“ปิยบุตร” ชี้ประเทศอื่นที่มีสถาบันกษัตริย์ ไม่มีปัญหาลงนาม ICC

“ปิยบุตร” ชี้ประเทศอื่นที่มีสถาบันกษัตริย์ ไม่มีปัญหาลงนาม ICC

“ปิยบุตร” ชี้ประเทศอื่นที่สถาบันกษัตริย์ ไม่มีปัญหากับการลงนาม ICC ยกธรรมนูญกรุงโรมเทียบ รธน.ไทย เผยตามหลักสากล “นายกฯ-รัฐบาล” ต้องรับผิดชอบแทนอยู่แล้ว

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ภายหลังได้รับเชิญไปกล่าวในงานเสวนาวิชาการเรื่อง “ICC กับความยุติธรรมที่ยังเอื้อมไม่ถึง” จัดโดย Common School ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายของคณะก้าวหน้า ตอนหนึ่งว่า ประเทศอื่นที่มีกษัตริย์ ไม่มีปัญหาการลงนาม ICC

นายปิยบุตร อธิบายว่า ธรรมนูญกรุงโรมข้อที่ 27 ระบุว่า ต่อให้กฎหมายภายในของรัฐสมาชิกเขียนคุ้มกันไม่ให้ดำเนินคดีเอาไว้ แต่ถึงเวลาเมื่อต้องมาขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ สิ่งที่ถูกเขียนคุ้มกันเอาไว้ จะไม่มีผลคุ้มกันในการพิจารณาตัดสินคดีของอาญาระหว่างประเทศ แต่ข้อนี้ทำไปทำมา กลายเป็นปัญหาของประเทศไทย ที่ฝ่ายต่างๆ นำมาใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม เลยไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ มีการอ้างกันว่า ถ้าลงนามเข้าร่วมจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 8 (ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550) และในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 คือ มาตรา 6 ที่ระบุไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

นายปิยบุตร ระบุว่า ข้อกล่าวอ้างที่ยกมาพูดกันคือ ตามธรรมนูญกรุงโรมข้อที่ 27 ที่ปลดความคุ้มกันออกไปจากกฎหมายภายในประเทศของรัฐสมาชิก ดังนั้นถ้าประเทศไทยเข้าร่วม ก็จะปลดความคุ้มกันของกษัตริย์ไป ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะขัดรัฐธรรมนูญของไทย เลยเข้าร่วมไม่ได้ อันนี้คือเหตุผลที่มีการยกมากล่าวอ้างกัน ทั้ง ๆ ที่การอ้างเช่นนี้ ให้เหตุผลเช่นนี้ไม่เป็นคุณต่อสถาบันกษัตริย์

ประการแรก รัฐที่มีกษัตริย์เป็นประมุขลงนามให้สัตยาบันรับรองธรรมนูญกรุงโรม เข้าร่วมเป็นรัฐสมาชิกศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ สวีเดน สเปน นอร์เวย์ ลักเซมเบิร์ก ญี่ปุ่น มาเลเซีย กัมพูชา ฯลฯ ประเทศเหล่านี้มีรูปแบบการปกครองแบบเดียวกับไทยทั้งสิ้น คือระบอบ Constitutional Monarchy

ประการที่สอง ระบอบ Constitutional Monarchy นั้น กษัตริย์ไม่ได้ทรงใช้อำนาจเอง กล่าวคือ คนที่ต้องรับผิดชอบการกระทำทั้งหมดคือรัฐมนตรีที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ กษัตริย์ไม่เกี่ยว ตามหลัก the king can do no wrong because the king can do nothing เช่น หากรัฐบาลกระทำอะไรผิด ไปก่อสงคราม ไปฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คนที่รับผิดชอบก็คือ รัฐบาล นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้กระทำ เป็นผู้รับผิดชอบ กษัตริย์ไม่เกี่ยว ในทางกลับกัน ยิ่งไปให้เหตุผลแบบที่รอยัลลิสต์บางกลุ่มให้เหตุผลยิ่งเป็นอันตราย เพราะคนจะเริ่มคิดว่า สรุปแล้วเป็นเช่นใดกันแน่ แล้วเอามาใช้อ้างไม่เข้าร่วมกับศาลอาญาระหว่างประเทศเพราะเกรงว่ากษัตริย์จะเกี่ยวข้องหรือไม่ 

“แบบนี้อันตราย ในต่างประเทศเขาไม่ได้สนใจเลย แล้วก็ไม่ได้ให้เหตุผลแบบนี้กันด้วย เพราะตามระบอบ Constitutional Monarchy กษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว รัฐบาลผู้ลงนามรับสนองเป็นผู้ที่ใช้อำนาจที่แท้จริง ดังนั้นต้องไปรับผิดชอบเอง” นายปิยบุตร ระบุ