มติ กรธ. ปม “8 ปีนายกฯ” สัญญาณ“ประยุทธ์”รอด-ร่วง ?

มติ กรธ. ปม “8 ปีนายกฯ”   สัญญาณ“ประยุทธ์”รอด-ร่วง ?

สัญญาณการออกมาการันตีความมั่นคงของเก้าอี้ พล.อ.ประยุทธ์ ของเครือข่าย “เนติบริกร” ผนวกกับท่าทีของ พล.อ.ประวิตร ดูเหมือนว่า “ฝ่ายซ้าย”จะต้องชอกช้ำซ้ำอีกครา 

เอกสารลึกแต่ไม่ลับ บันทึกการประชุมตอนหนึ่ง ที่อ้างอิงความเห็น “มีชัย ฤชุพันธุ์” อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. “สุพจน์ ไข่มุกด์” อดีตรองประธาน กรธ. คนที่หนึ่ง ที่สรุปความได้ว่า “การนับวาระดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ให้นับรวมวาระที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ก่อนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ใช้บังคับด้วย”

ทำให้บรรดา “กองแช่ง” ที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี หลังดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 158 กำหนดเอาไว้ได้ มีความหวัง

ทว่า “สุพจน์” ออกมาเคลียร์ทันควันว่า เอกสารดังกล่าวมี “มือมืด” ต้องการบิดเบือนข้อเท็จจริง เนื่องจากข้อความดังกล่าวเป็นเพียงความเห็นของ “มีชัย-สุพจน์” ในการประชุม กรธ. พิจารณาและจัดทำ "ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมูญ 2560” ตั้งแต่ 6 ธ.ค. 2560 ถึง 11 ก.ย. 2561

โดยการประชุมในครั้งดังกล่าวมีมติของ กรธ.เกี่ยวปมดังกล่าวรวมอยู่ด้วย แต่ “มือมืด” ไม่นำมาเปิดเผยให้ครบสิ้นกระบวนความ ทำให้ “สุพจน์” ชี้ช่องให้ดูมติ กรธ.ที่ระบุในความมุ่งหมาย

ซึ่งกรธ.จัดพิมพ์ในเอกสาร ระบุว่า “กำหนดให้ครม. ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีครม. ชุดใหม่ เพื่อความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยต้องมีคุณสมบติและลักษณะต้องห้ามตามบทหลักของรัฐธรรมนูญ ยกเว้นลักษณะต้องห้ามบางประการที่ใช้บังคับกับครม. ที่มาตามรัฐธรรมนูญนี้เป็นการเฉพาะ”

หากตีความตามเนื้อหา เหมือนแสตมป์ให้ ครม. “ประยุทธ์ 1” ที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2557 ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่ที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงจะเข้าเกณฑ์ตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560

แต่เอกสารความมุ่งหมายของ กรธ. ก็ยังไม่ฟันธงอย่างชัดเจนว่า ให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในช่วงใด ซึ่งที่สุด ก็ต้องรอให้ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำวินิจฉัยออกมา

แต่ที่แน่ๆ ความเห็นส่วนตัวของ “สุพจน์” ระบุชัดเจนว่า “ความเห็นของผม ไม่เกี่ยวกับพรรคหนึ่งพรรคใด ฉะนั้นที่พูดคุยกัน ยังไม่รู้เลยว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อกลายเป็นบุคคลท่านนี้ขึ้นมา ก็อาจจะคิดว่าผมไปนิยมชมชื่นกับนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน แต่ถ้าดูตามกฎหมายแล้ว เป็นไปตามขั้นตอนของมัน”

ถ้าตีความตามหลักนิติรัฐก็ชัดเจนเลย เราต้องเอาหลักนิติศาสตร์เป็นหลัก แม้ผมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางรัฐศาสตร์ก็ตาม นับแต่วันที่โปรดเกล้าฯ (ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 วันที่ 9 มิ.ย. 2562) แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลัก”

เช่นเดียวกับความเห็น “อุดม รัฐอมฤต” อดีต กรธ. ระบุว่า “การนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ “ไม่ใช่ว่าจะนับตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ แต่ต้องเป็นตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ยังไปตีความกันอีกว่าพอมีรัฐธรรมนูญ 2560 พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อยู่แล้วก็นับระยะเวลาไปด้วย อย่าลืมว่าตอนนั้นเขาไม่ได้เป็นนายกฯ ตามมาตรา 158 แต่เป็นนายกฯ ตามบทเฉพาะกาล”

ทางออก-ทางรอด ของนายกฯประยุทธ์ ถูกประทับตรารับรองจากความเห็นของ 2 อดีต กรธ.ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งแน่นอนว่าในวงการกฎหมายผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นระดับ “เนติบริกร”ย่อมมีความเห็น ที่เปิดช่องให้เอื้อกับ “ขั้วอนุรักษ์นิยม” พอสมควร

ไม่ต่างจาก “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย แม้จะไม่ออกมาฟันธงว่าปม 8 ปีของนายกฯ จะออกมาในทิศทางใด แต่ท่าทีของ “วิษณุ” ค่อยข้างมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปต่อ

จับอาการ ท้าให้ “ขั้วฝ่ายค้าน-นักร้อง” รีบหาช่องทางยื่นให้ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ตีความ พอจะเดาได้ว่า “วิษณุ” มีไม้เด็ดที่จะอธิบายต่อ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” รวมทั้งชี้แจงต่อประชาชนที่ติดตามปม 8 ปีอย่างใจจดใจจ่อ

พ่วงด้วยคำให้สัมภาษณ์ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฟันธง ว่า “น้องเล็ก” 3 ป.ยังอยู่ต่ออีก 2 ปี ซึ่งหมายถึงการเข้ารับตำแหน่งหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าอีกคำรบหนึ่ง ก่อนจะปฏิบัติภารกิจพิเศษตามที่มุ่งหวัง จากนั้น 2 ปีหลังจะหาทางลงอย่างสง่างาม

วาระ 2 ปีหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ลงจากหลังเสือ ตัวเลือกอาจจะพุ่งไปที่ตัวของ พล.อ.ประวิตร หรือทายาทของ “คสช.” ที่พอจะคุมเกมการเมืองไว้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ “3 ป.” โดนแรงกระแทกจากการลงหลังเสือมากนัก

ทว่า เกมการเมืองไม่ใช่อย่างที่วาดฝันไว้ทั้งหมด “คนข้างกาย” ของ “ประวิตร” ไม่หวังให้ “ประยุทธ์” อยู่ยาว ยังมีการเคลื่อนเกม-เคลื่อนพล เพื่อล้ม “ประยุทธ์” อยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เพื่อผลักดันให้ “ประวิตร” เข้ามากุมอำนาจรัฐ เพื่อให้พรรคพวกตัวเองคอนโทรลเกมอยู่หลังฉาก

ตามนัดหมายของ “ขั้วฝ่ายค้าน” จะยื่นหนังสือให้ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ในวันที่ 17 ส.ค. เพื่อนำปมประเด็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ

ต้องรอลุ้นกันว่า “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” จะมีวินิจฉัยออกมาอย่างไร ขยักแรกจะสั่งให้นายกฯประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ก่อนมีความวินิจฉัย ซึ่งต้องรอลุ้นกันในทุกขั้นตอน

สัญญาณการออกมาการันตีความมั่นคงของเก้าอี้ พล.อ.ประยุทธ์ ของเครือข่าย “เนติบริกร” ผนวกกับท่าทีของ พล.อ.ประวิตร ดูเหมือนว่า “ฝ่ายซ้าย”จะต้องชอกช้ำซ้ำอีกครา