สัญญาณ กกต.7 ข้อ เปิดเกมเลือกตั้ง สกัด ครม.ใช้ "อำนาจรัฐ" เอาเปรียบ 

สัญญาณ กกต.7 ข้อ เปิดเกมเลือกตั้ง สกัด ครม.ใช้ "อำนาจรัฐ" เอาเปรียบ 

อาจมองเป็น "ปี่กลอง" ที่เตรียมลั่น นำไปสู่ "การเลือกตั้งได้"​ เมื่อ ระเบียบ กกต. ที่คุมเข้มการใช้ทรัพยากรของรัฐและบุคลากรของรัฐ มีผลบังคับใช้ ในช่วงที่สถานการณ์การเมือง กำลังจับจ้อง "วันยุบสภา" เร็วๆนี้

         เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ลงประกาศระเบียบฉบับหนึ่ง ที่ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือ กกต.โดยมี อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เป็นผู้ลงนาม ถูกตั้งข้อสังเกตถึงความสอดคล้องในสถานการณ์ทางการเมือง ที่ถูกเร่งวันเร่งคืนให้ “ยุบสภา” 

 

         ระเบียบฉบับที่ว่านั้น ว่าด้วย "การใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ.2563”

 

         ซึ่งออกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 169 (4) ที่กำหนดให้ กกต.ออกระเบียบกำหนดข้อห้ามการใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ เพื่อกระทำการใดอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง   

 

         โดยความน่าสนใจ คือ ราชกิจจานุเบกษาประกาศ เมื่อ 15 สิงหาคม 2565 และระเบียบนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันถัดจากวันประกาศ คือ 16 สิงหาคม 2565 แต่เมื่อดูท้ายระเบียบ พบว่ามีการลงวันที่ 28 ตุลาคม 2563

 

         หรือใช้เวลาเกือบ 2 ปี ถึงประกาศระเบียบดังกล่าว

 

         เมื่อดูสาระของระเบียบ พบว่ามีประเด็นสำคัญที่ กกต.วางเป็นหลักปฏิบัติของ ครม.รักษาการ ห้ามกระทำ แยกย่อย 7 ข้อ ได้แก่ 

         1.ห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ โดยการกำหนดนโยบาย โครงการ แผนงาน โดยให้มีผลบังคับใช้ทันที และมีลักษณะสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมในการเลือกตั้ง

 

         2.จัดประชุม ครม.นอกสถานที่ หรือนอกเหนือจากการประชุมปกติ และใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมในการเลือกตั้ง

สัญญาณ กกต.7 ข้อ เปิดเกมเลือกตั้ง สกัด ครม.ใช้ "อำนาจรัฐ" เอาเปรียบ 

         3.กำหนด สั่งการ หรือมอบหมายให้มีการประชุม อบรม หรือสัมมนาบุคลากรของรัฐ หรือเอกชน โดยใช้งบประมาณของรัฐ หรือเงินของกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ โดยอาจให้มีการแจกจ่ายทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ยกเว้นเป็นการประชุมตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน 

 

         4.กำหนด สั่งการ หรือมอบหมายให้อนุมัติ โอนหรือเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้หน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ เพื่อแจกจ่ายทรัพย์สิน หรือประโยชน์ให้แก่ประชาชน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนหรือรัฐ  

 

         5.กำหนด สั่งการ หรือมอบหมายให้แจกจ่าย จัดสรร ทรัพยากรของรัฐให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด โดยไม่มีเหตุอันสมควร ยกเว้นเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย หรือจำเป็นเร่งด่วน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนหรือรัฐ  

สัญญาณ กกต.7 ข้อ เปิดเกมเลือกตั้ง สกัด ครม.ใช้ "อำนาจรัฐ" เอาเปรียบ 

         6.ใช้พัสดุ หรือเบิกจ่ายค่าเดินทางจากหน่วยงานรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือใช้บุคลากรของรัฐ เพื่อปฏิบัติงาน เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมในการเลือกตั้ง

 

         7.ใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น คลื่นความถี่ หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรืองบประมาณด้านประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ เพื่อประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ ที่จะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมในการเลือกตั้ง

         ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องวันที่ประกาศ และวันที่ กกต.ส่งให้ประกาศนั้น “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต.ระบุว่ามีความน่าสงสัยว่า กกต.ส่งไปประกาศเมื่อใดกันแน่ เพราะตามปกติ เมื่อ กกต.ส่งเรื่องให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะใช้เวลาลงประกาศอย่างช้า 1 เดือนเท่านั้น

 

         พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หากประกาศ กกต. ซึ่งลง พ.ศ.2563 แต่มีผลในกลางเดือนสิงหาคม 2565 อาจมองได้ว่า เป็นการเตรียมพร้อม และให้ ครม.เตรียมตัว แต่ทำไมถึงเลือกออกระเบียบปี 2563 ทั้งที่ควรออกระเบียบตั้งแต่ปี 2562

สัญญาณ กกต.7 ข้อ เปิดเกมเลือกตั้ง สกัด ครม.ใช้ "อำนาจรัฐ" เอาเปรียบ 

         “อาจเป็นเพราะในช่วงปี 2562 ครม.ยังเป็น คสช.จึงอาจเกรงใจ จึงยอมออกระเบียบภายหลังเลือกตั้ง แต่ช่วงเลือกตั้งผ่านพ้นไป และปีปัจจุบันคือ 2565 ดังนั้นอาจตั้งข้อสังเกตได้ ถึงการเตรียมพร้อมที่จะมีการเลือกตั้งเร็วๆ นี้” อ.สมชัย ตั้งข้อสังเกต

 

         ไม่ว่า ระเบียบ กกต.จะออกตามอำนาจ และกรอบรัฐธรรมนูญ แต่ในห้วงที่สถานการณ์การเมืองคุกรุ่น ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือการส่งสัญญาณเพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง ที่จำเป็นต้องกำหนดกติกา โดยเฉพาะช่วงรอยต่อหมดอำนาจ เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองอย่างเข้มงวด.