“ประยุทธ์” ระดมทีมกฎหมายสู้ 2 ประเด็น นายกฯ 8 ปี

“ประยุทธ์” ระดมทีมกฎหมายสู้ 2 ประเด็น นายกฯ 8 ปี

ระดมทีมกฎหมายสู้คดีนายกฯ 8 ปี  "ประยุทธ์" เร่งส่งคำชี้แจง ยก 2 ประเด็นต่อสู้ หลังจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 ต่อ 4 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ให้แก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน

การประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 24 ส.ค.2565 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ มีวาระสำคัญ คือการพิจารณาคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยหลังการประชุมจะมีการแถลงถึงเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่ต่อมาในช่วงบ่าย สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งยกเลิกการแถลงข่าว ให้สื่อมวลชนรอติดตามรายละเอียดจากเอกสารข่าว

ต่อมาในเวลา 13.00 น. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารทางการ ในประเด็นวาระ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ โดยระบุเนื้อหาว่า ที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีเรื่องต้องพิจารณา กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่

หยุดปฏิบัติหน้าที่-ชี้แจงใน 15 วัน

โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง และเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่ากรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7 (9) จึงมีมติเอกฉันท์ รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

ทั้งนี้ สำหรับคำขอของผู้ร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ศาลพิจารณาคำร้อง และเอกสาร ประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง จึงมีมติเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2565 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

 

เปิดชื่อตุลาการ“เสียงข้างมาก-น้อย”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกรณีดังกล่าว ที่แบ่งเป็น

- เสียงข้างมาก 5 ราย เห็นชอบให้พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่

  1. นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
  2. นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
  3. นายจิรนิติ หะวานนท์
  4. นายวิรุฬห์ แสงเทียน
  5. นายนภดล เทพพิทักษ์ 

- ฝ่ายเสียงข้างน้อย 4 เสียง ที่เห็นว่าไม่ควรให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่

  1. นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
  2. นายปัญญา อุดชาชน
  3. นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม
  4. นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

“ประยุทธ์” ระดมทีมกฎหมายสู้ 2 ประเด็น นายกฯ 8 ปี

มติครม.2563 มอบอำนาจรักษาการ

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ลำดับ 1 จะต้องนั่งดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี 

เนื่องจากตามมติ ครม.โดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ 13 ส.ค.2563 ในกรณีที่นายกฯ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ครม.มอบหมายให้รองนายกฯ เป็นผู้รักษาราชการแทนนายกฯ ตามลำดับ ดังนี้

  1. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
  2. นายวิษณุ เครืองาม
  3. นายอนุทิน ชาญวีรกูล
  4. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
  5. นายดอน ปรมัตถ์วินัย
  6. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

 

“วิษณุ”ชี้“ประวิตร”มีอำนาจเต็ม 

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบข้อถามผู้สื่อข่าวถึงอำนาจผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรีว่า พล.อ.ประวิตร มีอำนาจเต็ม ทั้งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย รวมไปถึงการทูลเกล้าฯ กฎหมายลูก แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลา และมีอำนาจในการรับสนองพระบรมราชโองการซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก

เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตร สามารถปรับ ครม.รวมถึงยุบสภาได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตามทฤษฎีต้องตอบว่าได้ แต่ทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ได้ทำคนเดียว ต้องไปเกี่ยวกับสถาบันฯ เหมือนที่บอกว่า ศาลให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นรักษาการได้หรือไม่ ทฤษฎีตอบว่าได้แต่ทางปฏิบัติก็อาจไม่รักษาการ ใครรักษาการระหว่างนั้น ทฤษฎีก็บอกว่ายุบสภาได้ แต่ทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันไม่สามารถทำเองได้คนเดียว อะไรที่เกี่ยวกับคนอื่น ต้องถามคนอื่นด้วย

สำหรับสถานะของ พล.อ.ประวิตร นายวิษณุ ยืนยันว่า รักษาการอัตโนมัติ ตามที่ศาลมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พล.อ.ประวิตร ก็ขึ้นปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จากนี้ต้องเรียก พล.อ.ประวิตร ว่ารักษาราชการแทน

 

“ประยุทธ์”เตรียมเข้าทำงานกลาโหม

นายวิษณุ เปิดเผยด้วยว่า “เมื่อสักครู่ ผมได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ ท่านระบุว่า ระหว่างนี้จะไม่มาที่ตึกไทยคู่ฟ้า จะไปปฏิบัติหน้าที่ที่กระทรวงกลาโหม และในการประชุมคณะรัฐมนตรี ท่านก็สามารถเข้าประชุมในฐานะ รมว.กลาโหม ขณะที่ พล.อ.ประวิตร ที่ผมได้พูดคุยเมื่อสักครู่ ก็ระบุว่า จะไม่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่ตึกไทยคู่ฟ้า” 

“ส่วนภารกิจ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเดินทางไปปฏิบัติราชการที่จังหวัดสงขลา เพื่อเป็นประธานในพิธีบรรจุอัฐิ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ วันที่ 26 ส.ค.ท่านมอบหมายให้ผมไปแทน” 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการพูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ไม่มี คงต้องรอให้ท่านตั้งตัวก่อน จากการพูดคุยกับทั้งสองท่าน ไม่มีใครตื่นเต้นตกใจอะไร”

 

ฝ่ายกม.เร่งส่งคำชี้แจงก่อน 15 วัน

เมื่อถามถึงการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน นายวิษณุ กล่าวว่า ทราบว่าทีมกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมการไว้อยู่แล้ว  “ได้ยินว่าฝ่ายกฎหมายจะตอบไปเร็วกว่า 15 วันที่ศาลกำหนด ทั้งนี้อาจจะมีแก้ไขอะไรบ้าง เขาจะส่งให้ผมดูอีกครั้ง”

เมื่อถามว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จะต้องช่วยให้ข้อมูลทางกฎหมายในเรื่องนี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าเขาขอมาต้องช่วย ซึ่งเรื่องธุรการ ทั้ง สลค.และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เขาเก่ง อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกฟ้องคดีศาลปกครอง 400 คดี สปน.ก็เป็นผู้ทำทั้งหมด ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เมื่อถามต่อว่า สำหรับการประชุมเอเปคกระบวนการจะเป็นอย่างไรต่อไป นายวิษณุ กล่าวว่า มันคงไม่ยาวไปถึงการประชุมเอเปค คงรู้ดีรู้ชั่วกันก่อนแล้ว

 

ชี้ 2 จุด ยกขึ้นต่อสู้

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 158 วรรค 2 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 โดยให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

ขณะที่มาตรา 159 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88

รายงานข่าวระบุว่า การตั้งข้อสังเกตจากฝ่ายกฎหมายที่จะยกขึ้นมาต่อสู้ 2 จุดใหญ่ ได้แก่

1.ในปี 2557-2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกนั้น ได้รับการแต่งตั้งจากสถานิติบัญญัติแห่งชาติ ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร

2.ในปี 2557-2562 ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ จึงจะนำมานับรวมไม่ได้

อย่างไรก็ตามก็มีผู้ทักท้วงว่าการทำหน้าที่ของสถานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ต่างจากสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด จึงต้องนับรวมกัน

 

ประวิตร“ปรับครม.-ยุบสภา”ไม่ง่าย

เมื่อถามย้ำว่า ช่วงเวลานี้พล.อ.ประวิตร สามารถยุบสภาได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในทฤษฎีได้ แต่ในทางปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่าย

เมื่อถามถึงการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพ พล.อ.ประวิตร สามารถรื้อโผเดิมได้หรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าใช้คำว่ารื้อ แต่ให้ใช้คำว่าสามารถทำได้ ซึ่งเรื่องการแต่งตั้งทหารต้องผ่าน 7 คน ประกอบด้วย รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม ปลัดกลาโหม และผบ.เหล่าทัพ ถ้า 7 คนนี้มาอย่างไร นายกฯ ก็รื้อไม่ได้ 

ส่วนการแต่งตั้งตำรวจนั้น ต้องไปผ่าน ก.ต.ช.ที่เป็นการตั้ง ผบ.ตร.คนเดียว ผบ.ตร.คนเก่าและคนใหม่ก็ต้องช่วยทำบัญชีด้วยกัน โดยทั้งสองส่วนนี้นายกฯเป็นผู้ลงนาม

 

ลุ้นผลอยู่บ้าน-มอบงานทำเนียบฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ช่วงเช้า ท่ามกลางสถานการณ์ที่รอลุ้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และมีกลุ่มผู้ชุมนุมดาวกระจายหลายจุดกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนั้น ปรากฏว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เดินทางเข้ามาปฏิบัติงานภายในทำเนียบรัฐบาล แต่มีการประชุมผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ จากบ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.)

โดยเวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์โดยเป็นที่สังเกตของผู้ร่วมประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ ค่อนข้างอารมณ์ดี พูดกระเซ้ารัฐมนตรีหลายคน 

ส่วนช่วงบ่าย เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานมอบรางวัล Prime Minister Award: National Startup 2022 และรางวัล Prime Minister Award : Innovation for Crisis ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล

 

“ดอน”ชี้ไม่กระทบเชื่อมั่น-เอเปค

นายดอน ให้สัมภาษณ์หลังเสร็จภารกิจที่ได้รับมอบหมาย หลังรู้ผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด คณะรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ต่อ ซึ่งผู้ที่รักษาการนายกฯ คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี คนที่ 1

“ไม่ว่าจะออกมาในสถานการณ์แบบไหน และในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา มีการพูดคุยกัน มีการแจ้งให้ทราบว่าอะไรเป็นอะไร รู้ล่วงหน้าในมุมว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร ทั้งอันดับแรก อันดับสอง อันดับสาม”

สำหรับ พล.อ.ประวิตร ที่จะขึ้นมารักษาการนายกฯ นายดอน กล่าวว่า ไม่เห็นมีปัญหาเพราะที่ผ่านมาเวลาไปแทนนายกฯ หรือในนามของรองนายกฯ หรือในอดีตในภารกิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ

ส่วนผลการวินิจฉัย ก็อยู่ที่ช่วงเวลาจากนี้ไป ถ้าออกมาชัดเจนก่อนเดือน พ.ย.ใครก็ตาม หรือ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเมื่อเคลียร์จบแล้วก็ว่ากันไป และไม่กระทบความน่าเชื่อถือในต่างประเทศ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกประเทศ ถ้าเป็นไปตามกระบวนการภายในที่ถูกต้องตามกฎหมายและวิถีทางทุกอย่างก็เดินหน้าต่อ

การประชุมเอเปคในเดือน พ.ย.จากวันนี้ไปอีกหลายเดือน ฉะนั้นไม่มีส่วนอะไรที่มีผลกระทบยังเหลือเวลาอีก 4 เดือน ก็เป็นที่รับรู้กันก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องที่น่ากังวล” นายดอน กล่าว