ญัตติชงทำประชามติแก้รธน. ส่อมีปัญหา หลังสภาฯโหวตผ่าน แต่ไม่ครบองค์

ญัตติชงทำประชามติแก้รธน. ส่อมีปัญหา หลังสภาฯโหวตผ่าน  แต่ไม่ครบองค์

ส.ส.ก้าวไกล-เพื่อไทย ชงญัตติทำประชามติแก้รธน. พร้อมเลือกตั้ง ส.ส. ทุกพรรคเห็นด้วย แต่มีเหตุสะดุด หลังพบเสียงลงมติไฟเขียว แต่มีส.ส.ไม่ครบองค์ประชุม "ศุภชัย" ชี้ญัตติผ่านแล้ว ต้องทำตามระบบ

             ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งพิจารณาญัตติด่วนซึ่งเสนอด้วยวาจา ของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน คือ นายณัฐพงษ์​ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ที่เสนอให้ให้สภาฯพิจารณาเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดให้มีการออกเเสียงประชามติถามประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไปพร้อมกับการเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไป ตามอำนาจที่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 มาตรา 9 กำหนด  

 

 

 

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการอภิปรายของส.ส. นั้น พบว่าไม่มีผู้ใดที่อภิปรายคัดค้านและส.ส.ที่อภิปราย ซึ่งเป็นตัวแทนจากพรรคการเมือง อาทิ พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเสรีรวมไทย เป็นต้น ล้วนเห็นด้วยกับการเสนอญัตติดังกล่าว เพราะมองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยกลไกของรัฐสภา นั้นมีเงื่อนไขที่ทำให้ไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย เนื่องจากต้องใช้เสียงส.ว. ร่วมด้วยอีกทั้งมองว่ารัฐธรรมมนูญฉบับปัจจุบันคือต้นตอของความขัดแย้ง หากครม. ดำเนินการตามที่สภาฯ เสนอญัตติจะทำให้คลี่คลายความขัดแย้งและสร้างความปรองดองได้

             ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากที่อภิปรายแล้วเสร็จ นายศุภชัย กล่าวว่าญัตติดังกล่าวต้องใช้การลงมติเพราะเป็นญัตติที่สำคัญ ต้องส่งไปให้ครม. พิจารณา จึงไม่สามารถใช้ขั้นตอนที่สภาฯอนุมัติ เพราะไม่มีใครอภิปรายคัดค้านเหมือนที่ผ่านมาได้ ทั้งนี้ที่ประชุมได้ใช้เวลารอองค์ประชุม กว่า 40 นาที พบว่ามีส.ส.แสดงตนเป็นองค์ประชุม 242 คน ซึ่งเกินองค์ประชุมมาเพียง 6 เสียงเท่านั้น

 

             จากนั้นได้เข้าสู่ขั้นตอนการลงมติ ปรากฎว่ามีผู้มาลงมติ 230 คน โดยเสียงข้างมาก 217 เสียงเห็นชอบกับญัตติ ต่อ 6 เสียงไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง 6 เสียง

 

             ทั้งนี้นายศุภชัย ชี้แจงว่า การลงมติตามญัตติถือว่าเสร็จสิ้นแล้ว โดยเสียงข้างมากเห็นด้วย แต่ผู้มาลงมติไม่ครบองค์ประชุม ซึ่งตนพยายามเต็มที่แล้ว

 

 

             อย่างไรก็ดีมีส.ส.โต้แย้ง โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนเจ็บปวดที่องค์ประชุมไม่ครบต้องยอมรับ คือ กระบวนการไม่ครบ จะทำให้ความชอบสิ่งที่ลงมติเป็นปัญหา วุฒิสภาอ้างได้ว่า องค์ประชุมมีปัญหา เมื่อไปถึง ครม. จะมีปัญหาอีก ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ดังนั้นเมื่อลงมติไม่ครบก็ปิดประชุม ซึ่งญัตติจะไม่ตก ยกไปลงมติครั้งหน้า ในวันที่ 16 กันยายน หรือ ในเดือนพฤศจิกายน

             โดย นายศุภชัย  ชี้แจงด้วยว่า การลงมติดังกล่าวถือว่าเห็นด้วยกับการลงมติ ส่วนกรณีครบองค์ประชุมนั้น ถือว่าไม่ครบต้องเป็นเรื่องที่ว่ากันไปตามระบบ ข้อกฎหมายและข้อบังคับ

 

             ทำให้ ส.ส.ลุกโต้แย้ง ทั้ง นายจุลพันธ์ และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย เห็นตรงกันว่า หากสรุปว่าญัตติผ่านแล้ว แต่องค์ประชุมไม่ครบ จะทำให้สูญเปล่า และมีปัญหาข้อกฎหมายที่ค้างคา นำไปสู่การร้องศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับพยายามเสนอให้ว่า เมื่อองค์ไม่ครบปิดประชุมและเลื่อนการลงมติในครั้งถัดไป เพราะตัวญัตติยังมีความชอบ ไม่อยากให้ผ่านไปแล้ว มีปัญหาทีหลัง อย่างไรก็ดีในตอนท้ายนายศุภชัยไม่ได้วินิจฉัยใดๆเพิ่มเติม และสั่งปิดประชุมทันที.