“เบญจา” เผย ส.ส.ฝ่ายรัฐหลายคนอึดอัด เล่นเกมยื้อร่าง กม.ทำสภาไร้ศักดิ์ศรี

“เบญจา” เผย ส.ส.ฝ่ายรัฐหลายคนอึดอัด เล่นเกมยื้อร่าง กม.ทำสภาไร้ศักดิ์ศรี

“เบญจา” ชี้หากรัฐบาลสลายม็อบอีก กระทบภาพลักษณ์แน่ เหตุเข้าสู่โหมดใกล้เลือกตั้งแล้ว เตือน “ภูมิใจไทย-ปชป.” อย่าวางเฉย ควรถอนตัวได้แล้ว เผยมี ส.ส.หลายคนอึดอัด เล่นเกมยื้อร่างกฎหมาย ทำสภาฯไร้ศักดิ์ศรี

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2565 น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ประเมิณสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มและแนวร่วมต่าง ๆ ในช่วงเข้าสู่โหมดใกล้เลือกตั้ง ว่า เห็นปฏิกิริยาความพยายามโต้ตอบของรัฐ การลิดรอนเสรีภาพการแสดงออกของชาวบ้านที่อัดอั้นค่าครองชีพ ราคาพลังงาน ข้าวยากหมากแพง การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่กี่วันมานี้ ต้องการควบคุม จำกัดสิทธิเสรีภาพการชุมนุม  รัฐบาลกังวล กลัว จากสถานะที่ไม่มั่นคง ง่อนแง่ รวมกับเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม การถ่วงรั้ง ดึงกฎหมายลูกในรัฐสภา รัฐบาลพยายามทำเพื่ออำนาจทางการเมืองตัวเอง  มากกว่าทำเพื่อประชาชน แม้แต่เรื่องกลับไปกลับมาในการแก้รัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการจับกุมคุมขังเยาวชน ในช่วงโหมดเลือกตั้ง จะกระทบคะแนนเสียงหรือไม่ โดยเฉพาะพรรคเล็กที่อาจเป็นนั่งร้านตั้งขึ้นมาใหม่ น.ส.เบญจา กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ ท่วงทำนอง ท่าที ภาษาข่าวบอกว่า แตกแบงก์พัน แตกพรรคใหม่ มีข้อสังเกตเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี สืบทอดอำนาจ  ความพยายามกดทับ กดปราบ ไม่ใช่แค่ 3-4 ปีนี้ แต่คือตลอด 8 ปี ของการอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากกระทำความรุนแรงในที่ชุมนุม จะส่งผลต่อภาพลักษณ์และความมั่นคงของรัฐบาลแน่ 

เมื่อถามว่า ภาพการใช้ความรุนแรง เช่น ใช้กระสุนยาง แกสน้ำตา ช่วงใกล้เลือกตั้ง กระทบไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลด้วยไหม หรือกระทบแค่คะแนนเสียงพปชร. น.ส.เบญจา กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้เลย ควรฟัง เสียงเรียกร้องของยุคสมัยของเยาวชนคนหนุ่มสาว โดยพรรคร่วมต้องเลิกเป็นขาตั้งนั่งร้าน ถ้าเป็นไปได้ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ มันมีผลอย่างมากต่อการสร้างความชอบธรรมให้กับพรรคของตัวเองในลักษณะของทำหน้าที่เป็นตัวแทนเสียงเรียกร้องประชาชน จริง ๆ 

เมื่อถามอีกว่า ถ้ามีใช้ความรุนแรงซ้ำอีก พรรคร่วมรัฐบาลทั้งพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ควรถอนตัวหรือไม่นั้น น.ส.เบญจา กล่าวว่า เราเห็นความรุนแรงกับผู้ชุมนุม แต่พรรคร่วมกลับไม่รู้สึก กลับวางเฉย ช่วงที่เหลืออีกไม่มาก วางเฉยแบบนั้นไม่ได้แล้ว ต้องมีกระบวนการทบทวน ในการเมืองสมัยหน้า มันมีความไม่แน่นอน ในการรวมกลุ่มกันจัดตั้งรัฐบาล พรรคร่วมน่าจะเห็นแล้ว ในช่วงเวลาที่ผ่านมาพรรคที่เป็นฝ่ายนำในการจัดตั้งรัฐบาลตกต่ำขนาดไหน  ต้องฝากเรื่องนี้ไปถึงพรรคร่วมที่เป็นนั่งร้าน สุดท้ายแล้วเอาผลประโยชน์ใครเป็นที่ตั้ง ถ้าทำเพื่อ ผลประโยชน์ประชาชนจริง ๆ ควรฟังเสียงชาวบ้าน ถอนตัวจากรัฐบาลได้แล้ว 

“ที่จริงในสภาฯ ได้พูดคุยกับผู้แทนพรรคร่วมหลายคน อึดอัดใจมาก เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา โดยอ้างอิงตามผู้มีอำนาจ สภาฯดูไม่มีศักดิ์ศรี หลายคนรู้สึกว่า สภาฯมันดูไม่ได้เป็นสภาฯอันทรงเกียรติอีกต่อไป สภานี้ไปทำตามนโยบายของผู้มีอำนาจเท่านั้น ไม่ได้มองถึงคนที่เลือกเขามา หลายคนอดอัดใจ แต่ติดที่ต้องทำตามมติพรรค จริง ๆ ถ้าหลายคนส่งเสียงไปถึงพรรคตัวเอง ได้น่าจะเป็นเรื่องดีในการสร้างความชอบธรรมให้พรรคตัวเองด้วย เป็นเครื่องมือหนึ่งในการถอนตัวออกจากรัฐบาล จากที่คุยกันส่วนบุคคล ได้เห็นความตั้งใจในเรื่องของการอยากจะถอนตัวไหม ก็มีจริง ๆ แต่พอเป็นมติพรรคอาจยาก รู้อยู่ว่ายาก แต่คงต้องเรียกร้องให้ตัดสินใจ โดยเฉพาะการกลับไปกลับมาของผู้มีอำนาจเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ” น.ส.เบญจา กล่าว