"ส.ว." เห็นต่าง ปมวาระ8ปีนายกฯ- ชี้ "ม็อบ" กดดันศาลรธน.ไม่ได้

"ส.ว." เห็นต่าง ปมวาระ8ปีนายกฯ- ชี้ "ม็อบ" กดดันศาลรธน.ไม่ได้

"ดิเรกฤทธิ์" เผยวงหารือ ปมนายกฯ8ปีของ "ส.ว." ไม่มีฟันธง แต่รับมีความเห็นต่าง 2 ประเด็น ปัดมองเรื่องใช้สามัญสำนึกแก้ปัญหา ชี้ส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ชัดเจน เชื่อม็อบกดดันศาลไม่ได้

          ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อเวลา 08.30 น. คณะกรรมการวิชาการของวุฒิสภา จัดกิจกรรมการพูดคุยระหว่างสมาชิกวุฒิสภา  เรื่อง 8 ปี ลุงตู่ครบหรือไม่ ไปหรืออยู่ โดยมีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เป็นประธาน และมีสมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมพูดคุย  อาทิ  นายเสรี สุวรรณภานนท์, นายออน กาจกระโทก, นายจเด็จ อินสว่าง, นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เข้าร่วม ทั้งนี้ นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เข้าร่วมการพูดคุยด้วย

 

 

          ภายหลังการจัดกิจกรรมนายดิเรกฤทธิ์ ให้สัมภาษณ์ว่าการพูดคุยดังกล่าวเป็นเรื่องทางวิชาการ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงได้ ทั้งนี้ไม่มีการลงมติใดๆ อย่างไรก็ดีในวงหารือมีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย โดยฝ่ายที่สนับสนุนความเห็นของนายเจษฎ์ ที่ระบุวาการนับวาระ 8 ปีนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นั้น เร่ิมนับตั้งแต่วันที่แต่งตั้ง คือ  วันที่ 24 สิงหาคม 2557 พร้อมระบุว่ามาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดความต่อเนื่องและเป็นเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ และอีกแนวทางคือ ให้เริ่มนับเมื่อ 9 มิถุนายน  2562 ซึ่งตนสนับสนุนดังกล่าวเช่นเดียวกัน  

 

          นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า การนับระยะเวลานายกฯ​ตามเงื่อนไขที่มาตั้งแต่วันแต่งตั้ง จึงได้นำพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีมาพิจารณา โดยครั้งแรก ได้รับการโปรดเกล้าฯ และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา สมัยที่ดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยระบุเนื้อว่าสนช. ให้ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์  ขณะที่พระบรมราชโองการ เมื่อ 9 มิถุนายน 2562 นั้นมีรายละเอียดที่มา ตามมาตรา 158 กำหนด ซึ่งอาศัยอำนาจและเงื่อนไขของการแต่งตั้งใครเป็นนายกฯ 

          นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า เหตุผลที่ต้องยึดพระบรมราชโองการเป็นหลักนั้น เพราะตนมองว่าใครจะได้ดำรงตำแหน่งอะไรอยู่ที่คำสั่ง โดยตำแหน่งนายกฯ นั้นให้ดูจากพระบรมราชโองการ ดูจากรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ก็ชัดเจน ทั้งนี้ ประเทศเราจะให้นาย ก. นาย ข. หรือนาย ค. เป็นผู้ว่าฯ เป็นผบ.ตร. หรือเป็นนายกฯก็ต้องอยู่ที่คำสั่ง คำสั่งนั้นจะตั้งโดยใคร กฎหมายบอกไว้ จะตั้งโดยเงื่อนไขอะไร และจะออกเมื่อไหร่ อยู่ได้อีกแค่ไหน ทำหน้าที่อย่างไร อยู่ในคำสั่งทั้งนั้น ฉะนั้นความชัดเจนจึงอยู่ที่คำสั่งทั้งสองฉบับ ถ้าไปอ่านก็จะได้คำตอบว่าควรจะนับอย่างไร 

 

 

          “พระบรมราชโองการคือใบเกิด ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐหากจะออกคำสั่งเรื่องอะไรต้องให้เหตุผลไว้  และในเหตุผลนั้นอธิบายว่าใช้อำนาจอะไรบ้าง ประเทศเราใช้อำนาจประชาธิปไตยเป็นของประชาชน และอำนาจประชาชน ปวงชนชาวไทย ใช้อำนาจผ่านพระมหากษัตริย์ ดังนั้นต้องดูพระบรมราชโองการ ทั้งนี้การออกพระบรมราชโองการต้องมีฐานที่มา ว่ารัฐสภาเสียงข้างมาก อาศัยอำนาจที่ใช้ โดยการใช้อำนาจของสถาบันเป็นไปภายใต้เงื่อนไข” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว

 

          เมื่อถามว่าขณะนี้วาระ 8 ปีของนายกฯ มีการพูดและเรียกร้องถึงสามัญสำนึก  นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวยอมรับว่ามีการพูดถึง และให้ตระหนักเพราะเงื่อนไขที่กำหนดเพื่อแก้ปัญหาการผูกขาดอำนาจ ดังนั้นการใช้อำนาจต้องตระหนัก อย่างไรก็ดีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในกติกา หากศาลตัดสินว่าอยู่ไม่ได้ ก็ต้องออก แต่หากบอกว่าอยู่ได้ นับจากปี2562 จนถึงปี 2570 จะมีช่วงเวลาครบวาระที่ชัดเจน ส่วนการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเด็นดังกล่าว ตนมองว่าไม่สามารถกดดันการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญต้องทำหน้าที่เป็นหลักให้กับบ้านเมือง  เช่นเดียวกับส.ว.ที่พร้อมทำงานตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด.