“ก้าวไกล” แฉประมูล รฟฟ.สีส้ม กีดกันเอกชน ส่อเอื้อ BEM ส่วนต่างกว่า 6.8 หมื่นล.

“ก้าวไกล” แฉประมูล รฟฟ.สีส้ม กีดกันเอกชน ส่อเอื้อ BEM ส่วนต่างกว่า 6.8 หมื่นล.

“ก้าวไกล” ออกโรงแฉสัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” เปลี่ยนเกณฑ์กลางอากาศปี 63 ก่อนเปิดประมูลใหม่ปี 65 กีดกัน “BTS” ออกจากการแข่งขัน ส่อเอื้อ “BEM” เกิดส่วนต่างกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ประชาชนต้องแบกรับ จ่อเชิญเอกชน-รฟม.แจงอนุ กมธ. 3 ต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2565 ที่อาคารอนาคตใหม่ ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีการประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าผู้ชนะคือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เนื่องจากคู่แข่งคือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ถูกกีดกันไม่ให้เข้าประมูล ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายของรัฐบาลกว่า 68,000 ล้านบาท

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ย้อนกลับไปในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มเมื่อปี 2563 รฟม. ภายใต้การกำกับดูแลของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หลังออกประกาศเชิญชวนได้มีเอกชนยื่นซองตาม ซึ่งมีบริษัทเอกชนที่ดำเนินกิจการเดินรถไฟฟ้า 2 เจ้าใหญ่ในประเทศไทย คือ BTS และ BEM เข้าร่วมประมูล แต่ที่ไม่ปกติก็คือ รฟม. มีการเปลี่ยนเกณฑ์การให้คะแนนระหว่างการพิจารณากลางอากาศ อย่างมีนัยสำคัญต่อการพลิกผลแพ้ชนะ และนำไปสู่การฟ้องร้องโดย BTS ต่อ รฟม. หลายคดี คดียังคงคาราคาซังอยู่ในศาล แต่ รฟม. กลับเร่งรีบวิธีเปิดประมูลใหม่รอบ 2 โดยที่คดีเดิมข้อสรุปยังไม่มีความชัดเจน

“ก้าวไกล” แฉประมูล รฟฟ.สีส้ม กีดกันเอกชน ส่อเอื้อ BEM ส่วนต่างกว่า 6.8 หมื่นล.

“การประมูลรอบที่ 2 นี้มีข้อน่ากังขาหลายประการ มีการล็อกเสป็คด้วยการนำเอาผู้รับเหมาก่อสร้าง มาเป็นคู่เทียบการเดินรถโดยเสนอราคาที่สูงเกินราคากลาง จนกล่าวได้ว่ามีการกีดกันการแข่งขันไม่ให้ BTS เข้าร่วม จนไม่เกิดการแข่งขันกันจริง ๆ นอกจากนี้ ยังมีความเร่งรีบผิดปกติในขั้นตอนการพิจารณาซองที่ 2 :ข้อเสนอด้านเทคนิค 11 กล่อง ซึ่งปกติต้องใช้เวลาหลายเดือน แต่ รฟม. กลับพิจารณาเสร็จภายใน 10 วันเท่านั้น” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลเชิงลึกที่ได้มา หากไม่มีการเปลี่ยนเกณฑ์ระหว่างการประมูลในปี 2563 ในรอบแรก BTS จะเป็นผู้ชนะโดยรัฐอุดหนุนเพียง 9,675 ล้านบาทเท่านั้น แต่ด้วยเงื่อนไขการประมูลในปัจจุบัน กลายเป็นว่ารัฐจะต้องอุดหนุนเงินให้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มแก่ BEM คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสูงถึง 78,288 ล้านบาท นำไปสู่คำถามสำคัญ ว่าส่วนต่าง 68,613 ล้านบาทหายไปไหน และเหตุใดประชาชนต้องมาแบกความรับผิดชอบนี้

“ก้าวไกล” แฉประมูล รฟฟ.สีส้ม กีดกันเอกชน ส่อเอื้อ BEM ส่วนต่างกว่า 6.8 หมื่นล.

นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จึงจะเชิญทั้ง BTS และ รฟม. มาชี้แจงในที่ประชุมอนุกรรมาธิการ ในวันจันทร์ที่ 3 ต.ค. เวลา 14.00 น. โดยจะขออนุญาตที่ประชุมทำการ Live สดการชี้แจงในครั้งนี้ด้วย และขอเชิญประชาชนทุกคนร่วมติดตามประเด็นนี้ไปด้วยกัน

“เราอยากให้การประมูลเป็นไปโดยไม่ล้าช้า แต่เราก็อยากตรวจสอบให้มั่นใจด้วยว่าราคาชนะประมูลที่ BEM จะได้ไปเหมาะสมหรือไม่ ขอให้ประชาชนทุกคนร่วมกันติดตาม อย่าปล่อยให้ รฟม. เร่งดำเนินการอย่างน่าเกลียด ดันผ่าน ครม. ก่อนที่ความจริงจะกระจ่าง อย่าให้เงินกว่า 6 หมื่นล้านบาทจากภาษีประชาชนลอยไปเข้ากระเป๋านายทุน ซึ่งผมไม่อาจทราบได้ว่าจะมีเงินทอนกลับเข้ามาให้ข้าราชการ รัฐมนตรีบางคน หรือพรรคการเมืองบางพรรคหรือไม่” นายสุรเชษฐ์ กล่าว