“ประยุทธ์”เสี่ยงเข้าเรดโซน สวนกระแส"ยุบสภา"ก่อน 8 ปี

“ประยุทธ์”เสี่ยงเข้าเรดโซน สวนกระแส"ยุบสภา"ก่อน 8 ปี

กกต.-สลค. จะโยนความผิดให้แก่กัน แต่การใช้เวลาเกือบ 2 ปี และมาเผยแพร่ในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในช่วงเข้าด้ายเข้าเข็ม จึงมีคำถามว่ามี “มือมืด” ซุ่มปฏิบัติภารกิจเลื่อยขาเก้าอี้ “พล.อ.ประยุทธ์” หรือไม่

การเมืองร้อนปม 8 ปี บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกผูกโยงกับกระแสข่าว “ยุบสภา” เพื่ออยู่ต่อในตำแหน่งนายกฯ รักษาการ ซึ่งจะไม่นับรวมกับ 8 ปี จะทำให้อยู่ในตำแหน่งต่อได้อีกระยะหนึ่ง

โดย “ขั้วฝ่ายค้าน” นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นหนังสือต่อ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยมี ส.ส. ร่วมกันเข้าชื่อ 171 รายชื่อ

ขณะเดียวกันคำร้องดังกล่าว “ขั้วฝ่ายค้าน” ยังได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ “พล.อ.ประยุทธ์” หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย เพื่อไม่ให้นายกฯใช้อำนาจที่เป็นคุณเป็นโทษได้

โดย “ชวน” คาดว่าอาจจะใช้เวลา 1-2 วัน เพื่อตรวจสอบคำร้อง และความถูกต้องของผู้ร่วมลงชื่อ จากนั้นจะสามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องติดตามว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้วินิจฉัย จะมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

ฟากฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้งัดทุกกลยุทธ์มาตั้งรับ เพราะกระแสข่าวชิงจังหวะ “ยุบสภา” เริ่มหนาหูขึ้น จากเดิมที่มั่นใจว่าจะสามารถประคับประคองสถานการณ์ เข็นรัฐบาลลากยาวจนเสร็จสิ้นการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ “เอเปค” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 16-18 พ.ย.2565 นี้

แต่สถานการณ์เริ่มรุมเร้า กดดันทุกทิศทาง แถมจู่ๆ มีราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ.2563 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 16 ส.ค. 2565

โดยการกำหนดเงื่อนไขการทำหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาการ ระหว่างที่อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาเพื่อให้เกิดความเสมอภาค และโอกาสทัดเทียมในการเลือกตั้ง โดยมีสาระสำคัญ 7 ข้อ ไม่ให้ครม.ระหว่างรักษาการใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ ที่มีผลต่อการเลือกตั้ง

ทว่า ระเบียบฉบับดังกล่าว “ประธาน กกต.” ลงนามตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.2563 ก่อนส่งมายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทันที แต่กลับมาประกาศลงราชกิจานุเบกษา เมื่อ 15 ส.ค.2565 จนถูกมองว่ามี “มือมืด” จ้องเล่นเกมปั่นกระแส “ยุบสภา”

ด้าน สลค.ชี้แจงว่า ทาง กกต.ประสานมาให้ทาง สลค. นำระเบียบดังกล่าวของ กกต. ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา สำหรับเหตุผลที่ กกต. ขอให้ดำเนินการเช่นนั้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีจุดประสงค์อย่างไร

แม้ กกต.-สลค. จะโยนความผิดให้แก่กัน แต่การใช้เวลาเกือบ 2 ปี และมาเผยแพร่ในช่วงสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในช่วงเข้าด้ายเข้าเข็ม จึงมีคำถามว่ามี “มือมืด” ซุ่มปฏิบัติภารกิจเลื่อยขาเก้าอี้ “พล.อ.ประยุทธ์” หรือไม่

เพราะหากระดับ “บิ๊กเนม” ไปกดปุ่ม เพื่อเปิดเกมวางยา “พล.อ.ประยุทธ์” และหวังผลต่อยอดปั่นกระแสนับถอยหลังเลือกตั้ง คงไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น

แถมยังตอกย้ำรอยร้าว “3 ป.” ซึ่งมีตัวละครทางการเมืองคอยสอดแทรก บงการเกมสกัด “พล.อ.ประยุทธ์” ไปต่อ เพื่อเชิด “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแทน

อย่างไรก็ตาม “โฆษกแด๊กซ์” ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับบัญชาจาก “พล.อ.ประยุทธ์” ออกมาคอนเฟิร์ม ไม่มีแนวคิดจะ “ยุบสภา” พร้อมทำงานเต็มที่ตามกรอบเวลาที่เหลืออยู่ หวังสยบกระแสข่าวลือ

โฟกัสหลักของ “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ที่การจัดประชุม “เอเปค” หากยอมถอยด้วยการ “ยุบสภา” ประเทศไทยจะเดินเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ซึ่งจะกระทบต่อการจัดประชุมเอเปคอย่างแน่นอน

ที่สำคัญการจัดประชุม “เอเปค” ในฐานะนายกฯรักษาการ-รัฐบาลรักษาการ จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศเช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลให้ “ผู้นำประเทศ” ตัดสินใจไม่มาเข้าร่วมประชุม หรือส่งตัวแทนมาร่วมประชุม โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจ

จึงทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” พร้อมจะลุยไฟ รอคำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อความสง่างามในการประชุมเอเปค  

หากผลการตัดสินของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นผลลบต่อตัว “พล.อ.ประยุทธ์” ว่ากันว่า มีการเตรียมแผนสำรองเอาไว้แล้ว

ชั่วโมงนี้ จึงฟันธงได้เลยว่า “พล.อ.ประยุทธ์” ตัดสินใจเดินเข้าเรดโซน พร้อมให้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตัดสินอนาคตการเมือง!