ครม.ไฟเขียวบรรจุ “โรคอารมณ์ผิดปกติ” ต้องห้ามรับราชการพลเรือน

ครม.ไฟเขียวบรรจุ “โรคอารมณ์ผิดปกติ” ต้องห้ามรับราชการพลเรือน

ครม.ไฟเขียว “โรคอารมณ์ผิดปกติ” ต้องห้ามรับราชการพลเรือน ชี้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ ยกเลิกโรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ ออกจากลักษณะต้องห้าม

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เสนอ ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรคฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ.2553 ที่กำหนดลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน ในการแก้ไขครั้งนี้ ได้ยกเลิก “โรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ” ออกจากลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับราชการพลเรือน เนื่องจากโรควัณโรคมีแนวโน้มที่ลดลง และใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 สัปดาห์ ก็สามารถหายได้
 

พร้อมกันนี้ ได้เพิ่มโรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่มีอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรัง และเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ เป็นลักษณะต้องห้ามด้วย ส่วนโรคอื่นๆ ยังคงกำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามตามเดิม ได้แก่

1. โรคเท้าช้าง ในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม

2. โรคติดยาเสพติดให้โทษ

3. โรคพิษสุราเรื้อรัง

4. โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรัง ที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่

ทั้งนี้ มีผลนับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

  • Mood Disorders คืออะไร

ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า โรคทางอารมณ์ (mood disorders) เป็นกลุ่มโรคหนึ่งทางจิตเวชที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้บ่อยและรบกวนชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวมาก

อาการของโรคทำให้ผู้ป่วยมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะซึมเศร้าหรือครึกครื้น โดยอาจเป็นอารมณ์ในลักษณะใด ลักษณะหนึ่งหรือเกิดสลับกัน ขึ้นกับชนิดของโรค เมื่อมีอาการแล้วทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถจัดการ หรือรับผิดชอบงานได้เหมือนปกติ

ลักษณะการดำเนินโรคที่สำคัญ คือ อาการมักเกิดเป็นช่วง ๆ แต่ละช่วงเป็นนาน 1-6 เดือน ขึ้นกับชนิดของโรค และมักเกิดอาการได้หลาย ๆ ครั้งในตลอดช่วงชีวิตของผู้ป่วย อาการอาจหายได้เองหรืออาจมีอาการเรื้อรังได้ การวินิจฉัยที่ถูกต้อง รวดเร็ว และการรักษาที่เหมาะสมเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยลดระยะเวลาของการเป็นโรคและลดโอกาสเป็นซ้ำได้

ลักษณะสำคัญของผู้ป่วยที่เป็นโรคทางอารมณ์ (mood disorders) คือ ภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติอย่างมากและเป็นต่อเนื่อง โดยพบเป็น 2 กลุ่มอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ซึมเศร้า (depression) หรืออารมณ์ครึกครื้น หรือที่นิยมเรียกว่ากลุ่มแมเนีย (mania)

- ผู้ป่วยกลุ่มอารมณ์ซึมเศร้า (depressive patients) มีอารมณ์เศร้า (depressed affect), หงุดหงิด (irritable affect) ร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่สำคัญได้แก่ ความกระตือรือร้นหรือความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ลดน้อยลง (lose of interests), ลักษณะเฉื่อยชา (loss of energy), อาจมีความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง (hopeless), รู้สึกผิด ละอาย (guilt) บางคนมีอาการมากจนถึงขั้นคิดสั้น อยากตาย (suicidal idea) ร่วมกับอาการ neurovegetative ต่าง ๆ เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ฯลฯ

- ผู้ป่วยกลุ่ม mania (manic patients) มีอารมณ์ดีเบิกบานมาก รื่นเริง ครึกครื้น (elated หรือ elevated affect) หรือบางครั้งอาจมีลักษณะหงุดหงิดง่าย (irritable affect) ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ความคิดมักจะเร็วขึ้น คิดหลาย ๆ เรื่องในเวลาไล่เลี่ยกัน (racing thoughts) และแสดงออกมาในลักษณะพูดมากขึ้น (talkative) พูดหลายเรื่องต่อกัน (flight of ideas) อาจมีลักษณะวอกแวกง่าย ถูกดึงความสนใจได้ง่าย (distractibility) ทำให้ดูเหมือนขาดความตั้งใจ สมาธิไม่ดี

นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอารมณ์ดี ครึกครื้น และมีอาการลักษณะเดียวกับกลุ่ม mania เพียงแต่มีอาการในระยะเวลาที่สั้นกว่า จึงเรียกระยะนั้นว่า hypomania เรียกผู้ป่วยในระยะนั้นว่า hypomanic patients เมื่อผู้ป่วยมีอาการทางอารมณ์ใน 2 กลุ่มอาการนี้ จะทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาในเรื่องบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไปอย่างมาก มีผลต่อการพูดคุย ติดต่อ หรือสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น มีผลต่อความคิด ความสนใจรับผิดชอบในการทำงาน อาการส่วนใหญ่มักเป็นต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่ง จึงทำให้กระทบต่อกิจวัตรประจำวันอย่างมาก

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์