"ปชป." แทงกั๊ก ปม "ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส." บอกหนุนทุกทางตามรัฐธรรมนูญ

"ชินวรณ์" รับประชุมรัฐสภา 10 สิงหาคม อาจมีปัญหาประชุมล่มอีก เหตุ "เพื่อไทย" ต้องการยื้อร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พร้อมแสดงจุดยืน "ปชป." หนุนทุกทางตามที่ รธน.กำหนด
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการนัดประชุมร่วมรัฐสภา ตามมติของวิป 3 ฝ่าย ว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคม เริ่มประชุมเวลา 09.00 น. เพื่อพิจารณาระเบียบวาระที่กรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จ คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ที่เหลืออีกเพียง 4 มาตราเท่านั้น ต่อด้วยการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ในวาระที่ 2 - 3 ต่อในมาตราที่กรรมาธิการฯ ได้แก้ไขปรับปรุงและเสนอกลับมาให้รัฐสภาพิจารณา
นายชินวรณ์ กล่าวโดยคาดว่าการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลืออกตั้งส.ส. จะเป็นไปตามกระบวนการที่มี 3 ทาง คือ 1.หากที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบในวาระ 2 และ 3 ส่งให้คณะกรรมการ การเลือกตั้ง (กกต.) ได้ให้ความเห็นว่าขัดหรือแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือมีข้อเสนอแนะในการที่จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่
2.หากว่าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบในวาระสาม ถือว่าร่างกฎหมายลูกตกไป หากจะพิจารณาใหม่ต้องเริ่มต้นตามกระบวนการใหม่
และ3.หากที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ต้องนำร่างที่เสนอในวาระที่ 1 คือ สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อที่ใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ย ให้สภาให้ความเห็นชอบ
นายชินวรณ์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยยอมรับว่าจะใช้กลไกของรัฐธรรมนูญยื้อการพิจารณาร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ให้เกินกรอบเวลา 180 วัน ว่า กรณีที่ ที่จะไม่ให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณากฎหมาย อาจจะมีปัญหาในเชิงปฏิบัติได้ จึงมีทางเดียวคือ ถ้าทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวพิจารณาไม่ทัน 180 วัน จะถือว่าต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญทุกประการ เนื่องจากเป็นพรรคที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐสภามีความเป็นอย่างไร ก็ต้องดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญ
"ถ้าเขามีทิศทางให้เสร็จไม่ทัน 180 วัน รัฐสภาก็อาจจะล่มอีกได้ถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นกลไกที่สามารถทำได้ จึงอยากทำความเข้าใจว่าเวลาพิจารณากฎหมาย อยากให้เป็นไปตามข้อบังคับ และรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ผมไม่อยากให้ประชาชนวิจารณ์ว่ารัฐสภามุ่งแต่เรื่องหาร 100 หรือ 500 ทั้งที่ประชาชนมีปัญหาเรื่องปากท้อง ผมยืนยันในฐานะส.ส.เขตคนหนึ่ง ให้ความสำคัญกับปากท้องของประชาชนเป็นหลัก แต่เรื่องรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่อง 1 ใน 100 ที่รัฐสภาต้องแก้ไขให้เกิดดุลยภาพ” นายชิณวรณ์ กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์