ปัญหาการเมือง กัดกร่อนเศรษฐกิจ

ปัญหาการเมือง กัดกร่อนเศรษฐกิจ

ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในปี 2566 ต้องจับตาว่า นโยบายระยะยาวที่มีการวางไว้ก่อนหน้า ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้รับการผลักดันต่อมากน้อยเพียงใด

ดูเหมือนจะเป็นข่าวดีที่ธนาคารโลก ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2565 เป็นขยายตัว 3.1% ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ประเมินไว้ที่ 2.9% 

โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภค การท่องเที่ยว และการส่งออกฟื้นตัว แต่ยังคงได้รับผลกระทบจากการชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะผลกระทบต่อการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังคงมีปัญหาขาดแคลนชิปที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการผลิต

ในทางการเมืองทุกสายตากำลังรอดูคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 ก.ย.2565 ที่จะอ่านคำวินิจฉัยประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปได้ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการนายกรัฐมนตรี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารักษาการนายกรัฐมนตรีไม่สามารถที่จะมาแทนนายกรัฐมนตรีได้ 100%

ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร ได้แสดงบทบาทการเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนที่หลายประเทศกำลังประสบปัญหา ซึ่งทำให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรุนแรงและมีความผันผวนมาก และรักษาการนายกรัฐมนตรีได้ให้กระทรวงการคลังหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อติดตามสถานการณ์ดังกล่าว 

แต่สถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนได้รุนแรงขึ้นหลังจากธนาคารกลางสหรัฐประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแม้หลายประเทศเจอปัญหานี้แต่ดูเหมือนไทยจะอ่อนค่ากว่าหลายประเทศ

สิ่งที่น่ากังวล คือ เศรษฐกิจโลกปี 2566 ที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งประเทศไทยจะได้รับผลกระทบดังกล่าว เพราะเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับต่างประเทศสูง แต่ในปี 2566 ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งอย่างช้าในช่วงต้นปี 2566

โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความต่อเนื่องของนโยบาย เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจะทำให้นโยบายเดิมไม่ถูกสานต่อ ดูได้จากยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลชุดที่แล้ววางไว้ ถึงแม้รัฐบาลปัจจุบันมีนายกรัฐมนตรีคนเดิมแต่ก็ไม่ได้ถูกพูดถึงเท่าที่ควร

ดังนั้น เมื่อประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จึงต้องจับตาว่า นโยบายระยะยาวที่มีการวางไว้จะได้รับการผลักดันต่อมากน้อยเพียงใด เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่รัฐบาลปัจจุบันมีเป้าหมายเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในปัจจุบันไปสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า สิ่งที่ระบุไว้จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และอาจทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศถอยลงไปต่อเนื่อง