"ดิเรกฤทธิ์" เชื่อ "ส.ว." ไม่ร่วมเข้าชื่อยื่นศาลรธน. ปมสูตรคำนวณส.ส.

"ดิเรกฤทธิ์" เชื่อ "ส.ว." ไม่ร่วมเข้าชื่อยื่นศาลรธน. ปมสูตรคำนวณส.ส.

"ดิเรกฤทธิ์" ชี้ ปัญหาสูตรคำนวณส.ส. "ส.ส." ต้องแก้เอง "ส.ว." ไม่ร่วมวง ลงชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ มองปัญหาสภาฯ ล่มเพราะเทคนิคไม่แสดงตน อาจสร้างปัญหาต่อการพัฒนาการเมือง

          นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ให้สัมภาษณ์ถึงท่าทีของส.ว. ต่อการร่วมเข้าชื่อกับนพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ เพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... ว่า ส.ว. ส่วนใหญ่ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นสภาถ่วงดุล มีความเป็นกลาง ดังนั้นการร่วมเข้าชื่อในประเด็นดังกล่าว จะไม่มีส.ว. เข้าร่วม และส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องของ ส.ส. และสภาผู้แทนราษฎรที่มีฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจะดำเนินการ ขณะที่ส.ว. ไม่ควรร่วมลงชื่อ  ส่วนตัวจะไม่ร่วมยื่นกับนพ.ระวี แต่ยังขอสิทธิส่วนตัวที่จะแสดงความเห็น

 

          “การยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความนั้นเป้นเรื่องที่ทำได้ เมื่อใครมีข้อสงสัย หรือไม่เห็นด้วยกับแนวทาง และมีความเห็นไม่ตรงกันซึ่งยอรับว่าทั้งฝ่ายที่สนับสนุนให้หาร 100 หรือ หาร 500 ในร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งต่างมีประเด็นที่มองได้ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ และกรณีที่ขณะนี้กลับไปใช้ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งฉบับขอรัฐบาล หากมีปัญหาที่สงสัยว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ ต้องนำไปสู่การยุติข้อสงสัยให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว

          นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวถึงประเด็นการเล่นเกมเทคนิคไม่ร่วมแสดงตนเพื่อเป็นเหตุให้ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ที่กมธ.พิจารณาไม่แล้วเสร็จตามกรอบเวลา ว่า ในประเด็นดังกล่าวมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่มองว่าเป็นการไม่ทำหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สมาชิกรัฐสภาต้องมีหน้าที่เข้าร่วมประชุม พิจารณากฎหมาย อีกฝ่ายมองว่าเป็นการทำหน้าที่เพื่อยับยั้งร่างกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง ส่วนตัวมองว่าผู้ที่ไม่มาร่วมประชุมนั้นคือ ไม่มาทำหน้าที่ และอาจทำให้เป็นปัญหาทางการเมืองได้ในอนาคต รวมถึงเกิดทัศนคติการทำงาน พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องได้ เช่นเดียวกับกรณีที่มีการวิจารณ์บุคคลที่ที่กินเงินเดือนแต่ไม่ทำหน้าที่

 

 

          “อนาคตหากมีคนไม่ชอบรัฐบาล ไม่ต้องมาลงมติไม่ไว้วางใจให้นอนอยู่บ้าน หรือไม่ถูกใจกฎหมายนอกอยยู่บ้าน เท่ากับคัดค้าน วิธีการแบบนี้ ผมไม่เห็นด้วย และอาจจะกระทบต่อการพัฒนาการเมือง  ส่วนกรณีที่มีส.ว.มาร่วมแสดงตน 150 คนไม่มา 99 คนนั้น ยอมรับว่าเป็นเพราะมีความเห็นต่าง หากประเด็นนี้จะถูกนำไปโยงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญกำหนด เชื่อว่าสามารถทำได้ เพราะบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเขียนไว้ และเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่ถูกยื่นต้องอธิบาย เบื้องต้นผมทราบว่าจะมีผู้ที่ไปยื่นเรื่องต่อป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว.