แกะรอยวาระลับ (ริมแดง) กองทัพเบิก"งบกลาง”1,321 ล้าน

แกะรอยวาระลับ (ริมแดง) กองทัพเบิก"งบกลาง”1,321 ล้าน

ค่าใช่จ่ายในด้านบุคลากร นอกเหนือเงินเดือน จะมี "ค่าตอบแทนพิเศษ-ค่าเบี้ยเลี้ยง-ค่าปีก" ซึ่งมีทุกเหล่าทัพ ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ถูกกำหนด และคำสั่งรองรับแต่งตั้งให้บุคคลผู้นั้นรับสิทธิ

ข้อตกลงหนึ่งที่ “สำนักงานงบประมาณ” มีให้ “กระทรวงกลาโหม” ในการจัดทำงบประมาณของเหล่าทัพ คืองบประมาณส่วนใดที่ถูกตัดออก แล้วส่งผลให้หน่วยงานนั้นๆ ไม่มีเงินจ่ายบุคลากรในอนาคต สามารถทำเรื่องขอเบิกงบกลางได้ โดย “นายกรัฐมนตรี” เป็นผู้อนุมัติได้ทันที ตามที่สำนักงานงบประมาณทำเรื่องขึ้นมา ยกเว้นกรณีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี(ครม.)

ในที่ประชุม ครม. ที่มี พล..ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อ 20 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบวาระลับ (ริมแดง) เรื่องที่กระทรวงกลาโหมเสนอขอรับการสนับสนุน เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายบุคลากร ภายใต้แผนงานบุคลากรภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2565 ที่กระทรวงกลาโหมจะต้องขอรับการจัดสรรงบประมาณ และเบิกจ่ายภายในเดือนกันยายน 2565

สำหรับสาระสำคัญของการขอรับการสนับสนุนครั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงกลาโหมมีหน่วยรับงบประมาณ ที่มีงบประมาณรายจ่ายบุคลากรไม่พอเบิกจ่ายจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2565 และจะต้องขอรับโอนจัดสรรงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภายใต้แผนงานบุคลากรภาครัฐ ซึ่งสำนักงบประมาณได้ดำเนินการโอนระหว่างหน่วยรับงบประมาณภายในกระทรวงกลาโหมตามระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณแล้วไม่เพียงพอ

จึงเห็นควรให้กระทรวงกลาโหมขอรับงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,321,699,600 บาท ประกอบด้วย กองทัพบก วงเงิน 760,445,100 บาท และกองทัพอากาศ 561,254,500 บาท

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้ตั้งหลักเกณฑ์ในการจัดทำงบประมาณประจำปี โดยจะอนุมัติงบเผื่อขาดไว้ก่อน ส่งผลให้ในทุกๆ ปี กระทรวงกลาโหม จะต้องทำเรื่องเบิกงบกลางตามที่ เหล่าทัพเสนอมา โดยหากวงเงินไม่ถึง 1 พันล้านบาทไม่ต้องเข้า ครม.

ในส่วน “กองทัพอากาศ” ขอเพิ่มจำนวน 561,254,500 บาท เนื่องจากในปีงบประมาณ 2565 ถูกตัดงบการเพิ่มบุคลากรในการบรรจุนักเรียนพยาบาล เงินค่าเงินตอบแทนพิเศษ เบี้ยเลี้ยง ค่าปีก ค่านักบิน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้รับการบรรจุ แต่ได้ตั้งวงเงินเอาไว้ และมีการกำหนดเงินเดือน

เช่นเดียวกับ “กองทัพบก” ที่ขอเพิ่มวงเงิน 760,445,100 บาท เพราะก่อนหน้าก็ถูก สำนักงานงบประมาณตัดออกไปเช่นกัน ทั้งค่าปีก ค่านักบิน รวมถึงเงินเสี่ยงภัย เงินเพิ่มพิเศษการสู้รบตามแนวชายแดนของ 7 กองกำลังป้องกันชายแดน การปราบปรามยาเสพติด แรงงานต่างด้าว สินค้าผิดกฎหมาย

“โดยปกติการเบิกจ่ายงบกำลังพลของเหล่าทัพ สำนักงบประมาณจะไม่ให้มาเต็มตามที่เหล่าทัพเสนอไป ทำให้ต้องขอเพิ่มในภายหลัง เพราะเป็นการจัดงบประมาณของสำนักงบประมาณที่จะตั้งไม่เต็มตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นเช่นนี้เกือบทุกส่วนราชการที่ต้องขอเบิกเพิ่มภายหลัง โดยอาจเอามาจากงบกลาง” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ.ระบุ

สำหรับค่าตอบแทนพิเศษ ค่าเบี้ยเลี้ยง มีอยู่ทุกเหล่าทัพ ขึ้นอยู่กับลักษณะงานที่ถูกกำหนดให้มีค่าตอบแทน อาทิ นักบิน พลร่มกู้ภัย คอมแมนโด ทำลายวัตถุระเบิด ส่งทางอากาศ ทำลายใต้น้ำ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับ หน้าที่และคำสั่งรองรับ ที่แต่งตั้งให้บุคคลผู้นั้นมีสิทธิที่จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติมจากเงินเดือน ซึ่งรวมไปถึง งานเฉพาะด้าน เงินประจำตำแหน่ง เบี้ยเลี้ยงปฏิบัติราชการ

เช่นเดียวกับปี 2557 เกิดการทำรัฐประหาร ในขณะนั้นมีการจัดตั้งกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยประจำจังหวัดต่างๆ ร่วมถึง กทม.-ปริมณฑล เพื่อดูแลสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในขณะนั้น กำลังพลที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ จะได้เงินค่าตอบแทนพิเศษที่มาจากงบกลางเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ “กระทรวงกลาโหม” ถือเป็นหน่วยงานลำดับต้นๆ ที่ถูกฝ่ายค้านโจมตีมาตลอด ในการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานในสังกัด โดยเฉพาะใน 3 เหล่าทัพ ทั้ง กองทัพบก กองทัพเรือ และ กองทัพอากาศ โดยพุ่งเป้าไปที่จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และงบบุคลากรที่คิดเป็นเกือบ 70% ของงบประมาณทั้งหมด และยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง แม้แผนปฏิรูปกองทัพ การควบรวมหน่วย ลดกำลังพลจะเดินมาครึ่งทางแล้วก็ตาม