“ดร.ณัฎฐ์” ชี้ ระบบรัฐสภา เปิดช่องสูตรหาร 100 ส่งศาลรธน.ตีความ

“ดร.ณัฎฐ์” ชี้ ระบบรัฐสภา เปิดช่องสูตรหาร 100 ส่งศาลรธน.ตีความ

“ดร.ณัฎฐ์” ระบุ กลไกระบบรัฐสภา รัฐธรรมนูญยังเปิดช่อง ร่างสูตรหาร 100 ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ หลังการประชุมสภา พิจารณาพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ล่มวันนี้

วันที่ 15 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานภายหลังปิดประชุมรัฐสภาเนื่องจากไม่ครบองค์ประชุมเพราะสมาชิกรัฐสภามาแสดงตนเพียง 353 คน ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ ดร.ณัฎฐ์  นักกฎหมายมหาชน  กล่าวว่า  การเข้าร่วมประชุม เป็นหน้าที่โดยตรงของฝ่ายนิติบัญญัติ  ในระบบรัฐสภาที่เปิดช่องให้ฝ่ายนิติบัญญัติที่จะเข้าร่วมประชุมพิจารณาตรากฎหมายดังกล่าวหรือไม่ก็ได้  ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องเข้าร่วมประชุม ถือเป็นดุลพินิจของสมาชิกรัฐสภา เหมือนกับระบบรัฐสภาของอังกฤษ ไม่ต่างกัน ให้ถือตามมติองค์ประชุม และเสียงข้างมาก ถือว่าเป็นกลไกของระบบรัฐสภา  กรณีร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร..เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 131 และต้องดำเนินการตามมาตรา 132 คือ ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน หากพ้นกำหนดระยะเวลามาตรา 132(1) ให้กลับไปใช้ร่างเดิม 

"วันนี้ ครบ 180 วันรัฐธรรมนูญมาตรา 132(1) ให้กลับไปใช้ร่าง ตามมาตรา 131 (1) ร่างเดิม รัฐสภามีมติเห็นชอบโดยปริยาย  คือ ร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี หรือพูดภาษาชาวบ้านว่า สูตรหาร 100  ร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีโดยข้อเสนอของ กกต.ผ่านสภาโดยปริยาย ส่วนสูตร หาร 500 ร่างดังกล่าวย่อมตกไป" ดร.ณัฎฐ์ กล่าวและว่า

สำหรับกระบวนการต่อจากนี้ จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 และต้องปฎิบัติตามระเบียบข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ตามมาตรา 132(2) ภายใน 15 วันนับแต่วันที่รัฐสภาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไปยังองค์กรอิสระ คือ กกต. เพื่อให้ความเห็น หากไม่มีข้อทักท้วงภายใน15วันนับแต่วันที่ได้รับร่างดังกล่าว ให้รัฐสภาดำเนินการตามมาตรา 81 

ในกรณี กกต. องค์กรอิสระ เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือทำให้ไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ มาตรา 132(3) เปิดช่องให้เสนอความเห็นไปยังรัฐสภา และให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วัน ในการนี้ รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมตามข้อเสนอของ กกต. องค์กรอิสระได้ ตามที่เห็นสมควร และเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วให้ดำเนินการช่องทางมาตรา 81 วรรคสอง ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญเปิดช่องทางอื่นให้สูตรหาร 500 ฟื้นคืนชีพหรือไม่ ดร.ณัฎฐ์ กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้กระทำเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 โดยเปิดว่างกฎหมายให้ มาตรา 81 วรรคสอง อยู่ภายใต้บทบัญญัติมาตรา 145 คือ เมื่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรี รอไว้ 5 วันนับแต่วันที่ได้รับร่วงจากรัฐสภา หากไม่มีกรณีดำเนินการตามมาตรา 148 ให้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน20วันนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ซึ่งช่วงระยะเวลา 5 วันที่ร่างมาอยู่ในมือนายกรัฐมนตรี เปิดช่องทางให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สูตรหาร 100) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฏร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 148(1) แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยและแจ้งให้แก่นายกรัฐมนตรีทราบโดยไม่ชักช้า หรืออีกช่องทางหนึ่ง ตามมาตรา 148(2) หากนายกรัฐมนตรี เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือตราโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยและแจ้งให้แก่ประธานสภาผู้แทนราษฏรและประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้  ตรงนี้ เป็นกลไกในระบบรัฐสภาตรวจสอบการใช้อำนาจ โดยถ่วงดุลตรวจสอบตามนิติรัฐและหลักการแบ่งแยกอำนาจ ระหว่าง ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ