"วัลลภ" ยัน "ส.ว." ไม่ร่วมเล่นเกม ยื้อร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง

"วัลลภ" ยืนยันแทน ส.ว. 200 คนร่วมประชุมรัฐสภา แน่นอน แต่อยู่ครบองค์ประชุมหรือไม่ อยู่ที่ส.ส. มาร่วมประชุมเกิน 1 ใน3 หรือไม่ ยัน ส.ว. ไม่ร่วมเล่นเกมยื้อร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.

         นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว. กล่าวถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ในวันที่ 10 สิงหาคม  โดยยืนยันว่า ส.ว. เกิน 200 คนจากจำนวนที่มีอยู่ 250 คน พร้อมเข้าร่วมประชุม และอยู่ประชุมจนเลิกประชุมแน่นอน ส่วนว่าองค์ประชุมจะครบหรือไม่ อยู่ที่ตัวแปรคือ ส.ส. 500 คน ที่มาแค่ 1 ใน 3 ก็จะครบองค์ประชุมแล้ว  ส่วนที่กระแสข่าวมีโทรศัพท์แจ้ง ส.ว. ให้งดเข้าร่วมประชุมมนั้น ตนยืนยันว่าไม่มี ถือเป็นข่าวปล่อย

 

         นายวัลลภ กล่าวถึงกระแสยื้อเวลาพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ว่า  ส.ว.ไม่เกี่ยว  เพรา ส.ว.ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ต่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ เรายังอยู่ในวาระการปฏิบัติหน้าที่อยู่ ไม่ได้เกี่ยวกับใคร ดังนั้น จะไม่เล่นเกมกับใครเด็ดขาด  ส.ว.ต้องเดินไปตามภาระหน้าที่ ตนขอยืนยันแทนส.ว.ได้

 

        เมื่อถามว่าคนที่ไม่ประชุมถือว่ามีความผิดหรือไม่นั้น นายวัลลภ กล่าวว่า โดยปกติมีหลักเกณฑ์ คือการไม่มาประชุมต้องลาล่วงหน้า เมื่อขาดประชุมไปครั้งเดียว จะไปเอาผิดท่านก็กระไรอยู่ แต่ถ้าหลายครั้งก็ต้องนำเรื่องเข้าคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา ยืนยันว่าสมาชิกวุฒิสภามีความตระหนัก ตัวเลขส.ว.ไม่เคยต่ำกว่าครึ่งหนึ่งเลย 

       

        เมื่อถามถึงความมั่นใจว่ากฎหมายลูกจะผ่านภายในกรอบเวลา 180 วันหรือไม่นั้น นายวัลลภ ตอบว่า ค่อนข้างเชื่อมั่นในการผ่าน ไม่ใช่สิ่งที่ยาก ไม่ต้องห่วงตรงนั้น กังวลเพียงว่า ขอให้ ส.ส. จะมาครบหรือเปล่า ถ้าพรุ่งนี้เกิดอุบัติเหตุ ก็กลับไปสู่ร่างแรกที่เข้ามาใช้แทน 

        เมื่อถามถึงสูตรการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อว่าหาร 100 หรือ 500 นั้น นายวัลลภ กล่าวว่า วุฒิสภามีมติว่าที่ประชุมลงความเห็นอย่างไรก็เป็นเช่นนั้น แม้ส่วนตัวจะลงมติเห็นชอบสูตรหาร 100 แต่ในเมื่อ 100 แพ้ในวาระที่ 2 ก็ต้องเคารพเสียงส่วนมากในรัฐสภา

 

          ผู้สื่อข่าวยังถามถึงการวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายวัลลภ กล่าวว่า "ผมไม่กังวล  ถือว่าศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ตีความไป อยู่นอกเหนืออำนาจของวุฒิสภา"