กมธ.ขอบคุณสภา ผ่าน "กม.ปรับเป็นพินัย"หวังลบล้างวาทกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน”

กมธ.ขอบคุณสภา ผ่าน "กม.ปรับเป็นพินัย"หวังลบล้างวาทกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน”

กมธ.พิจารณาร่างกม.ปรับเป็นพินัย ขอบคุณทุกฝ่ายลงมติเห็นชอบ “วีระศักดิ์” หวังลบล้างวาทกรรม “คุกมีไว้ขังคนจน”

ที่รัฐสภา นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พร้อมด้วยนพ.อำพล จินดาวัฒนา ส.ว. และน.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ส.ส.ลพบุรี พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษกคณะกมธ.ฯ แถลงภายหลังจากวานนี้ (2 ส.ค.) ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติผ่านวาระ 3 ในร่างกฎหมายดังกล่าว

โดย นพ.อำพล กล่าวว่า ในนามคณะกมธ.วิสามัญฯ ขอบคุณประธานรัฐสภาที่ดูแลการประชุมจนเกิดความราบรื่นเรียบร้อย และขอบคุณส.ส. ส.ว.ที่ช่วยกันสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ ถือว่าเป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันจนประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าดีใจ เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้เป็นการปฏิรูปโครงสร้างระบบความยุติธรรม มีการระบุในรัฐธรรมนูญ 2560 ชัดเจนว่า รัฐควรกำหนดโทษอาญาที่เป็นความผิดร้ายแรงเท่านั้น และต้องมีความพยายามออกกฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมาย ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด หรือลดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากที่สุด ทั้งนี้ มีความพยายามผลักดันการแก้ปัญหาโทษอาญาที่มากเกินความจำในสังคมบ้านเรามานาน กระทั่งมีการออกร่างกฎหมายฉบับนี้ 

นพ.อำพล กล่าวต่อว่า ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย มีลักษณะเป็นกฎหมายกลางที่จะไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายอีก 200 กว่าฉบับ ที่เกี่ยวกับโทษอาญา และโทษทางปกครอง ซึ่งโทษอาญาถ้าหนักก็จำคุก

ส่วนโทษอาญาที่เป็นโทษปรับนั้น ที่ผ่านมามีความเหลื่อมล้ำ และเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะคนจนที่โดนโทษปรับ แต่ไม่มีเงินเสียค่าปรับ แต่เขาจะมีโทษอาญาบันทึกเป็นตราบาปติดตัวไปตลอดชีวิต ดั

งนั้น กฎหมายฉบับนี้จะแก้ปัญหาโทษอาญาที่เป็นโทษปรับ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเข้ากระบวนการโทษอาญา เจ้าหนาที่จะสามารถพิจารณาการปรับได้ หากไม่มีเงินก็พิจารณาเป็นกรณีๆไป โดยสามารถคุมประพฤติหรือให้บริการสาธาณะอื่นๆได้ หรือแม้แต่การยกเว้นค่าปรับก็ได้ ทำให้ร่างกฎหมายนี้ได้รับความสนับสนุนจากทุกพรรค ทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์ของประชาชน

 ด้าน นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่กฏหมายนี้ผ่านในขั้นตอนรัฐสภา ซึ่งประเทศไทยนำโทษทางอาญามาใช้บ่อยเกินไปทั้งที่ไม่จำเป็น คนที่ต้องโดนโทษอาญาแม้ถูกปรับเล็กน้อยก็ถูกบันทึกในประวัติอาชญากรรมทำให้เกิดผลเสีย สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้จึงเป็นการปฏิรูปกฎหมายครั้งสำคัญ ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานให้ใครก็ตามที่มีอำนาจออกแบบกฎหมายในอนาคต ควรต้องนึกถึงกฎหมายกลาง เพื่อลดความยุ่งยาก ลดภาระให้ประชาชน ตนหวังได้เห็นกฎหมายกลางลักษณะนี้อีก 

 “กฎหมายฉบับนี้จะช่วยล้างมลทินเกี่ยวกับผู้มีประวัติอาชญากรรมออกไป ตามความผิดเบาในเงื่อนไขของร่างกฎหมายฉบับนี้มิให้นำเอามาใช้อ้างอิงได้อีก และเมื่อปรับก็มิให้มีการบันทึกประวัติอาชญากรรมอีก ซึ่ง 30 ปีที่ผ่านมา เราใช้นิตินิยมมากเกินไป แต่หลังจากนี้จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เป็นการลบล้างคำว่ากฎหมายมีไว้ขังคนจน โดยสร้างกฎหมายกลางเพื่อประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน” นายวีระศักดิ์ กล่าว