"นายกฯ" สั่ง รับมือ "น้ำท่วมฉับพลัน" วางแผนบริหารจัดการให้ดี

"นายกฯ" สั่ง รับมือ "น้ำท่วมฉับพลัน" วางแผนบริหารจัดการให้ดี

"โฆษกรัฐบาล" เผย "นายกฯ" ติดตาม สถานการณ์ น้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากฝนหนัก 2-10 ส.ค.นี้ ให้ปชช.เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง สั่ง วางแผนบริหารจัดการน้ำให้ดี รับมือน้ำหลาก ตรวจสอบอ่าง สถานีสูบน้ำ แนวคันแม่น้ำ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงนี้อย่างใกล้ชิดตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 2 - 10 สิงหาคม 2565 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น 

รวมทั้งมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมา และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งอาจจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง และสถานการณ์น้ำในลำน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก ส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ประกอบกับคาดการณ์จะมีฝนตกเพิ่มบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม - 8 สิงหาคม 2565 ขอให้จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหารอำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เร่งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงและแจ้งเตือนให้ประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง รวมทั้งผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงด้วย

นายธนกร กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์  นายกรัฐมนตรีได้  กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเช่นกทม. พร้อมกับตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ 

รวมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ และระดับน้ำในลำน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  รวมถึงบูรณาการความพร้อมทั้งบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรอง สำหรับการให้ความช่วยเหลืออย่างทันที โดยเน้นการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เพื่อพร้อมในการอพยพหากเกิดสถานการณ์ได้ทันที ช่วยลดความเสียหาย