พยัคฆ์จำเป็น เรื่องที่ “ป้อม” ไม่ได้เล่า

พยัคฆ์จำเป็น เรื่องที่ “ป้อม” ไม่ได้เล่า

สงครามเย็นจบลงแล้ว แนวชายแดนไทย-กัมพูชา คืนสู่สันติสุข แต่ บูรพาพยัคฆ์ ภารกิจไม่สิ้น เมื่อถูกดึงเข้าสู่สมรภูมิการเมือง ตั้งแต่ปี 2549 จวบจนถึงปัจจุบัน

ในหนังสือ “พี่ป้อม พี่ใหญ่ พี่ชายที่แสนดี” อาจไม่มีเรื่องราวเหล่านี้ หลายคนคงไม่รู้ว่า “กบฏเมษาฮาวาย” ได้ทำให้นายทหารหนุ่ม จากบ้านทหารเสือราชินี ต้องมาโตที่บ้านบูรพาพยัคฆ์

ปี 2522 ไฟสงครามชายแดนลุกโชน ทหารเวียดนามเรือนแสนยึดครองกัมพูชา โดยหนุนรัฐบาลเฮงสัมริน บุกเข้าถล่มฐานทหารเขมรเสรี เขมรสีหนุ และเขมรแดงตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา โดยบางครั้งก็รุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทย

รุ่งสางวันที่ 23 มิ.ย.2523 เวียดนามส่งทหาร 2 กองร้อย เข้ายึดบ้านโนนหมากมุ่น อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ทหารไทยที่ตั้งค่ายอยู่ไม่ห่างจากหมู่บ้านส่งกำลัง 1 หมวดเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน แต่ระหว่างทางโดนซุ่มโจมตีทหารไทยเสียชีวิต 18 นาย และถูกจับเป็นเชลย 2 นาย
 

พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจ ได้สั่งทหาร ร.2 รอ. ลุยแหลกเข้าไปขับไล่ผู้รุกราน จนสามารถยึดบ้านโนนหมากมุ่นคืนมาได้สำเร็จ ทหารเวียดนามเสียชีวิต 30 นาย

นี่คือ ชัยชนะเหนือสมรภูมิโนนหมากมุ่น ทำให้ชาวไทยต้องจดจำวีรกรรมของ “ผู้การประจักษ์” และเหล่าทหารหาญจากกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 รอ.)

 ค่าย ร.2 รอ.(ปราจีนบุรี) จึงได้รับการขนานนามว่า “บูรพาพยัคฆ์” และนี่คือ บ้านบูรพาพยัคฆ์ ซึ่งไม่ใช่ค่าย ร.21 รอ. บ้านทหารเสือราชินี (ชลบุรี)

วันที่ 1-3 เมษายน 2524 พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร ได้นำกำลังทหาร 3 กองพันจากกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 รอ.) เข้าร่วมก่อการยึดอำนาจร่วมกับเพื่อนนายทหารยังเติร์ก จปร.7 แต่กระทำการไม่สำเร็จ กลายเป็นกบฏ

เหตุการณ์ครั้งนั้น ทหารจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) หรือทหารเสือราชินี เป็นกำลังหลักในการปราบกบฏ

หลังกบฏยังเติร์กปราชัย ทหารค่าย ร.2 รอ. กลายเป็นฝ่ายกบฏยกกรม “ผู้การประจักษ์” ถูกจับ ส่วนลูกน้องเจอคำสั่งลงโทษทางวินัย และมีการเปลี่ยนตัวผู้บังคับกองพันทั้งหมด 

พยัคฆ์จำเป็น เรื่องที่ “ป้อม” ไม่ได้เล่า

นายทหารหนุ่ม พ.ศ.โน้น พ.ต.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 พัน.2 รอ.) ถูกย้ายมาเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 พัน.2 รอ.) แทน พ.ท.ประภาส พูนขำ ที่ถูกเด้งเพราะนำกำลังเข้าไปยึดอำนาจ



    
   
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงมีเส้นทางเหล็กแตกต่างจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากน้อง 2 ป. เติบโตที่ ร.21 รอ. จนกระทั่งได้เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์

ส่วน พล.อ.ประวิตร ถูกย้ายจากฝั่งชลบุรีมาโตอยู่ฝั่งปราจีนบุรี จึงมีความสนิทสนมกับ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ขณะที่ดำรงตำแหน่งเสนาธิการ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ค่ายพรหมโยธี ปราจีนบุรี

พยัคฆ์จำเป็น เรื่องที่ “ป้อม” ไม่ได้เล่า

ปี 2537 พล.อ.เชษฐา แม่ทัพภาคที่ 1 ส่วน พล.อ.ประวิตร เป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. ก็ทำให้สองคนนี้ ได้ทำงานร่วมกันอีกครั้ง 

กระทั่ง พล.อ.เชษฐา เล่นการเมือง และได้เป็น รมว.กลาโหม รัฐบาลทักษิณ จึงมีส่วนผลักดันให้ พล.อ.ประวิตร เป็น ผบ.ทบ.

สมัยไทยรักไทยเฟื่องฟู ทักษิณ ชินวัตร จัดแถวกองทัพ โดยให้ ผบ.ทบ.อยู่ในตำแหน่งคน 1 ปี แต่ก่อนหน้านั้น ทักษิณ ตั้งญาติ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตรเป็น ผบ.ทบ. มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย จึงโยก พล.อ.ชัยสิทธิ์ ไปนั่ง ผบ.สส. ทำให้ พล.อ.ประวิตร ถูกหวยได้เป็น ผบ.ทบ.

สมัยเป็น ผบ. ร.2 รอ. พล.อ.ประวิตร ก็ช่วยให้ วัฒนา เมืองสุข ได้เป็น ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคชาติพัฒนา

ปี 2547 วัฒนา จึงเป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลทักษิณ ที่สนับสนุน พล.อ.ประวิตรเป็น ผบ.ทบ.

พูดถึงความสัมพันธ์กับนักการเมือง เมื่อครั้งที่ พล.อ.ประวิตร เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ (ร.12 รอ.) ค่ายไพรีระย่อเดช สระแก้ว ทำให้นายทหารหนุ่มคนนี้ ได้รู้จักกับนักการเมืองตระกูลเทียนทอง 

พล.อ.ประวิตร จะรู้จักมักคุ้นกับ “กำนันกี” ขวัญเรือน เทียนทอง กำนันคนดังแห่ง อ.วัฒนานคร มากกว่าเสนาะ เทียนทอง 

ไม่แปลกหรอกที่กำนันกี จะพาลูกชายลูกสาวเข้ามาอยู่พรรคพลังประชารัฐ และตรีนุช เทียนทอง ก็ได้เป็น รมว.ศึกษาฯ เพราะพี่ป้อมหนุน

ถ้าวันนั้น “ผู้การประจักษ์” ก่อการยึดอำนาจสำเร็จ บูรพาพยัคฆ์ยุคยังเติร์กคงผงาดในกองทัพ และพี่น้อง 3 ป.ก็คงไม่ได้มีอำนาจวาสนา เหมือนเช่นทุกวันนี้

ยังเติร์ก จปร.7 อาจเป็นคณะยึดอำนาจไม่มีเส้น จึงไม่สามารถทำรัฐประหารได้ 2 ครั้งซ้อน เหมือนทหารบูรพา สายพี่น้อง 3 ป.

สงครามเย็นจบลงแล้ว แนวชายแดนไทย-กัมพูชา คืนสู่สันติสุข แต่ บูรพาพยัคฆ์ ภารกิจไม่สิ้น เมื่อถูกดึงเข้าสู่สมรภูมิการเมือง ตั้งแต่ปี 2549 จวบจนถึงปัจจุบัน