“รัฐบาล” ห่วง 3 โรค จากยุงลาย ช่วงหน้าฝน แนะ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์

“รัฐบาล” ห่วง 3 โรค จากยุงลาย ช่วงหน้าฝน แนะ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์

“รัฐบาล” ห่วง ปชช. เสี่ยงเป็น “ไข้เลือดออก-ไข้ซิกา-ไข้ปวดข้อ” จากยุงลายเป็นพาหะ ช่วงหน้าฝน ขอความร่วมมือสาธารณสุขจังหวัด กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนนี้ประเทศไทยหลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่องและเกิดน้ำท่วมขังซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกและโรคอื่นๆ เช่น โรคไข้ซิกา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยรัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนอาจเจ็บป่วยจากยุงลาย เนื่องจากปีนี้มีการผ่อนคลายมาตรการของโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางและไปทำกิจกรรมในสถานที่สาธารณะได้มากขึ้น เช่น โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ทำงาน โรงเรียน วัด โรงแรม รีสอร์ท โรงงาน และสถานที่ราชการ ซึ่งสถานที่สาธารณะดังกล่าว อาจมีภาชนะที่มีน้ำขังและมีลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก และโรคอื่นๆ

นายอนุชา กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้แนะให้ดำเนินการมาตรการเร่งรัดการควบคุมการระบาดโรคไข้เลือดออก โดยขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งดำเนินการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ผ่านกลไกของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และสนับสนุนให้มีการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย อย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ และขอให้ประชาชนปฏิบัติตาม

มาตรการป้องกันโรคไข้เลือดออก ด้วยการ

1) ป้องกันการเกิดของยุงลาย โดยปฏิบัติตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุงลาย เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด เพื่อป้องกันยุงลายมาวางไข่

2) ป้องกันยุงกัด เช่น การทายากันยุง นอนในมุ้ง ใช้ยาจุดกันยุง ใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาวเป็นต้น

3) ป้องกันการเสียชีวิต โดยหากมีบุตรหลานหรือคนในครอบครัว มีไข้สูงเกิน 2 วัน เช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดหรือไข้ลดแต่กลับมาสูงอีก ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกไม่ควรรับประทานยาลดไข้กลุ่ม NSAIDs เช่น แอสไพรินและ ไอบูโพรเฟน เพราะยาเหล่านี้จะทำให้มีอาการเลือดออกมากขึ้นและเสียชีวิตได้ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ ซึ่งการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคไข้ซิกาได้

“ช่วงนี้เป็นช่วงเปิดภาคเรียนของสถานศึกษาต่างๆ ทำให้มีการรวมตัวของเด็กนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยเรียนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการระบาดของโรคได้ จึงขอให้ประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและโรงเรียนทุกแห่ง ตามมาตรการ 3 เก็บเพื่อป้องกัน 3 โรค 

ทั้งนี้ หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ เบื่ออาหารปวดท้อง ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายกันหลายโรค ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก และโรคโควิด-19 จึงขอให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย เลือกรับประทานยาแก้ไข้พาราเซตามอล​ 1-2​ วัน​ อย่างไรก็ตาม หากรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ขอให้รีบไปพบแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อรับการวินิจฉัยแยกโรคให้ชัดเจน และรับการรักษาต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว