รีบ “แบ่งเขตเลือกตั้ง” จังหวะ “กกต.” กู้คืน ชื่อ “องค์กรอิสระ"

รีบ “แบ่งเขตเลือกตั้ง” จังหวะ “กกต.” กู้คืน ชื่อ “องค์กรอิสระ"

การเลือกตั้งที่ "กกต." เคาะโรดแมพ และกำหนดไทม์ไลน์ไว้เบื้องต้น สิ่งที่ถูกจับตามากกว่ากติกา "แฟร์เกม" คือ การแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่จะเป็นจุดชี้วัดว่า ฝ่ายไหนจะชนะในแต่ละเขตเลือกตั้ง

        การเมืองเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง อย่างเป็นทางการ   เมื่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศไทม์ไลน์ 180 วันนับระยะการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งยึดเกณฑ์ อายุของสภาผู้แทนราษฎร  23 มีนาคม 2566   และ ออกกฎคุมเข้มเกี่ยวกับการลงพื้นที่ของ “ส.ส.-รัฐมนตรี-ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง-ผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.”  

 

        แม้จะเป็นการทำงาน เพื่อ “เตรียมการควบคุมการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม" ตามวาระปกติ ที่ “กกต.” มีอำนาจ 

 

        ทว่ามีสิ่งที่ “พรรคการเมือง” และ “ผู้จะลงเลือกตั้ง” รอคอยยิ่งกว่าการกำหนดข้อห้าม หรือ ข้อปฏิบัติ คือ "การแบ่งเขตเลือกตั้ง" เพราะมีความสำคัญและเป็นจุดวัดของผลแพ้-ชนะ ในการเลือกตั้งได้

 

        หลังจากที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ถูกแก้ไข โดยปรับปรุง กติกาเลือกตั้ง ให้มี ส.ส.500 คน จากส.ส.แบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขต จากเดิมที่มี 350 เขต และ มีส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน จากเดิม 150 คน พร้อมกับกำหนดให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อให้เลือก “ผู้สมัครส.ส.” ที่รัก และเลือก “พรรคที่ชอบ” 

 

        ทำให้ เขตเลือกตั้งเดิมที่ใช้เมื่อการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป เมื่อปี 2562 ต้องถูกนำมาขีดเส้นใหม่ และ การกะเกณฑ์ประชากรแต่ละเขตต้องปรับเปลี่ยนไปตาม ฐานประชากรล่าสุด โดยเป็นที่คาดกันว่า เขตหนึ่ง จะมีประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่เกิน 1.6แสนคน ซึ่งถือว่าลดไซส์ และ ทำให้ “นักการเมือง” เดินถึงชาวบ้านได้ง่ายมากขึ้น

รีบ “แบ่งเขตเลือกตั้ง” จังหวะ “กกต.” กู้คืน ชื่อ “องค์กรอิสระ"

        แต่ปัญหาสำคัญ ไม่ใช่อยู่ที่ เขตที่เพิ่มขึ้นหรือจำนวนประชากรที่มีสิทธิเลือกตั้งที่ลดลง แต่คือ การขีดเส้นแบ่งเขต ที่สามารถเอื้อประโยชน์ในทางการเมืองให้กับ “ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.” ได้ ผ่านการแบ่งเขตที่อยู่ของ “หัวคะแนน-ฐานเสียง” ที่ เอื้อให้บางพรรคการเมืองหรือ บ้านใหญ่ในพื้นที่  


        อย่างไรก็ดีการแก้ไขปัญหา ความเหลื่อมล้ำ ไม่ยุติธรรม เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง “พรรคเพื่อไทย” เคยเสนอแนวทางให้ปฏิบัติ  เป็นกฎหมาย ใน ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แก้ไขมาตรา 26 ว่าด้วยการกำหนดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดพึงมีและแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยนอกจากกำหนดให้ แบ่งเขตเลือกตั้งให้ติดต่อกันและมีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกันแล้ว ยัง "กำหนดให้มีผลต่างของจำนวนราษฎรในทุกเขตเลือกตั้งไม่เกิน 10%”

 

        และได้รับการสนับสนุนจาก “กรรมาธิการฯ​" ที่ประกอบด้วยทุกพรรคการเมือง พร้อมเพิ่มความเข้มข้น กำหนดเนื้อหาที่เป็นบทเฉพาะเจาะจงลงไปด้วยว่า “การแบ่งเขตเลือกตั้งต้องมีเขตติดต่อกันและมีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ผลต่างของจำนวนราษฎรในเขตเลือกตั้ง ห้ามเกิน 10% ของจำนวนเฉลี่ยของส.ส.หนึ่งคนในจังหวัด เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อให้ราษฎรชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันสามารถเดินทางได้โดยสะดวก”

 

        ทว่าการเล่นแง่กันทางการเมือง เกี่ยวกับสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ว่าจะใช้สูตร 500 หรือ 100 เพื่อหาค่าเฉลี่ยส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบพึงมี ทำให้เนื้อหาที่เป็นบทบัญญัติรับประกันการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่เป็นธรรม ไม่มีความเหลื่อมล้ำในด้านประชากร ไม่ถูกบัญญัติไว้ในร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งที่แก้ไข

รีบ “แบ่งเขตเลือกตั้ง” จังหวะ “กกต.” กู้คืน ชื่อ “องค์กรอิสระ"

        ดังนั้นสิ่งที่ “พรรคการเมือง” พอจะตรวจสอบได้ คือ การเร่งให้ กกต. ประกาศเขตเลือกตั้งโดยเร็ว แม้จะไม่เข้าทาง แต่เพื่อให้การหาเสียงเลือกตั้งในพื้นที่ทำแบบเฉพาะเจาะจงและลงได้ถูกจุด

 

        อย่างไรก็ดี “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตกกต. บอกว่า ตามกฎหมายไม่มีข้อกำหนดว่าจะให้ กกต. ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อใด แต่ตามอำนาจแล้ว กกต. สามารถทำได้ทันที ตอนนี้ ไม่มีข้ออ้างว่าต้องรอร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากขณะนี้เขตเลือกตั้งมีความชัดเจนคือ 400 เขต และจำนวนประชากรทราบแน่ชัดแล้ว ดังนั้นไม่มีเหตุผลที่ “กกต.” จะไม่ทำ 

 

        ขณะที่ข้อเรียกร้องนี้ ถูกส่งเสียงมาจาก “สุรนันทน์ เวชชาชีวะ” รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย เช่นกันว่า “ขอให้กกต.รีบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขตให้ชัดเจน เพราะขณะนี้ผู้สมัครหน้าใหม่เสียเปรียบเจ้าของพื้นที่เดิม ไม่รู้ว่าพื้นที่เลือกตั้งของตนเองมีขอบเขตแค่ไหน สิ่งสำคัญกกต.ต้องเร่งทำงานเพื่อให้ผู้แข่งขันมีโอกาสแนะนำตัวกับประชาชนอย่างเท่าเทียม” 

 

        การแบ่งเขตเลือกตั้ง เมื่อปี 2562  ที่ “กกต.” ชุดของ “อิทธิพร บุญประคอง” เป็น ประธานกกต. กลายเป็นตำบลกระสุนตก  ถูกครหาเกี่ยวกับการแบ่งเขตที่เอื้อประโยชน์บางฝ่าย รอบนั้น “กกต.” ขาดความเป็นอิสระ   เพราะอยู่ภายใต้ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2561 และ ที่ 16/2561 ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งครั้งนั้นทำให้ “กกต.” ได้ชื่อเสีย มากกว่า “ชื่อเสียง”

รีบ “แบ่งเขตเลือกตั้ง” จังหวะ “กกต.” กู้คืน ชื่อ “องค์กรอิสระ"

        ดังนั้น การกำหนดเขตเลือกตั้งส.ส.รอบนี้ ถือเป็นการทำหน้าที่ เพื่อกู้คืนชื่อเสียงขององค์กร.