ถึงเวลาเชิด “หัวหน้าท็อป” ลุ้น“ชาติไทยพัฒนา”คืนถิ่น

ถึงเวลาเชิด “หัวหน้าท็อป” ลุ้น“ชาติไทยพัฒนา”คืนถิ่น

“วราวุธ” จะเป็นแกนหลัก "ชาติไทยพัฒนา" ยุดใหม่ ก้าวต่อจากนี้โฟกัสที่ภาคกลาง เริ่มจากสุพรรณ ขยายไป อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ค่อยๆทำให้พรรคใหญ่ขึ้น จึงพยายามดูดกลับทั้ง “บ้านใหญ่” จังหวัดต่างๆ ที่เคยอยู่ “พรรคชาติไทย” เดิมดันตัวเลขให้ถึงเป้าหมาย 30 +-

ถึงเวลาที่พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ตัดสินใจรีแบรนด์พรรคครั้งใหญ่ เมื่อ “กัญจนา ศิลปอาชา” หัวหน้าขัดตาทัพ ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้มีการปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เข้ามาขับเคลื่อนพรรค รองรับศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

โฟกัสการเมือง จึงจับจ้องไปที่ น้องชาย “ท็อป” วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาการประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรค 

การนัดหมายประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในวันที่ 3 ต.ค.2565 นี้ เป้าหมายหลักคือ การวางโครงสร้าง ผนึก “คนรุ่นใหม่” ร่วมทำงานกับ “คนรุ่นเก๋า” ที่ยังต้องประคับประคองพรรคให้เดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง โดยมีสัญญาณดี เมื่อรุ่นใหญ่ไฟเขียว เปิดทางให้เปลี่ยน “ผู้นำพรรค” เป็นคนรุ่นใหม่ 

ความจริงแล้ว โมเดล “คนรุ่นใหม่” เคยถูกหยิบมาถกเถียงกันภายในพรรคชาติไทยพัฒนาหลายครั้ง แต่ยังไม่หยิบนำมาใช้ เพราะเกรงกว่าการลดบทบาทของ “คนรุ่นเก่า” ทันที อาจทำให้พรรคเสี่ยงล่มสลายได้

ย้อนกลับไปก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ชาติไทยพัฒนาวางโมเดลคนรุ่นใหม่ ให้อิสระในการขับเคลื่อนพรรคอย่างเต็มที่ ภายหลังอ่านเทรนด์การหาเสียงเลือกตั้งแล้วพบว่า บรรดาเฟิร์สโหวต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสนใจมีส่วนรวมทางการเมืองขึ้นเรื่อยๆ
 

ปลายปี 2561 จึงเริ่มเห็นทิศทางการให้บทบาทนักการเมืองรุ่นใหม่ เตรียมเปลี่ยนทีมยกแผง วางตัวกลุ่ม “นิวบลัด” ซึ่งมีทายาทนักการเมืองรุ่นเก่าในพรรคเป็นตัวหลัก  

เริ่มปูทางวางตัว “วราวุธ ศิลปอาชา” ให้ก้าวขึ้นมานั่งหัวหน้าพรรค และ "สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ" จากศรีสะเกษ จะขยับขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค โดยมีทีมนิวบลัด ประกอบไปด้วย สองพี่น้องแห่งเมืองอ่างทอง “ภราดร ปริศนานันทกุล" และ "กรวีร์ ปริศนานันทกุล" ลูกชาย สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รวมทั้ง “เสมอกัน เที่ยงธรรม” ลูกชาย จองชัย เที่ยงธรรม แห่งสุพรรณ รวมทั้ง "ทัศน์ลักษณ์ ปัตตพงศ์ภัช"

โดยกลุ่มนิวบลัด ที่ล้วนผ่านการศึกษาในต่างประเทศ มีแนวคิดก้าวหน้าไปกว่ารุ่นเก่าในพรรคอย่างมาก ได้ร่วมกันคิดและวางยุทธศาสตร์ มีแนวนโยบายใหม่ๆ ในการขับเคลื่อนพรรค สำหรับลงสนามเลือกตั้งในปี 2562 

ทว่า สถานการณ์กลับพลิกผัน เกิดศึกชิงการนำภายในพรรคขึ้น ระหว่างคนใกล้ชิดบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อ “บิ๊กเนม” บางคนไม่เห็นด้วยกับแนวทาง “คนรุ่นใหม่” เพราะคิดอ่านว่า “คนรุ่นเก่า” อาจเสียการนำ จนไม่สามารถบริหารจัดการพรรคได้อีกต่อไป

โฟกัสการเมือง จับจ้องไปที่ “ประภัตร โพธสุธน” ถูกตั้งข้อสงสัยว่า เป็นตัวหลักล้มกระดานโมเดล “คนรุ่นใหม่” หรือไม่ เพราะส่องไปที่แกนนำคนรุ่นใหม่ มี “สองพี่น้องปริศนานันทกุล” รวมอยู่ด้วย 

แม้ “ประภัตร” จะไม่มีปัญหาอะไรกับรุ่นลูก “ภราดร-กรวีร์” แต่กับ “เสี่ยตือ” สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ผู้เป็นพ่อ “ประภัตร” ไม่ไว้ใจให้ลูกขึ้นมาใหญ่ เพราะเกรงว่า “สมศักดิ์” จะยืมมือลูกเข้ายึดพรรค แล้วเขี่ยตัวเองและคนรุ่นเก่าทิ้ง
 

เมื่อเคลียร์กันไม่ลงตัว ทั้งโครงสร้างพรรค และการวางตัวผู้สมัคร ส.ส. ทำให้กลุ่มนิวบลัดต้องแตกกระจาย แผนงานของกลุ่มนี้ก็ต้องจบไปด้วย ส่วนสองพี่น้อง “ภราดร-กรวีร์” ต้องจำใจออกจากพรรคชาติไทยพัฒนา ตามคำแนะนำของพ่อ ที่พาไปฝากพรรคภูมิใจไทย ตามไปติดๆ ด้วย “สิริพงศ์” ตัวหลักอีกราย ที่แยกทางกับพรรคนี้ด้วยอีกคน

พรรคชาติไทยพัฒนา เวลานั้นจึงชะงัก ไม่มีโอกาสพัฒนาโดยคนรุ่นใหม่ และมีแนวโน้มจะลดระดับจากพรรคแห่งภาคกลาง เหลือแค่พรรคจังหวัด 

จากนั้น “ประภัตร” จัดแจง เชิด “กัญจนา ศิลปอาชา” ขึ้นมานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค ซึ่งถือเป็นไฟท์บังคับ เมื่อพรรษาการเมืองน้องชายยังไม่ถึงผู้นำพรรค ตามความเห็นของผู้ใหญ่  ซึ่งกัญจนาเองก็วางกรอบไว้ว่า จะเป็นเพียงหัวหน้าพรรคให้ ไม่ขอลง ส.ส.และไม่เป็นรัฐมนตรี

ขณะที่ บทบาทและอำนาจผู้นำพรรคตัวจริง อยู่ที่เลขาฯ พรรคอย่าง "ประภัตร ทั้งการวางโครงสร้าง ขับเคลื่อนการเมือง โดยเฉพาะการเปิดดีลทางการเมือง การตัดสินใจขั้นสุดท้าย

เกือบ 4 ปี ในวาระของรัฐบาล ทายาทบรรหารอย่าง “ท็อป” วราวุธ ได้พิสูจน์ฝีมือ ความสามารถ ให้รุ่นใหญ่ในพรรคได้ประจักษ์ ลบภาพลูกท็อป ภายใต้เงา พ่อบรรหาร เป็นรัฐมนตรี และผู้นำที่มีแสงด้วยตัวเอง จนผู้ใหญ่ในพรรคยอมรับ

คราวนี้ “ประภัตร” จึงไม่อาจจะปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อโมเดลและกระแสคนรุ่นใหม่มาแรง เบียดแนวคิด “คนรุ่นเก่า” จนตกขอบ 

ถึงแม้ชาติไทยพัฒนา จะไม่เปลี่ยนแบบ 360 องศา และยังจำเป็นต้องอาศัยบารมีของ “ประภัตร” ที่จะยึดโยงกับกลุ่มก้อนภายในพรรค แต่มาถึงจุดนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า “วราวุธ” ที่ใกล้ชิดกับขั้วอำนาจในรัฐบาลนี้ก็ฉายแวว มีพรรษาการเมือง ชื่อชั้นรัฐมนตรีว่าการ และคอนเนคชั่นการเมืองก็มีไม่น้อย  

จึงเริ่มเห็นสัญญาณในการปรับโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคชาติไทยพัฒนาในวันที่ 3 ต.ค.นี้ เพื่อดันให้ ท็อป “วราวุธ ศิลปอาชา” ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนใหม่ แม้“ประภัตร”ยังคงยึดเก้าอี้เลขาธิการพรรคตัวเดิม ขณะที่กรรมการบริหารพรรคแม้จะเป็นชุดเดิม แต่จะเพิ่มเติม คือให้บทบาทคนรุ่นใหม่ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง และนโยบายของพรรคมากขึ้น

“นิวบลัด” ชาติพัฒนา ทายาทการเมือง ที่ยังเหลืออยู่ โดย “วราวุธ” เป็นแกนหลัก ผนึกกำลังกับ “เสมอกัน เที่ยงธรรม” แห่งสุพรรณบุรี

ความเคลื่อนไหวของ ว่าที่ผู้นำพรรคคนใหม่ แม้จะทีเล่น แต่ทีจริง เขาอยากใช้นโยบาย “ชาติไทยคืนถิ่น” เพื่อฟื้นฟูพรรค เนื่องจากนักการเมืองที่เคยอยู่ในพรรคชาติไทยเดิม กระจัดกระจายกันไปอยู่ตามพรรคต่างๆ 

ก้าวต่อจากนี้ ชาติไทยพัฒนา จึงโฟกัสที่ภาคกลาง เริ่มจากฐานที่มั่นสุพรรณ ขยับขยายไป อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ราชบุรี กาญจนบุรี แล้วค่อยๆ ทำให้พรรคใหญ่ขึ้น

ว่ากันว่า เวลานี้ ได้พยายามดูดกลับทั้ง “บ้านใหญ่” จังหวัดต่างๆ ที่เคยอยู่ “พรรคชาติไทย”เดิม รวมทั้งบรรดา “ทายาทการเมือง” ให้มาร่วมกันก่อร่างสร้างพรรคด้วยกันอีกครั้ง พร้อมทั้งตั้งเป้า จะขยับเป็นพรรคขนาดกลาง ดันตัวเลขให้ถึงเป้าหมาย 30 +-

ความพยายามฟื้นฟู และรีแบรนด์พรรคชาติไทยพัฒนา แม้จะเกิดขึ้นล่าช้ากว่าอีกหลายพรรค จากการติดหล่มการเมืองเก่า ในทางปฏิบัติที่ไม่สามารถสลัดแนวคิดการเมืองแบบเก่าๆ ของคนรุ่นเก่า ที่ยังคงฝังรากลึกในพรรคได้ง่ายๆ

ทว่า บริบทการเมืองที่เปลี่ยนไป และการถูกเปรียบเทียบกับผู้นำ แกนนำ พรรคการเมืองอื่นๆ ที่เติมคนรุ่นใหม่เข้ามา สร้างความโดดเด่น มีจุดขาย ทำให้รุ่นเก่าในพรรคนี้ อาจต้องยอมถอยให้ ท็อป “วราวุธ” มีโอกาสพิสูจน์ความสามารถ ในการนำ “ชาติไทยพัฒนา” ไปไกลมากกว่าพรรคสุพรรณ “บรรหารบุรี”