยุบสภารัฐบาลรักษาการฯ อาจใช้ช่องทางในการตราพระราชกำหนดมาใช้ในการเลือกตั้ง แต่โดยทั่วไป ไม่ทำกันเพราะ พระราชกำหนด ใช้ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนภัยพิบัติของประเทศ ไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.  อีกช่องทางหนึ่ง  กกต.เป็นองค์กรจัดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มีอำนาจควบคุมและจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามมาตรา 224 แห่งรัฐธรรมนูญ สามารถออกระเบียบ กกต.รองรับได้ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ฯ นายกรัฐมนตรี สามารถดำรงตำแหน่งถึงปี 2568 มีผลทางการเมืองหรือไม่ ดร.ณัฎฐ์ กล่าวว่า แยกได้ 2 มิติ ในทางกฎหมาย ท่านนายกรัฐมนตรี จะต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ มาตรา 179 วรรคท้ายและมาตรา 272 พรรคการเมืองที่เสนอจะต้องได้ ส.ส.จำนวน 25 ที่นั่งขึ้นไป และ สมาชิกร่วมสองสภา มีมติเห็นชอบกึ่งหนึ่งถือเสียงข้างมาก แต่ในทางการเมือง ระยะเวลาประมาณ 2 ปีเศษ ถือว่าสั้นไป มีผลสะเทือนในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นช่องให้ฝ่ายตรงข้าม เอาไปขยายผลทางการเมืองได้  หากตัวท่านนายกรัฐมนตรีประสงค์จะทำงานการเมืองต่อ ช่องทางแก้ คือ เสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี เรียงลำดับ 1 ถึง ลำดับ 3 ใช้นโยบายคนละครึ่ง คนละ 2 ปี  

ตัวอย่างเช่น พล.อ.ประยุทธ์ฯ 2 ปี พล.อ.ประวิตร 2 ปี เป็นต้น หรือสร้างทายาททางการเมืองเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่น ตรงนี้ เชื่อว่าในทางการเมืองเป็นไปได้ แต่จุดอ่อน คือ ภายหลังปี 2567 เป็นต้นไป สว.ชุดใหม่จะลดลงเหลือ 200 คน ไม่มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่เลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ.ประยุทธ์ฯ ยังมีฐานสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง รองรับฐานอำนาจและส่วนใหญ่เป็นไปทิศทางเดียวกัน

ส่วนพรรคเพื่อไทย ที่ชูแลนด์สไลด์ ให้ใช้สูตรไหน จับมือกับพันธมิตรทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็น พรรคก้าวไกล เสรีรวมไทย ไทยสร้างไทย สร้างอนาคตไทย เป็นต้น หากไม่สามารถจับมือกับ พรรคภูมิใจไทย และ ปชป.ได้ ตัวแปร คนละอุดมการณ์ทางการเมืองและผลของการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งใหม่ ทำให้จำนวน 350,000 เสียง ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน โอกาสคว้าที่นั่งใน ส.ส.สัดส่วนบัญชีรายชื่อน้อยมาก ดังนั้น ฐานอำนาจทางการเมืองไทย อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกับ สมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง เป็นหมากกระดานสำคัญทำให้คุณทักษิณฝันค้าง แม้ทุ่มสุดตัวส่งบุตรสาวอุ๊งอิงค์ นางสาวแพทองธาร มาเป็น Candidate นายกรัฐมนตรี ลำดับ 2  และบุตรชาย โอ๊ค นายพานทองแท้ ชินวัตร คณะทีมที่ปรึกษาศูนย์ปฏิบัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย คุณทักษิณจะกลับเมืองไทยแบบเท่ห์ๆไม่ได้ ให้ประชาชนผู้สนใจทางการเมือง หากเทียบเคียง ผู้นำทางการเมืองนายปรีดี พนมยงค์หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอดีตนายกรัฐมนตรี กลับบ้านได้หรือไม่ อย่างไร