พปชร.ต้าน“สามารถ”ขอลง ส.ส. อ้างม.รามยุติสอบส่งลูกน้องเรียนแทน

พปชร.ต้าน“สามารถ”ขอลง ส.ส. อ้างม.รามยุติสอบส่งลูกน้องเรียนแทน

พปชร.ต้าน“สามารถ”ขอลง ส.ส. อ้างม.รามยุติสอบส่งลูกน้องเรียนแทน ข้องใจกระบวนสอบม.ราม เล็งทำหนังสือสอบถามข้อเท็จจริง

รายงานข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แจ้งว่า แกนนำพรรคกำลังพิจารณาว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ที่จะลงสมัครเลือกตั้งในครั้งหน้าว่าใครมีคุณสมบัติเหมาะสมบ้าง โดยมีว่าที่ผู้สมัครส.ส.กำลังประสานกับแกนนำพรรคเพื่อขอสิทธิลงสมัคร แต่ติดขัดในกรณีที่พรรคเคยมีบทลงโทษไปแล้ว โดยเฉพาะกรณีของนายสามารถ เจนชัยจิตวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม เเละอดีตผอ.ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ

โดยนายสามารถโดนปลดพ้นทุกตำแหน่งในพรรคพปชร. ภายหลังมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตรวจสอบกรณีนายสามาถส่งลูกน้องของตัวเองไปเข้าเรียนและสอบหลักสูตรภาษาอังกฤษ เป็นผลให้มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตัดสิทธิ์ในการเรียนวิชาดังกล่าวของนายสามารถเเล้ว
 

ต่อจากนั้นพรรคพลังประชารัฐได้สอบสวนเรื่องนี้ โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบนายสามารถ มีมติเอกฉันท์ให้นายสามารถออกจากหน้าที่ทั้งหมด ( ผู้ช่วยรัฐมนตรี, ผอ.ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์พรรคพลังประชารัฐ, คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล, คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดการฉ้อโกงประชาชนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ และห้ามไม่ให้นายสามารถใช้ตราเครื่องหมายของพรรค เว้นแต่ว่าจะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร ) เพราะพรรคตรวจสอบแล้วพบว่ามีมูล

ทั้งนี้เมื่อต้นเดือน ก.ค. นายสามารถโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุตอนหนึ่งว่า "วันนี้ผมได้รับความยุติธรรมแล้ว จากกรณีที่ได้แสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เนื่องมาจากถูกร้องเรียนส่งลูกน้องไปเรียน-สอบหลักสูตรภาษาอังกฤษระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยกองกิจการนักศึกษา งานวินัยนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง แจ้งผลการพิจารณาสอบวินัยนักศึกษา เสนอให้ยุติเรื่อง”
 

รายงานข่าว แจ้งว่า  โดยนายสามารถอ้างการยุติสอบกรณีดังกล่าวของมหาวิทยาลัยรามคำแหง มาขอให้พรรคพปชร.ส่งลงสมัคร ส.ส. แต่โดนแกนนำพรรคโต้แย้งว่าจะตอบคำถามสังคมลำบาก เพราะกระแสพรรคก็ไม่ค่อยดี โดยพรรคสอบสวนและลงโทษทางการเมืองกับนายสามารถไปแล้ว แม้ล่าสุดนายสามารถอ้างความบริสุทธิ์ในเรื่องนี้จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงก็ตาม

โดยกรณีนี้ฝ่ายกฎหมายของพรรคระบุมาเบื้องต้นว่า นายสามารถอาจขัดประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2564  ข้อ 3ระบุว่า ในประมวลจริยธรรมนี้ “ข้าราชการการเมือง” หมายความว่า ข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบ ข้าราชการการเมือง และให้หมายความรวมถึงกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีด้วย

และในข้อ 5ระบุว่า ข้าราชการการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และ รับผิดชอบต่อหน้าที่ โดยอย่างน้อยต้องดำรงตน ดังต่อไปนี้ (4) ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ 

"บทลงโทษที่พรรคสอบสวนนายสามารถไปนั้น พรรคได้พิจารณารอบด้านแล้วจึงมีมติแบบนั้น หากวันนี้แกนนำพรรคจะพลิกมติในครั้งก่อน พรรคจะตอบคำถามสังคมยาก และเรื่องนี้อาจเสียหายมายังชื่อเสียงของพรรคและอาจกระทบผู้สมัครส.ส.คนอื่นๆของพรรคด้วย" รายงานข่าวระบุ

รายงานข่าว แจ้งอีกว่า แกนนำพรรคพปชร. ติดใจผลสอบสวนของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าเหตุใดจึงเสนอยุติเรื่องดังกล่าว จึงเตรียมทำหนังสือสอบถามอย่างเป็นทางการอีกครั้ง