"วุฒิสภา" เสียงเอกฉันท์เห็นชอบ ร่างกม.งบฯ66

"วุฒิสภา" เสียงเอกฉันท์เห็นชอบ ร่างกม.งบฯ66

มติวุฒิสภา 179:0 เห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบฯ66 แล้ว ถูกติงเรื่องทุจริต เงินรั่วงบท้องถิ่น "สุพัฒนพงษ์" ย้ำรัฐบาลพร้อมแก้ไข ปรับปรุงระบบจัดซื้อจัดจ้าง ด้าน "คำนูณ" ตกใจ ป.ย.ป. เตรียมหมดวาระ สิ้นยุคปฏิรูปประเทศ

           เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ด้วยมติเอกฉันท์ 179 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ทั้งนี้พบว่ามีส.ว.ที่มาร่วมลงมติเพียง 182 คนจากสมาชิกทั้งหมด 250 คน ซึ่งมีส.ว.ที่ไม่ปรากฎการลงมติมาถึง 68 คน ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวใช้เวลารวมทั้งสิ้น  7 ชั่วโมง 30 นาที

 

 

           ทั้งนี้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวขอบคุณการพิจารณาของวุฒิสภา พร้อมย้ำจะนำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะปรับปรุงการทำงานของหน่วยรับงบประมาณ ส่วนกรณีที่มีส.ว.ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการทุจริตของฝ่ายการเมืองทำให้งบประมาณไปถึงประชาชนไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้นรัฐบาลพยายามอุดรูรั่วและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยในปี2566 กรมบัญชีกลางได้ปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้เป็นสมาร์ทอินเทอเรเจนท์ เพื่อประเมินผลการร่วมประมูลและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

 

           อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้นายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายท้วงติงต่อการจัดสรรงบประมาณตามปีงบประมาณที่พบว่าเกิดการทุจริต 10% -30% ทำให้งบประมาณไปไม่ถึงประชาชนเต็มที่ ซึ่งเป็นกรณีที่พบว่าการปฏิรูปด้านกระบวนการปราบคอร์รัปชั่นมีปัญหาแม้ส.ว.เสนอความเห็นแต่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้

           “ไม่ต้องห่วง เพราะผมอนุมัติอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้งบประมาณที่รั่วไหล แม้กรรมาธิการ อนุกรรมาธิการตัดไปแล้ว แต่เมื่อลงไปจังหวัดก็เรียกเก็บผลประโยชน์ ดัชนีฟ้องว่าไม่ได้ทำอะไรนอกจากถ่ายรูป กากบาท ที่รัฐบาลบอกว่าจะดูแลทุกบาททุกสตางค์ ผมอยู่ในสภา 16 ปี ได้ยินทุกปี แต่ไม่เคยทำ ผมขอฟ้องประชาชนหากอยากให้งบประมาณเกิดประโยชน์ ฝ่ายบริหาร ผู้นำประเทศ สมาชิกรัฐสภา ประชาชน ต้องมีเจตจำนงค์ตรวจสอบงบไม่ให้รั่วไหล หรือมีคนดักระหว่างทาง ขโมย โกงกินตลอดเวลาทุกปี” นายสมชาย กล่าว

 

 

 

           ขณะที่ นายคำนูณ  สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายตตั้งข้อสังเกตต่องบประมาณของ ป.ย.ป. ว่า คณะกรรมการฯ จะสิ้นสุดการทำงานในเดือนธันวาคม 2565 และจะไม่ต่ออายุการทำงาน เพราะมีรายงานว่าสามารถทำแผนการปฏิรูปประเทศได้บรรลุผลตามรัฐธรรมนูญแล้ว ขณะที่กรรมการปฏิรูปทั้ง 13 คณะ สิ้นสุดอายุทำงาน เมื่อ 14 สิงหาคม 2565 แต่ต้องอยู่ต่อเพื่อทำรายงานรอบ 3 เดือนสุดท้ายของปี 2565 ขณะที่ประธานคณะกรรมการต้องรอประชุมและให้ความเห็นชอบรายงานประจำปี  หากทำงานแล้วเสร้จจะถือว่าหมดวาระถาวร

 

\"วุฒิสภา\" เสียงเอกฉันท์เห็นชอบ ร่างกม.งบฯ66

           “ผมตกใจไม่หายว่าจะสิ้นยุคปฏิรูปและปิดฉาก ป.ย.ป.แล้ว ทั้งนี้  ป.ย.ป. ที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 19/2561 ที่ถูกกำหนดให้มีอายุการทำงานเบื้องต้น 5 ปีและจะครบในปี 2566 แม้จะยังอยู่ในกระบวนการทบทวนของสศช. ร่วมกับ ก.พ.ร. เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี แต่เชื่อว่าจะไม่มีการขยายอายุการทำงานอีกต่อไป สำนักงาน ป.ย.ป. แม้จะมีอายุการทำงานตามลายลักษณ์อักษร 5 ปี แต่ในทางปฏิบัติกว่าจะจัดองค์กรเสร็จและมีข้าราชการสมัครใจโอนย้ายเข้ามาทำงานในหน่วยงานใหม่ที่มีอนาคตไมีชัดเจนก็เมื่อประมาณครึ่งปีหลังของปี 2563 นับจนถึงวันนี้ก็เพียง 2 ปีเท่านั้น” นายคำนูณ กล่าว