โหมโรง “ประชานิยม” หรือต่อโลง? | ไสว บุญมา

โหมโรง “ประชานิยม” หรือต่อโลง? | ไสว บุญมา

โหมโรง “ประชานิยม” กู้เศรษฐกิจ เป็นหัวข้อข่าวที่กระตุกความสนใจมากจากผมในฐานะผู้เขียนหนังสือชื่อ “ประชานิยม หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย?”

สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์จัดพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2546  หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์อีกครั้งหลังการปรับเปลี่ยนเนื้อหาพร้อมกับปรับชื่อเป็น “ประชานิยม ทางสู่ความหายนะ” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555

ขณะนี้ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา (www.bannareader.com)  พร้อมกับฟังเสียงอ่านได้จาก YouTube  

ผมเริ่มต้นค้นหาข้อมูลสำหรับเขียนหนังสือทันทีหลังฟังแถลงการณ์ของรัฐบาลใหม่เมื่อกลางปี 2544 ทั้งนี้เพราะในส่วนของนโยบาย รัฐบาลจะใช้ประชานิยมแนวเลวร้ายซึ่งทำให้ประเทศในละตินอเมริกาล้มละลายมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว 

แรงจูงใจในการเขียนหนังสือคือ ความประสงค์จะสื่อถึงชาวไทยโดยทั่วไปซึ่งอาจไม่ตระหนักว่า นโยบายประชานิยมแนวเลวร้ายเป็นอย่างไรและมีผลร้ายถึงกับทำให้ประเทศที่ใช้ล่มจม

ผมอ้างถึงประชานิยมแนวเลวร้าย เพราะนโยบายประชานิยมแนวดีก็มี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและเจตนาของรัฐบาล ซึ่งจะต้องมีปัญญาหยั่งรู้ว่านโยบายที่นำมาใช้จะเหมาะสมกับสภาพของสังคมและเศรษฐกิจหรือไม่ พร้อมกับมีเจตนาดีที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

โหมโรง “ประชานิยม” หรือต่อโลง? | ไสว บุญมา

มิใช่เพื่อหลอกลวงประชาชนให้หลงกลจนเกิดความนิยมชมชอบในรัฐบาล หรือร้ายยิ่งกว่านั้นในตัวผู้นำรัฐบาลโดยเฉพาะ 

ผมเลือกอาร์เจนตินามาเสนอ เพราะเป็นกรณีที่มีข้อมูลชัดเจนมากกว่าประเทศอื่น อีกทั้งยังเป็นกรณีที่มีการรับรู้กันอยู่บ้างแล้วเนื่องจากความแพร่หลายของภาพยนตร์เรื่อง Evita ซึ่งวางอยู่บนความเป็นไปในอาร์เจนตินาหลังจากการใช้นโยบายประชานิยม

ข้อมูลเกี่ยวกับอาร์เจนตินาชัดเจนมากเนื่องจากนักการเมืองที่เสนอนโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายประสงค์จะทำอะไร เพื่อใครและชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลเมื่อไร 

หลังเขาชนะการเลือกตั้งในตอนกลางสงครามโลกครั้งแรก การใช้นโยบายแนวเลวร้ายนั้นใช้โดยใคร กระบวนการเป็นอย่างไรจึงทำให้อาร์เจนตินาล้มละลายครั้งแรกหลังจาก 40 ปี 

การล้มละลายครั้งนั้นนำไปสู่เหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ รวมทั้งรัฐบาลเผด็จการทหารฆ่าประชาชนที่ต่อต้านเป็นเรือนหมื่นจนทำให้อาร์เจนตินาล้มลุกคลุกคลานอยู่นานมาก 

อาร์เจนตินาเคยพัฒนาไม่ต่ำกว่าแคนาดา ฝรั่งเศสและเยอรมนี แต่ ณ วันนี้เดินตาม 3 ประเทศที่อ้างถึงแบบแทบไม่เห็นฝุ่น

ผมนำเวเนซุเอลาเข้ามาเมื่อปรับเปลี่ยนเนื้อหาของหนังสือ  กรณีของเวเนซุเอลาน่าสนใจเป็นพิเศษในด้านเป็นประเทศที่มีน้ำมันปริมาณมหาศาล

ผมได้พูดถึงบ้างแล้วจากมุมมองของคำสาปของน้ำมันในหนังสือชื่อ “เล่าเรื่องเมืองน้ำมัน” (ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ดังกล่าว)  แต่เวเนซุเอลาเริ่มใช้ประชานิยมแนวเลวร้ายเมื่อไรไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดเหมือนกรณีของอาร์เจนตินา 

โหมโรง “ประชานิยม” หรือต่อโลง? | ไสว บุญมา

เนื่องจากเวเนซุเอลามีน้ำมัน จึงอาจมองได้ว่าผลออกมาร้ายแรงยิ่งกว่ากรณีของอาร์เจนตินาเสียอีก  ณ วันนี้ ยังมีชาวเวเนซุเอลาจำนวนมากอดอยากจนถึงกับพากันทิ้งบ้านเกิดไปตายดาบหน้าในประเทศเพื่อนบ้านทั้งที่ประเทศเหล่านั้นมิได้ร่ำรวย หรือปราศจากปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาโดยทั่วไป

เนื้อหาในหัวข้อข่าวที่อ้างถึงข้างต้นบ่งว่าพรรคการเมืองต่างเสนอการต่อยอดนโยบายประชานิยมที่ดำเนินมาแล้วบ้างและเพิ่มสิ่งใหม่เข้าไปบ้าง

เพราะรู้ว่าชาวไทยโดยทั่วไปเสพติดประชานิยมแล้วและคาดหวังจะได้รับต่อไปไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับ 

จริงอยู่ในระยะสั้น การทุ่มงบประมาณจำนวนมากเข้าไปในระบบผ่านข้อเสนอเหล่านั้นจะทำให้เกิดการซื้อขายเพิ่มขึ้นทันทีจนทำให้ดูเหมือนว่ามันช่วยกู้เศรษฐกิจ แต่ต่อไปผลร้ายที่แฝงมาจะทำให้เป็นอาร์เจนตินาก็ได้ 

จากกรณีของอาร์เจนตินาอาจมองได้ว่าไทยเดินทางมาได้ราวครึ่งทางและเหลือเวลาอีกราว 20 ปีก่อนที่จะล้มละลาย

ไทยจะหลีกเลี่ยงภาวะล้มละลายคล้ายอาร์เจนตินาและเวเนซุเอลาได้หรือไม่จึงเป็นคำถามตามมา 

ขอตอบว่า หลีกเลี่ยงได้หากพรรคการเมืองไม่แข่งขันกันใช้นโยบายแนวเลวร้ายนี้จนเป็นหนี้ท่วมหัวและขนเอาเงินสำรองของชาติมาใช้จนไม่เหลือไว้เป็นภูมิคุ้มกันมิให้ความผันผวนทางการค้าสร้างปัญหาสาหัส 

ตรงข้าม หากเงินสำรองถูกนำออกมาผลาญจนหมดและการกู้ยืมเกิดภาระหนี้สินล้นพ้นจนไม่มีใครให้กู้เพิ่ม ประชานิยมที่พวกเขานำมาใช้จะไม่ช่วยกู้เศรษฐกิจ หากเป็นเสมือนอีกหนึ่งส่วนในกระบวนการต่อโลงฝังสังคมไทย.