"เพื่อไทย" ซ้อนแผน ขอ ขานชื่อนับองค์ประชุม หลังแสดงตนเกินองค์ประชุม

"เพื่อไทย" ซ้อนแผน ขอ ขานชื่อนับองค์ประชุม หลังแสดงตนเกินองค์ประชุม

รัฐสภา เดินหน้าอภิปรายร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง มาตรา24/1 แล้ว พบสมาชิกแสดงตนครบองค์ประชุม แต่ "เพื่อไทย" ไม่ยอม ดิ้นสู้ให้นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ หวั่นมีคนกดบัตรแทนกัน

           ในการประชุมร่วมรัฐสภา วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตัง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... วาระสอง ต่อเนื่องในมาตรา 24/1  ซึ่งกมธ.ได้เพิ่มขึ้นใหม่ โดยมีเน้ือหาเกี่ยวกับวิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ 

 

           ทั้งนี้ในการพิจารณานั้น กมธ. เสียงข้างน้อย ได้อภิปรายโต้แย้ง ทั้ง นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา, นายชูศักดิ์ ศิรินิล กมธ., นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา กมธ., นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่กมธ.เสียงข้างมากเพิ่มเติมเนื้อหา เพราะมองว่าเป็นบทบัญญัติที่เขียนขึ้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่1 พ.ศ.2564 ซึ่งแก้ไขมาตรา 83 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง , มาตรา 91 ว่าด้วยวิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ และ มาตรา 92 ว่าด้วยการคำนวณส.ส.ในกรณี ที่เขตเลือกตั้งนั้นคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นส.ส. (โหวตโน) ชนะ ผู้สมัคร ส.ส.เขต และอาจจะขัดต่อในหลักการของการเสนอร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งที่เสนอให้รัฐสภารับหลักการ

 

 

           ทั้งนี้นายชูศักดิ์ กล่าวย้ำว่า มาตราที่กมธ.เสียงข้างมากซึ่งเสนอต่อที่ประชุมนั้นสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ และส่วนตัวมองว่ายิ่งกว่าสุ่มเสี่ยง


 

           ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงยืนยันว่าการเพิ่มมาตราดังกล่าวทำงานด้วยความรอบคอบ และเป็นร่างกฎหมายที่สมบูรณ์มากที่สุด เพราะการเขียนกฎหมายที่สอดคล้องกับการลงมติไปแล้วต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย รวมถึงความสอดคล้องของรัฐธรรมนูญ  และคำนึงถึงการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติให้กับ กกต. ที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้งมีความไม่สมบูรณ์ 

 

           นายสมชัย กล่าวย้ำว่า เนื้อหาที่ปรับเพิ่มใหม่ นั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 เพราะนำคะแนนของพรรคการเมืองที่ได้ร้บรวมกันทั้งประเทศ และเป็นสัดส่วนโดยตรงที่สัมพันธ์ เพราะใช้จำนวน 500 คนหาค่าเฉลี่ย   ส่วนที่สมาชิกบอกว่า กกต. จะปฏิบัติไม่ได้ และมีความเห็นแย้ง ควรรอให้กกต.ทำความเห็นมายังสภา หรือมองว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ควรรอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ

 

           “ที่บอกว่าบัตร 2 ใบ ไม่สามารถจัดสรรปันส่วนไม่ได้ เข้าใจผิด เพราะระบบ MMP ของเยอรมันใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และใช้วิธีจัดสรรปันส่วน แต่ออกแบบบัตรเลือกตั้งพิมพ์ในใบเดียว คือ มีเขตและบัญชีรายชื่อ ส่วนข้อกังวลของสมาชิกที่บอกว่าจะทำให้ส.ส.เขตมาก และโอกาสที่พรรคไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ  การออกแบบเลือกตั้งไม่ว่าระบบใดก็แล้วแต่มีดีและเสียและคนได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ แต่ประโยชน์ที่ได้รับกับประเทศชาติและประชาชนส่วนรวมคืออะไร”  นายสมชัย กล่าว

           นายสมชัย กล่าวด้วยว่า กรณีที่เป็นระบบบัตร 2 ใบนับแบบคู่ขนาน จะเป็นการส่งเสริมการเมืองไทย เกิดระบบพรรคการเมืองใหญ่ 2-3 พรรค จะทำให้เกิดการแข่งขันน้อยลงประชาชนเลือกภายใต้พรรคที่จำกัด  ส่วนการจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้รัฐสภามีพรรคการเมืองหลากหลาย แต่ทำให้เกิดพรรคมาก ไม่เกิดประโยชน์กับเสถียภาพของรัฐบาล 

 

           “กรณีจัดปันส่วนผสม ดูสิ่งที่พึงมี ว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคได้คะแนนเสียงภาพรวมทั้งประเทศเท่าไร จะได้ส.ส.ในสภากี่คนหากได้เขตมาก การได้สมทบจากบัญชีรายชื่อ เป็นธรรมชาติ ดังนั้นรัฐสภาต้องเลือกว่าแนวทางใดจะเป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชน” นายสมชัย กลาว

 

           ต่อจากนั้นนายพิเชษฐ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกประท้วงนายสมชัยและขอคำอธิบายที่ระบุว่า การเลือกตั้งที่พรรคไหนได้เขตเยอะ จะได้บัญชีรายชื่อน้อย เป็นธรรมชาติหรือ หาก ประชาชนที่ชอบพรรคการเมือง ลงคะแนนเลือกตั้ง 10 ล้านเสียง แต่ไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย ความยุติธรรม ความสมบูรณ์ร่างพ.ร.ป. นี้มีจริงหรือไม่

 

 

           อย่างไรก็ดีบรรยายกาศช่วงดังกล่าวเป็นไปด้วยความสับสน เมื่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ไม่อนุญาตให้ซักถามและอธิบาย รวมถึงจะขอปิดการอภิปราย จนการประท้วงพาดพิงระหว่าง นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กับ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ที่มีการปะทะคารมจนต้องขอให้ถอนคำพาดพิงและคำที่ไม่เหมาะสม

 

           จากนั้นนายสมชัย ได้ชี้แจงว่า หลังการเลือกตั้งไม่รู้ว่าพรรคใดจะเป็นพรรคขนาดใหญ่หรือพรรคขนาดเล็กเพราะประชาชนต้องตัดสินใจ ทั้งนี้ในการประชุมสภาฯ ที่ขาดประชุมเยอะ ประชาชนไม่เลือกก็ได้  ดังนั้นกติกาเลือกตั้งตนถือว่ารัฐสภาช่วยออกแบบ เมื่อออกแบบแล้วต้องยอมรับและเดินหน้าสู่กติกาดังกล่าว

 

 

           หลังจากนั้นเมื่อไม่มีผู้อภิปรายแล้ว นายพรเพชร ได้ขอตรวจสอบองค์ประชุมก่อนที่จะลงมติ โดยกดสัญญาณเรียกสมาชิก เมื่อ   13.35 น.  และใช้เวลาพอสมควร ขณะเดียวกันส.ส.เพื่อไทย เรียกร้องให้รีบประกาศผลตรวจสอบอค์ประชุม  พร้อมแสดงความกังวลวว่าจะมีการกดบัตรแทนกัน  อย่างไรก็ดีเมื่อแสดงผลพบว่ามี  ผู้แสดงตนรวม  367 คน 

 

           แต่ก่อนจะลงมติ นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย  ใช้เอกสิทธิ์สมาชิกรัฐสภาเสนอให้ตรวจสอบองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ  แม้มีสมาชิกรัฐสภาไม่เห็นด้วย เพราะจะใช้เวลานาน แต่นายพรเพชร ยืนยันว่าเมื่อมีผู้เสนอต้องปฏิบัติตาม เพราะมีคนสงสัยว่ามีการกดบัตรแทนกัน.