“ยุบสภา” ทางเลือก อยู่ยาว   ทางไปต่อ “3 ป.” ต้องฝืน รธน.

“ยุบสภา” ทางเลือก อยู่ยาว   ทางไปต่อ “3 ป.” ต้องฝืน รธน.

ข้อเสนอให้ "ยุบสภา" และนั่งแท่น "นายกฯ-รัฐบาลรักษาการ" ยาว 5-6เดือน เพื่อประคองอำนาจของ "ส.ว.วันชัย" อาจมีคนนำไปขบคิด แต่ตามช่องของ "รัฐธรรมนูญ60" ยังเป็นไปได้ยาก

        ท่ามกลางกระแสข่าว “ยุบสภา” เพื่อแก้ปัญหาการเมืองที่คาบเกี่ยวกับการครบวาระ "นายกฯ 8 ปี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วันที่ 25 สิงหาคมนี้ 
 

        ช่วงเช้าวันที่ 17 สิงหาคม มีคำสัมภาษณ์ของ “ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า

 

        “พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า ไม่มีการยุบสภา และจะเดินหน้าทำงานให้ประชาชนอย่างเต็มที่ ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่”


        สุ้มเสียงที่การันตีว่า “ไม่ยุบสภา” จะไม่ได้ออกจากปาก "ผู้มีอำนาจยุบสภา” ตัวจริง ดังนั้นฝ่ายที่ลุ้นให้ “ยุบสภา” จึงมีความหวังว่า แนวทางนี้ อาจเป็นทางเลือกที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ใช้ตัดสินใจ และนำไปสู่การเลือกตั้ง เพื่อเปลี่ยนขั้วอำนาจ
 

        แต่การยุบสภาหากจะเกิดขึ้นตามที่ฝ่ายค้าน ลุ้นให้เกิดวันนี้ หรือพรุ่งนี้ ใช่ว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายขั้วอำนาจได้เร็ว อย่างที่หวัง

“ยุบสภา” ทางเลือก อยู่ยาว   ทางไปต่อ “3 ป.” ต้องฝืน รธน.

        เพราะการยุบสภา อาจเปิดช่องให้ “ขั้วอำนาจเก่า” ประคองอำนาจได้ต่อไปยาวๆ

        ความน่าจะเป็นที่เกิดขึ้นได้ ในมุมมองของ “โหรการเมือง” ส.ว.วันชัย สอนศิริ ที่ทำนายมาตั้งแต่ 2 เดือนก่อนว่า อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ในช่วงเดือนสิงหา-กันยา นี้ และล่าสุดยังโพสต์เพื่อส่งสัญญาณยุบสภา เพื่อใช้เป็นเกมต่ออายุ “รัฐบาลประยุทธ์”

 

        “การตีความวาระ 8 ปีนายกฯ ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะออกมาได้ใน 3 แนวทาง แต่หากเชื่อว่าจะตีความให้อยู่ยาว ไม่ต้องทำอะไร แต่หากประเมินแล้วว่าจะไม่รอด ศาลตัดสินให้หลุดจากอำนาจ จะปล่อยเลยตามเลย ถือว่าเสี่ยงเกินไป ต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลมให้รีบยุบสภาก่อนศาลตัดสิน ตัวเองอยู่รอดปลอดภัย เป็นนายกฯ รักษาการ ประคองอำนาจไป 5-6 เดือน”

“ยุบสภา” ทางเลือก อยู่ยาว   ทางไปต่อ “3 ป.” ต้องฝืน รธน.
        

 

        ต้องยอมรับว่าการรักษา “อำนาจ” ไว้ให้อยู่ในขั้วของตัวเอง ยังคงเป็นความปรารถนาของ “กลุ่ม 3 ป.” และองคาพยพ แต่ครั้นจะเลือกทางยุบสภา และประคองอำนาจไป 5-6 เดือน ฟังดูผิวเผินอาจไม่มีเหตุและผล

 

        ตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นเงื่อนไขคือ เมื่อนายกฯ ตัดสินใจยุบสภา เท่ากับวาระของสภาฯ รวมถึงผู้แทนราษฎรต้องยุติ และสิ้นสุดลง รัฐธรรมนูญ มาตรา 102 กำหนดให้นับแต่วันที่อายุของสภาฯสิ้นสุดลง ต้องตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้การเลือกตั้ง ส.ส. เกิดขึ้น ภายใน 45 วัน

 

        และมาตรา 103 วรรคสาม กำหนดว่า นับจากมี พ.ร.ฎ.แล้วภายใน 5 วัน “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน

        ดังนั้น ห้วงเวลาที่ยาวนานที่สุดของการมีการเลือกตั้งทั่วไป หลังการยุบสภา คือ 2 เดือน และแนวปฏิบัติของการเลือกตั้งที่ผ่านมาหลังการยุบสภา มีห้วงเวลาจากวันยุบสภาถึงวันเลือกตั้งครั้งใหม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเช่นกัน

 

        ดังนั้นข้อเสนอให้ยุบสภาเพื่อประคองอำนาจ 5-6 เดือนของ “โหรวันชัย” นาทีนี้ยังมองไม่ออกว่าจะฝ่าด่านรัฐธรรมนูญไปได้อย่างไร

 

        ทว่าบนเงื่อนไขของรัฐบาลประยุทธ์ ที่สวมทับร่างรัฐบาล คสช. ฐานะผู้ทำคลอดรัฐธรรมนูญ 2560 อาจรู้ และสบช่องที่ทำให้ รัฐบาลรักษาการอยู่ยาวได้

 

        โดยยกเหตุผลบนเงื่อนไขของ “รอร่างกฎหมายสำคัญ” ประกาศใช้ ทั้งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ค้างอยู่ขั้นของรัฐสภา โดยรอการยื่นตีความไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หากมีสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ... ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนส่งให้ กกต. พิจารณาและรอว่าจะมีคำทักท้วงหรือไม่

 

        หากผ่านในขั้นตอนของ “รัฐสภา” จะมีช่วงเวลา “รอ” ในชั้น “นายกฯ” ยาวที่สุด 25 วัน และ ขั้นตอนรอประกาศอีกไม่เกิน 90 วัน

 

        ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่จะผ่านในชั้นเห็นชอบ จาก “สภาผู้แทนราษฎร” 19 สิงหาคม และในชั้นวุฒิสภาจะพิจารณา 29 สิงหาคม และ การประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจ (เอเปค) ช่วง 16 - 18 พฤศจิกายน

 

        ทว่า ช่วงเวลาวัดใจ “พล.อ.ประยุทธ์” ว่าจะหาทางออกทางการเมืองแบบไหน มีเวลาให้ไตร่ตรองอีกไม่มาก 

“ยุบสภา” ทางเลือก อยู่ยาว   ทางไปต่อ “3 ป.” ต้องฝืน รธน.

        “ฝ่ายเชียร์รัฐบาล” ยังหวังว่า “ศาลรัฐธรรมมนูญ” ที่มีวาระนัดประชุมทุกวันพุธของสัปดาห์ จะวินิจฉัยในทางที่เป็น “คุณ” กับความต้องการอยู่ยาว และลอดช่อง “รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคท้าย” ที่วางเป็นหลักของการแก้วิกฤติการเมือง เพราะผู้มีอำนาจผูกขาดอำนาจทางการเมืองยาวนานเกินไปได้.